สหกรณ์ฯ เดินหน้านำลูกหลานเกษตรกรกลับบ้าน

420

กรมส่งเสริมสหกรณ์เดินหน้าโครงการนำลูกหลานเกษตรกรกลับบ้านฯ ตั้งเป้ารายได้ไม่น้อยกว่า 1.2 หมื่นบาทต่อเดือน

กรมส่งเสริมสหกรณ์อัดความรู้ด้านตลาด ต่อยอดโครงการลูกหลานเกษตรกรกลับบ้าน ปี  65 วางเป้าสร้างรายได้เพิ่มให้เกษตรกร 12,000 บาท/คนต/เดือน เพิ่มจากปี 64 ร้อยละ 3

นายอัชฌา สุวรรณนิตย์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผยว่า กรมฯ ได้เดินหน้าโครงการนำลูกหลานเกษตรกรกลับบ้าน ปี 2565  ซึ่งเป็นปีที่ 3 ของโครงการ (2563-2565) ในปี 2565 จะเน้นการพัฒนาทักษะในการประกอบอาชีพเพื่อสร้างรายได้ ซึ่งกรมตั้งเป้าว่าเกษตรกรจะมีรายได้เพิ่มขึ้น ร้อยละ 3 จากปี 64 คาดว่าจะมีเกษตรกรเข้าโครงการประมาณ 884 คน โดยคัดเลือกเกษตรกรในโครงการจากทุกจังหวัด พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่และภาคีเครือข่ายร่วมแล้ว 1,122 คน งบประมาณดำเนินการ  2.5 ล้านบาท สำหรับกลุ่มเป้าหมายเดิมกว่า 500 ราย กรมฯ จะมุ่งสนับสนุนองค์ความรู้ รวมไปถึงปัจจัยต่าง ๆ ซึ่งจะพัฒนาต่อยอดแต่ละ Cluster โดยใช้หัวขบวนของแต่ละ Cluster เป็นหลักในการขับเคลื่อนด้านการตลาด เพื่อให้สามารถขยายเครือข่ายพันธมิตรทางการค้า ขยายตลาดในวงกว้างต่อไป ทั้งนี้ กำหนดให้มีการติดตามผลการดำเนินการและรายงานทุก 2 เดือนเพื่อให้โครงการมีผลสัมฤทธิ์ตามเป้าหมายของโครงการ

สำหรับการจัดอบรมนั้นมาจากผลสำรวจของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ที่พบว่า เกษตรกรที่เข้าโครงการร้อยละ 77 ต้องการให้มีการจัดอบรมเพื่อพัฒนาทักษะด้านการวางแผนการผลิตและการเพิ่มช่องทางการตลาด ในปีสุดท้ายของโครงการนี้ การต่อยอดครั้งนี้จะเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืน เนื่องจากเมื่อเริ่มต้นโครงการในปีแรก เป็นปีการสร้างโอกาสในการกลับบ้านสร้างฐานด้านการเกษตร และกรมฯ เป็นพี่เลี้ยงในการพัฒนา การให้ความรู้และวางแผนการผลิต มาต่อเนื่องร่วมกับภาคีเครือข่าย ในปี 2565 คือ การติดอาวุธทางปัญญาด้านการตลาด การจัดหาสินค้า การรวบรวมผลผลิต การออม การบริหารจัดการผลผลิตการเกษตร เชื่อมั่นว่าเกษตรกรที่เข้าโครงการนี้จากนี้ไปจะสามารถยืนได้และมีความมั่นคงในชีวิตเพิ่มมากขึ้น โดยมีสหกรณ์เป็นศูนย์กลางในการสร้างอาชีพทางการเกษตรที่มั่นคง ในการสร้างงาน สร้างอาชีพเพิ่มรายได้ให้ชุมชนและที่สำคัญคือการทำให้สหกรณ์เป็นที่พึ่งของสมาชิกอย่างแท้จริง ทั้งนี้ สศก. และกรมส่งเสริมสหกรณ์ ได้มีการประเมินโครงการลูกหลานเกษตรกรกลับบ้านที่ดำเนินการโดยกรมส่งเสริมสหกรณ์ (ปี 2563 – 2564) จากการสำรวจเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 500 คน พบว่า

  1. เกษตรกรสามารถลดค่าใช้จ่ายจากการลดการใช้สารเคมีหลังเข้าร่วมโครงการรวม 2,406,408 บาทต่อปี 
  2. เกษตรกรร้อยละ 77.02 มีความพึงพอใจต่อโครงการในด้านการประสานงานหลักสูตรอบรม รูปแบบการดำเนินการและวิทยากร
  3. เกษตรกรร้อยละ 88.90  มีคุณภาพชีวิตในด้านต่าง ๆ ที่ดีขึ้น ภายหลังร่วมโครงการโดยมีความเห็นว่า คุณภาพชีวิตดีขึ้นเนื่องจากสุขภาพดี ลดความเครียด ลดความเสี่ยงเรื่องสารเคมีและมลพิษทางอากาศ เกิดความภูมิใจในอาชีพเกษตรกรรม และสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัว ชุมชน มีการออมและได้เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ 
  4. เกษตรกรร้อยละ 99.40 มีการดำเนินการได้ตามแผนการผลิต  มีรายได้จากการจำหน่ายผลผลิตทางการเกษตร เฉลี่ยรายละ 8,954 บาทต่อเดือน

กรมส่งเสริมสหกรณ์ ข่าว