กรมการข้าว ย่างก้าวเข้าสู่ปีที่ 16 มุ่งพัฒนาการผลิตข้าว ตั้งเป้ายกระดับคุณภาพชีวิตชาวนาอย่างยั่งยืน

ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังพิธีประกาศเกียรติคุณ ข้าราชการพลเรือนดีเด่น คนดีศรีข้าว ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวดีเด่น และศูนย์วิจัยข้าวดีเด่น ประจำปี พ.ศ. 2564 เนื่องในโอกาสครบรอบ 16 ปี วันคล้ายวันสถาปนากรมการข้าว โดยมี นายสมเกียรติ กอไพศาล ประธานคณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายณัฎฐกิตติ์ ของทิพย์ อธิบดีกรมการข้าว นางสาวนนทิชา วรรณสว่าง รองอธิบดีกรมการข้าว และผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เข้าร่วม ณ กรมการข้าว ว่า ข้าวและชาวนานับว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งต่อประเทศไทย ซึ่งข้าวถือเป็นพืชเศรษฐกิจที่หล่อเลี้ยงคนไทยมาอย่างช้านาน สามารถสร้างรายได้และขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยให้เป็นที่ยอมรับ สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ กรมการข้าวจึงมุ่งที่จะศึกษา วิเคราะห์ วิจัยหาแนวทางการดำเนินงาน เพื่อขับเคลื่อนการบริหารจัดการข้าวของประเทศแบบครบวงจร ทั้งในด้านการผลิต การแปรรูป การจำหน่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยใช้หลักการ “ตลาดนำการผลิต” ซึ่งได้ดูแลชีวิตชาวนาถึง 4.7 ล้านครัวเรือน หรือประมาณ 18 ล้านคน ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนมากถึง 1 ใน 3 ของประเทศ

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมารัฐบาลได้ตระหนักและเข้าใจปัญหาที่ชาวนาเผชิญอยู่ ทั้งในเรื่องราคาข้าวตกต่ำ การส่งออกลดลง ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น สถานการณ์ภัยธรรมชาติ ปัญหาการระบาดของโรคโควิด-19 รัฐบาลจึงได้กำหนดนโยบายประกันรายได้เกษตรกร โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปีการผลิต 2562 จนถึงปัจจุบัน รวมทั้งได้ดำเนินนโยบายคู่ขนานต่าง ๆ ที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวนาให้ดีขึ้น
สำหรับด้านการพัฒนาการผลิตข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีนโยบายปรับปรุงพันธุ์ข้าวและผลิตพันธุ์ข้าวสายพันธุ์ใหม่ให้ตรงกับความต้องการของตลาด สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก รวมถึงการผลิตข้าวอินทรีย์ การตรวจรับรองการผลิตข้าวคุณภาพ การส่งเสริมการทำนาแบบแปลงใหญ่ด้วยเกษตรสมัยใหม่ โดยการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่มีความหลากหลายมาประยุกต์ใช้ สร้างโอกาสในการเพิ่มคุณภาพการผลิต อีกทั้งยังมีการเชื่อมโยงการตลาดทำให้เกิดความร่วมมือในการผลิต สามารถผลักดันให้ชาวนารวมกลุ่มการผลิต เพื่อจะได้มีอำนาจในการต่อรองร่วมกัน เพื่อให้พี่น้องชาวนามีรายได้เพิ่มขึ้น และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน และสามารถสร้างความมั่นคงทางอาหารของประเทศไทยอย่างแท้จริง

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยสำคัญที่จะเป็นกำลังในการพัฒนาการบริหารจัดการข้าวทั้งระบบคือบุคลากร ที่จะต้องเสียสละทุ่มเทอุทิศตน ทั้งกำลังกายและกำลังใจ ปฏิบัติงานหน้าที่ที่รับผิดชอบด้วยความขยันขันแข็งและซื่อสัตย์สุจริต ผู้บริหารจึงต้องให้ความสำคัญและให้โอกาสในการพัฒนาองค์ความรู้ ความเชี่ยวชาญ ความชำนาญในสายงาน เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศต่อไป
ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มอบเสื้อสามารถกรมการข้าว ให้แก่ข้าราชการพลเรือนดีเด่นประจำปี พ.ศ.2564 จำนวน 2 ราย มอบเสื้อสามารถกรมการข้าวและโล่รางวัลให้แก่ผู้ได้รับรางวัลคนดีศรีข้าวประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๔ ได้แก่ ประเภทข้าราชการ จำนวน 3 ราย ประเภทลูกจ้างประจำ จำนวน 3 ราย ประเภทพนักงานราชการ จำนวน 3 ราย และประเภทจ้างเหมาบริการเพื่อเสริมการปฏิบัติงาน จำนวน 3 ราย มอบประกาศนียบัตรให้แก่ผู้ที่ได้รับรางวัลชมเชยคนดีศรีข้าวประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๔ จำนวน 7 ราย ได้แก่ ประเภทข้าราชการ จำนวน 4 ราย ประเภทพนักงานราชการ จำนวน 2 ราย และประเภทจ้างเหมาบริการเพื่อเสริมการปฏิบัติงาน จำนวน 1 ราย มอบโล่รางวัลให้แก่ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวดีเด่น จำนวน 3 ศูนย์ และศูนย์วิจัยข้าวดีเด่น จำนวน 3 ศูนย์ และเยี่ยมชมนิทรรศการวันสถาปนากรมการข้าว เนื่องในโอกาสครบรอบ 16 ปี
กรมการข้าว ข่าว