ประมงฯ เปิดเว็บไซต์สืบค้นปลาตะพัดถูกกฎหมาย

762

กรมประมงจับมือภาคี เปิดเว็บไซต์สืบค้นข้อมูลหมายเลขไมโครชิปปลาตะพัดถูกกฎหมาย

กรมประมง เปิดเว็บไซต์สำหรับสืบค้นหมายเลขไมโครชิปปลาตะพัดที่ได้จากการนำเข้า และเพาะพันธุ์ได้ในประเทศไทยอย่างถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อเป็นประโยชน์ให้กับผู้ประกอบการ และประชาชนทั่วไปในการสืบค้นข้อมูลปลาตะพัดที่ได้มาอย่างถูกต้องตามกฎหมาย

นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า ผู้แทนสหกรณ์ปลาสวยงามแห่งสยาม จำกัด ได้เสนอให้กรมประมงจัดทำฐานข้อมูลการนำเข้าปลาตะพัดในรูปแบบข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ออนไลน์ เพื่อการตรวจสอบว่าเป็นปลาตะพัดที่ได้มาถูกต้องตามกฎหมาย ป้องกันการลักลอบนำเข้าสัตว์น้ำอย่างผิดกฎหมายอีกทางหนึ่งด้วย เนื่องจากปลาตะพัด (Scleropages formosus) หรือที่นิยมเรียกว่า ปลาอโรวาน่า เป็นปลาน้ำจืดชนิดหนึ่ง ในวงศ์ปลาตะพัด (Osteoglossidae) ซึ่งถือได้ว่าเป็นปลาที่สืบเผ่าพันธุ์มาตั้งแต่ปลาในยุคก่อนประวัติศาสตร์เป็นปลาน้ำจืดในยุคโบราณมีชีวิตชนิดหนึ่งที่ได้รับความนิยมอย่างสูงของนักเลี้ยงปลาสวยงาม และเป็นปลาสวยงาม – ราคาแพง มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ ดังนั้น ในปัจจุบันเป็นปลาที่ใกล้สูญพันธุ์ในธรรมชาติ เนื่องจากเป็นปลาที่สืบพันธุ์ยาก ประกอบกับแหล่งที่อยู่ถูกทำลายไป นอกจากนี้ ปลาตะพัดยังเป็นสัตว์น้ำที่อยู่ในบัญชี 1 (Appendix I) ของอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (CITES) โดยระเบียบในการค้าต้องเข้มงวดเป็นพิเศษ และอนุญาตเฉพาะบางกรณี

นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์
อธิบดีกรมประมง

อีกทั้ง ปลาตะพัดถูกกำหนดให้เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองชนิดที่เพาะพันธุ์ได้ ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 โดยห้ามมิให้ผู้ใดกระทำการโดยมิได้รับอนุญาต ดังนี้

  1. ห้ามล่า (ผู้ใดฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ)
  2. ห้ามเพาะพันธุ์ (ผู้ใดฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ)
  3. ห้ามค้า (ผู้ใดฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ)
  4. ห้ามครอบครอง (ผู้ใดฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ)
  5. ห้ามนำเข้า ส่งออก หรือ นำผ่าน โดยปลาตะพัดที่จะส่งออกไปต่างประเทศจะต้องได้มาจากฟาร์มที่ขึ้นทะเบียนกับสำนักเลขาธิการ CITES และต้องมีเครื่องหมายประจำตัวสัตว์น้ำ ซึ่งโดยทั่วไปนิยมเครื่องหมายประจำตัวปลาตะพัดโดยการฝังไมโครชิป (ผู้ใดฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ)

โดยปัจจุบันตลาดค้าปลาตะพัดมีแนวโน้มขยายตัวสูงขึ้นจึงมีการนำเข้าปลาตะพัดจำนวนมาก ดังนั้นเพื่อเป็นการควบคุมปลาตะพัดและสามารถตรวจสอบได้ กรมประมงได้มีการจัดประชุมหารือแนวทางการแก้ไขปัญหาการค้าปลาตะพัด ในประเด็นการจัดทำฐานข้อมูลออนไลน์ ซึ่งกรมประมงได้จัดเตรียมข้อมูลหมายเลขไมโครชิปปลาตะพัดที่ได้จากการนำเข้า และเพาะพันธุ์ในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2561 จนถึงปัจจุบันและดำเนินการหาแนวทางการจัดทำฐานข้อมูลปลาตะพัดนำเข้าแบบออนไลน์ โดยในการพัฒนาเว็บไซต์ในครั้งนี้ได้มีการประชุมร่วมกันระหว่างกรมประมง ผู้แทนสหกรณ์ปลาสวยงามแห่งสยาม จำกัด และผู้แทนผู้ค้าปลาตะพัดมาอย่างต่อเนื่อง

ปัจจุบันเว็บไซต์ฐานข้อมูลดังกล่าว ได้เปิดให้เจ้าหน้าที่ ผู้ประกอบ และประชาชนที่สนใจสามารถเข้าไปสืบค้นข้อมูลหมายเลขไมโครชิปปลาตะพัดนำเข้า และเพาะพันธุ์ในประเทศที่ได้มาถูกต้องตามกฎหมาย บนเว็บไซต์ https://arowana.fisheries.go.th กรมประมง

กรมประมง ข่าว