กรมประมงกำหนดทิศทางฟื้นฟูผลผลิตกุ้งทะเลไทย

604

กรมประมง ระดมทีมผู้บริหารร่วมกำหนดทิศทางฟื้นฟูผลผลิตกุ้งทะเลไทย

วันเสาร์ที่ 5 มีนาคม 2565 กรมประมง จัดเวทีหารือแนวทางฟื้นฟูผลผลิตกุ้งทะเลของประเทศไทย ระดมทีมผู้บริหารร่วมกำหนดแผนเพิ่มปริมาณผลผลิตให้ได้ 4 แสนตัน ภายในปี 2566  หวังทวงแชมป์ส่งออกของโลกอีกครั้ง ณ ห้องประชุมอานนท์ กรมประมง

นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า “กุ้งทะเล” นับเป็นสินค้าสัตว์น้ำที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยอย่างมาก โดยในอดีตอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงกุ้งทะเลสามารถนำรายได้เข้าสู่ประเทศปีละกว่าแสนล้านบาท โดยเฉพาะในปี 2553 มีปริมาณและมูลค่าการส่งออกมากที่สุด คือ 437,270 ตัน มูลค่าสูงถึง 101,116 ล้านบาท แต่ในปี 2564 มีปริมาณการส่งออกลดลงเหลือเพียง 201,592 ตัน คิดเป็นมูลค่า 55,893 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2553 ปริมาณลดลงถึงร้อยละ 53.90 และมูลค่าลดลงร้อยละ 44.72 เลยทีเดียว อันเป็นผลมาจากเหตุการณ์ในช่วงปลายปี 2554 ที่ประเทศไทยประสบปัญหาการระบาดของโรคตายด่วน (AHPND/EMS) ซึ่งได้สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างใหญ่หลวงต่อวงการอุตสาหกรรมกุ้งของไทย และผลผลิตภายในประเทศยังไม่สามารถเพิ่มขึ้นมาใกล้เคียงกับปี 2553

นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์
อธิบดีกรมประมง

อธิบดีกรมประมง กล่าวต่อไปว่า จากสภาวการณ์ดังกล่าว ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงได้มอบหมายให้กรมประมงเร่งฟื้นฟูอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงกุ้งทะเลให้มีผลผลิต 400,000 ตัน ภายในปี 2566 เพื่อให้ประเทศไทยกลับมาเป็นผู้นำการผลิตในตลาดโลกได้อีกครั้ง ซึ่งกรมประมงได้รับสนองนโยบายฯ จึงได้จัดการประชุมเพื่อหาแนวทางการฟื้นฟูผลผลิตกุ้งทะเลของประเทศไทยให้ได้ตามเป้าหมาย โดยได้เชิญผู้บริหารระดับสูงของกรมประมงรวมถึงหัวหน้าส่วนราชการในสังกัด ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคที่มีพื้นที่การเพาะเลี้ยงกุ้งทะเลรวม 35 จังหวัด ร่วมระดมสมองกำหนดทิศทางและวางแผนในการบริหารจัดการตลอดห่วงโซ่การผลิตเพื่อฟื้นฟูผลผลิตกุ้งทะเลของประเทศไทยให้ได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ร่วมกัน ภายใต้กลไกพื้นฐานของการมุ่งให้ความสำคัญและเข้มงวดกับการแก้ไขปัญหาเรื่องโรคที่เกษตรกรเผชิญอยู่ โดยเน้นกระบวนการผลิตสินค้ากุ้งทะเลที่มีคุณภาพ ปลอดภัย ใส่ใจสิ่งแวดล้อม เพื่อรักษามาตรฐานการผลิตตามระบบสากล พร้อมนำอุตสาหกรรมกุ้งทะเลของไทยกลับมาทวงความเป็นผู้นำในการส่งออกอีกครั้ง

ทั้งนี้ ปัจจุบันเกษตรกรมีการแจ้งประกอบกิจการเพาะเลี้ยงกุ้งทะเล จำนวน 40,983 ราย มีพื้นที่การเพาะเลี้ยง 224,418 ไร่ เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงบางส่วนประสบปัญหาด้านต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้น ทั้งค่าอาหาร ค่าพลังงาน ค่าสารเคมี เป็นต้น และยังมีต้นทุนแฝงจากการเกิดโรคกุ้งทะเล ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้เกษตรกรมีรายได้ลดน้อยลง โดยในภาพรวมได้ส่งผลกระทบให้ประเทศไทยสูญเสียโอกาสทางการแข่งขันในตลาดโลกอีกด้วย โดยกรมประมงเชื่อมั่นว่าแผนปฏิบัติการที่ได้จากการประชุมในครั้งนี้ จะนำไปขับเคลื่อนสู่การปฏิบัติเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตกุ้งทะเลของประเทศไทยให้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็ว

กรมประมง ข่าว