ประภัตร มอบเงินเยียวยาโคลัมปี-สกิน (LSD) จ.สุรินทร์

400

ประภัตร มอบเงินเยียวยาโคลัมปี-สกิน (LSD) จ.สุรินทร์

รมช.ประภัตร” มอบเงินช่วยเหลือเยียวยาโคลัมปี – สกิน (Lumpy Skin Disease : LSD) จังหวัดสุรินทร์ เผยกระทรวงเกษตรฯ จ่ายเงินเยียวยาแล้วกว่าร้อยละ 70 ทั่วประเทศ และกำลังเร่งรัดการดำเนินการในส่วนที่เหลืออย่างเต็มที่

   รมช.ประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานเปิดงานพิธีมอบเงินช่วยเหลือเยียวยาโรคลัมปี – สกิน (Lumpy Skin Disease : LSD) และมอบนโยบายโครงการสานฝันสร้างอาชีพ ยกระดับรายได้เกษตรกร ณ ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุรินทร์ อำเภอเมืองสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ โดยมีนายสุวพงศ์ กิติภัทย์พิบูลย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ นายวิวัฒน์ ไชยชะอุ่ม ผู้อำนวยการกองส่งเสริมและพัฒนาการปศุสัตว์ กรมปศุสัตว์ หัวหน้าส่วนราชการกระทรวงเกษตรฯ ในพื้นที่ ผู้นำภาคประชาชน ตลอดจนเกษตรกรเข้าร่วม

รมช.ประภัตร เปิดเผยว่า รัฐบาลภายใต้การนำของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยพิบัติโรคระบาดสัตว์ (โรคลัมปี สกิน) แล้วทั้งสิ้น 39 จังหวัด 42,266 ราย วงเงินกว่า 972 ล้านบาท คิดเป็น ร้อยละ 70 ของวงเงินที่ขอความช่วยเหลือทั้งประเทศ ซึ่งการมอบเงินในวันนี้ จังหวัดสุรินทร์ได้มอบเงินช่วยเหลือเกษตรกร จำนวน 3,357 ราย โค – กระบือ 3,579 ตัว วงเงินช่วยเหลือเกษตรกร 85,478,000 บาท รวมให้ความช่วยเหลือแล้ว 3,749 ราย โค – กระบือ 3,989 ตัว วงเงินช่วยเหลือเกษตรกร 96,076,000 บาท คงเหลืออยู่ระหว่างขอความช่วยเหลืออีก 986 ราย โค – กระบือ 1,038 ตัว วงเงิน 19,910,800 บาท อยู่ระหว่างเร่งดำเนินการให้ความช่วยเหลือต่อไป ทั้งนี้ สำหรับเกษตรกรทั่วประเทศที่ยื่นเอกสารขอรับความช่วยเหลือกับกรมปศุสัตว์แล้ว และอยู่ระหว่างขั้นตอนต่างๆ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะเร่งรัดการดำเนินการเพื่อให้ความช่วยเหลือโดยเร็ว

นอกจากนี้ รมช.ประภัตร ยังได้ชี้แจงและขอความร่วมมือกับหน่วยงานในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ ช่วยกันผลักดันโครงการ “สานฝันสร้างอาชีพ และยกระดับรายได้เกษตรกร” ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการปล่อยสินเชื่อสำหรับใช้ในการประกอบอาชีพการเกษตร หรืออาชีพนอกภาคเกษตร หรือการลงทุนค้าขาย เพื่อเสริมรายได้ในครัวเรือน เน้นอาชีพที่มีตลาดรองรับชัดเจน มีการประกันราคารับซื้อผลผลิต สามารถสร้างรายได้ในระยะเวลา ไม่เกิน 6 เดือน มีผลตอบแทนเบื้องต้นเพียงพอต่อการดำรงชีพ และสามารถต่อยอดเป็นอาชีพที่มั่นคงต่อไปได้ในอนาคต ซึ่งโครงการดังกล่าว มีเมนูทางเลือกให้กับเกษตรกรในด้านต่าง ๆ ทั้งเมนูอาชีพด้านปศุสัตว์ เมนูอาชีพด้านพืช และเมนูอาชีพด้านประมง โดยสามารถยื่นความประสงค์ขอกู้ตามโครงการได้ 2 ช่องทาง ได้แก่ 1) ยื่นขอกู้เงินที่ธนาคาร ธ.ก.ส. สาขาที่ตนเองมีภูมิลำเนาหรือที่ตั้งของโครงการ (Walk In) และ 2) ให้ผู้ขอกู้ลงทะเบียนยื่นขอสินเชื่อผ่านช่องทาง Line Official : BAAC Family และนัดหมายผู้ขอกู้ผ่านระบบนัดหมาย โดยวงเงินกู้สูงสุดรายละไม่เกิน จำนวน 100,000 บาท แต่ต้องไม่เกินค่าใช้จ่ายและหรือค่าลงทุนจริงของลูกค้าแต่ละราย)

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ข่าว