ปศุสัตว์ทลายแหล่งผลิตวัตถุดิบอาหารสัตว์เถื่อน

743

กรมปศุสัตว์ บุกทลายแหล่งผลิตวัตถุดิบอาหารสัตว์เถื่อน ซ้ำเติมสถานการณ์อาหารสัตว์แพง

วันอังคารที่ 5 เมษายน 2565 นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ มอบหมายให้นายสัตวแพทย์โสภัชย์ ชวาลกุล รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ จัดชุดเฉพาะกิจกรมปศุสัตว์ ประกอบด้วย กองควบคุมอาหารและยาสัตว์ กองสารวัตรและกักกัน สำนักงานปศุสัตว์เขต 7 สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดนครปฐม และด่านกักกันสัตว์นครปฐม นำโดยนายสัตวแพทย์รักไทย งามภักดิ์ ผู้อำนวยการกองควบคุมอาหารและยาสัตว์ เข้าตรวจสอบแหล่งผลิตอาหารสัตว์แห่งหนึ่ง ในพื้นที่จังหวัดนครปฐม โดยได้รับเบาะแสว่า มีการผลิตวัตถุดิบอาหารสัตว์ โดยเฉพาะกากถั่วเหลืองที่ไม่ได้รับอนุญาต และนำไปจำหน่ายในราคาถูกกว่าท้องตลาด

สืบเนื่องจากกรมปศุสัตว์ โดยกองควบคุมอาหารและยาสัตว์ ได้เก็บตัวอย่างวัตถุดิบอาหารสัตว์ ชนิดกากถั่วเหลือง จากโรงงานผลิตอาหารสัตว์แห่งหนึ่ง พบการปลอมปนวัตถุดิบชนิดอื่น และไม่ได้รับการขึ้นทะเบียนตามพระราชบัญญัติควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ พ.ศ. 2558 และได้ขยายผลพบว่า ซื้อกากถั่วเหลืองดังกล่าวมาจากผู้ผลิตรายหนึ่งในพื้นที่อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม จึงได้จัดชุดเฉพาะกิจเข้าตรวจสอบ พบว่าแหล่งผลิตอาหารสัตว์ดังกล่าว เป็นลักษณะโกดังที่มีเครื่องมืออุปกรณ์ในการผลิตอาหารสัตว์ โดยซื้อวัตถุดิบอาหารสัตว์มาผลิตเพื่อจำหน่ายเป็นอาหารสัตว์ นอกจากนี้ยังมีการซื้อวัตถุดิบอาหารสัตว์จำหน่ายโดยตรงไปยังบุคคลทั่วไปด้วย

โดยชุดเฉพาะกิจได้ทำการอายัดเครื่องมืออุปกรณ์ในการผลิตอาหารสัตว์ และอาหารสัตว์เป็นของกลางในการกระทำผิด รวมมูลค่าประมาณ 6,000,000 บาท ดังนี้

  1. เครื่องผสมอาหารสัตว์ และเครื่องบดอาหารสัตว์ จำนวน 5 เครื่อง มูลค่าประมาณ 2,000,000 บาท
  2. วัตถุดิบอาหารสัตว์ ได้แก่ กากข้าวโพด เนื้อและกระดูกป่น(สุกร) รำข้าวสาลี และปลาป่น ประมาณ 300,000 กิโลกรัม รวมมูลค่ากว่า 4,000,000 บาท

ชุดเฉพาะกิจกรมปศุสัตว์ได้รวบรวมพยานหลักฐาน พร้อมเก็บตัวอย่างส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการและได้เดินทางไปร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวน สภ.เมืองนครปฐม ในข้อหาผลิตอาหารสัตว์โดยไม่ได้รับอนุญาต ต้องระวางโทษไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ประกอบกับผลิตอาหารสัตว์ที่ต้องขึ้นทะเบียน แต่มิได้ขึ้นทะเบียนไว้ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือนถึง 3 ปี หรือปรับตั้งแต่ 10,000 – 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า ในสถานการณ์ปัจจุบันวัตถุดิบอาหารสัตว์มีราคาแพง ทำให้เพิ่มต้นทุนในการผลิตสินค้าปศุสัตว์ ซึ่งการกระทำดังกล่าวเป็นการซ้ำเติมผู้ประกอบการ เกษตรกร และประชาชนผู้บริโภค ทั้งด้านคุณภาพและความปลอดภัยสินค้าปศุสัตว์ ซึ่งกรมปศุสัตว์ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว จึงได้มอบหมายให้ทุกหน่วยงานภายในกรมปศุสัตว์ ในการสนับสนุน ส่งเสริม และใช้วัตถุดิบทดแทนภายในประเทศ ในการผลิตอาหารสัตว์ ตลอดจนกำกับ ดูแลด้านคุณภาพมาตรฐานอาหารสัตว์ให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ เพื่อความปลอดภัยต่อสัตว์ และผู้บริโภคผลิตภัณฑ์จากสัตว์ หากพบการกระทำผิดให้ดำเนินการตามกฎหมายอย่างเฉียบขาด โดยสามารถแจ้งเบาะแสการกระทำผิดได้ทาง Application DLD 4.0 หรือกองควบคุมอาหารและยาสัตว์ โทรศัพท์ 02 159 0406-7 ต่อ 104

กรมปศุสัตว์ ข่าว