“บิ๊กป้อม” ลงพื้นที่ติดตามบางระกำโมเดล จ.พิษณุโลก เดินหน้าบริหารจัดการน้ำพื้นที่ลุ่มต่ำรองรับน้ำหลาก
วันที่ 4 เมษายน 2565 พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำจังหวัดพิษณุโลก และความก้าวหน้าการดำเนินโครงการบางระกำโมเดล ปี 2565 ณ บริเวณประตูระบายน้ำบางแก้ว ตำบลบางระกำ อำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก โดยมี นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) และนายรณชัย จิตรวิเศษ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก พร้อมผู้เกี่ยวข้องร่วมลงพื้นที่ในครั้งนี้
นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยถึงการบริหารจัดการน้ำและการดำเนินงานโครงการบางระกำโมเดล ปี 2565 เพื่อเตรียมความพร้อมเป็นทุ่งรับน้ำ และการพัฒนาแหล่งน้ำลุ่มน้ำยม ว่า การบริหารจัดการน้ำฤดูแล้งปี 2564/65 และการบริหารจัดการพื้นที่ลุ่มต่ำบางระกำ กรมชลประทานได้ดำเนินการตามมาตรการรองรับสถานการณ์ ขาดแคลนน้ำฤดูแล้ง ทั้ง 8 มาตรการอย่างครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็นการเร่งเก็บกักน้ำ จัดหาแหล่งน้ำสำรอง จัดสรรน้ำฤดูแล้ง วางแผนเพาะปลูกพืช เตรียมน้ำสำรองสำหรับพื้นที่ลุ่มต่ำ การเฝ้าระวังคุณภาพน้ำ ติดตามประเมินผล และการสร้างการรับรู้สถานการณ์น้ำและแผนบริหารจัดการน้ำ
อธิบดีกรมชลประทาน
สำหรับโครงการบางระกำโมเดล มีพื้นที่โครงการ 265,000 ไร่ ครอบคลุม อ.พรหมพิราม อ.เมือง อ.บางระกำ อ.วัดโบสถ์ จ.พิษณุโลก และ อ.กงไกรลาศ จ.สุโขทัย ถือเป็นโครงการที่มีส่วนสำคัญในการบริหารจัดการน้ำและบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ตอนบน โดยกรมชลประทานได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2560 ผ่านการบูรณาการร่วมจากหลายหน่วยงาน สามารถสร้างการรับรู้แก่เกษตรกรให้เข้าใจ และร่วมขับเคลื่อนโครงการฯไปกับกรมชลประทาน ซึ่งตั้งแต่มีการเริ่มดำเนินโครงการ พบว่าพื้นที่การเกษตรในทุ่งบางระกำไม่เคยได้รับความเสียหาย เนื่องจากมีการปรับปฏิทินการเพาะปลูกให้สามารถเพาะปลูกได้เร็วขึ้น และกรมชลประทานวางแผนส่งน้ำเร็วขึ้น เพื่อให้สามารถเก็บเกี่ยวได้ทันก่อนฤดูน้ำหลาก
โดยในปี 2565 นี้ กรมชลประทานได้วางแผนส่งน้ำให้กับพื้นที่บางระกำทั้งสิ้น 265,000 ไร่ ปริมาณน้ำที่ใช้ 310 ล้าน ลบ.ม. เริ่มส่งน้ำจากเขื่อนสิริกิติ์ ตั้งแต่วันที่ 14 มีนาคม 2565 เพื่อให้เกษตรกรใช้เตรียมแปลงและได้เริ่มเพาะปลูกตั้งแต่ 1 เมษายน 2565 เพื่อให้เกษตรกรสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตภายในเดือนสิงหาคม 2565 ก่อนฤดูน้ำหลากจะมาถึง จากนั้นจะใช้ทุ่งบางระกำเป็นแก้มลิงธรรมชาติรองรับน้ำหลาก สามารถตัดยอดน้ำได้ถึง 400 ล้าน ลบ.ม. ช่วยป้องกันและบรรเทาอุทกภัย จ.พิษณุโลก และสุโขทัย รวมถึงพื้นที่ท้ายน้ำตั้งแต่ จ.พิจิตร ลงไป และยังช่วยหน่วงน้ำไม่ให้ไหลไปส่งผลกระทบกับลุ่มเจ้าพระยาตอนล่าง และเมื่อสิ้นสุดฤดูน้ำหลากจะเริ่มระบายน้ำออกจากทุ่งบางระกำตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2565 เป็นต้นไป และจะระบายน้ำให้คงเหลือน้ำในทุ่งไว้ ประมาณ 30 เซนติเมตร เพื่อให้เกษตรกรใช้ในเตรียมแปลงสำหรับการเพาะปลูกในฤดูกาลต่อไป
ในส่วนของการพัฒนาแหล่งน้ำลุ่มน้ำยม นั้น กรมชลประทานได้วางแนวทางการพัฒนาลุ่มน้ำยม ทั้งตอนบน ตอนกลาง และตอนล่าง ที่มีพื้นที่ลุ่มน้ำกว่า 23,600 ตร.กม. ความยาวรวม 735 กม. ทั้งนี้ตลอดหลายปีที่ผ่านมาพบว่าลุ่มน้ำยมมักจะประสบทั้งปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งซ้ำซาก และมีแนวโน้มจะทวีความรุนแรงขึ้นเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะในช่วงพื้นที่ลุ่มน้ำยมตอนล่าง บริเวณเขตเศรษฐกิจเมืองสุโขทัย และบริเวณที่ลุ่มต่ำ จ.พิจิตร
กรมชลประทานได้วางแนวทางในการพัฒนาลุ่มน้ำยมตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ดังนี้
- ลุ่มน้ำยมตอนบน วางแผนพัฒนาแหล่งน้ำ ด้วยการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง จำนวน 22 โครงการ ความจุรวม 301 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันอยู่ระหว่างก่อสร้างจำนวน 4 โครงการ ได้แก่ อ่างเก็บน้ำห้วยรู จ.พะเยา อ่างเก็บน้ำน้ำปี้ จ.พะเยา อ่างเก็บน้ำแม่คำมี จ.แพร่ อ่างเก็บน้ำแม่แคม จ.แพร่
- ลุ่มน้ำยมตอนกลาง มีแผนการพัฒนาแหล่งน้ำ ด้วยการปรับปรุงลำน้ำที่ตื้นเขิน กำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดกลางจำนวน 6 โครงการ ความจุรวม 37 ล้าน ลบ.ม. อาทิ อ่างเก็บน้ำห้วยไร่ จ.สุโขทัย อ่างเก็บน้ำแม่สำ จ.สุโขทัย ในส่วนของโครงการที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง และโครงการเพิ่มประสิทธิภาพโครงการชลประทานที่มีอยู่เดิม เช่น การปรับปรุงฝายแม่ยม จากเดิมที่สามารถระบายได้ 75 ลบ.ม/วินาที เพิ่มเป็น 1,400 ลบ.ม/วินาที การปรับปรุงคลองผันน้ำยม-น่าน จากเดิมสามารถระบายน้ำได้ 100 ลบ.ม./วินาที เป็น 300 ลบ.ม./วินาที โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ ปตร.คลองหกบาท จาก 250 ลบ.ม./วินาที เป็น 500 ลบ.ม./วินาที ซึ่งปัจจุบันทั้ง 3 โครงการอยู่ระหว่างการก่อสร้าง
- ลุ่มน้ำยมตอนล่าง กรมชลประทานได้วางแผนพัฒนาพื้นที่แก้มลิง 118 แห่ง ความจุรวม 100 ล้าน ลบ.ม. ก่อสร้าง ปตร.และฝายตามลำน้ำยม 6 แห่ง ปัจจุบันอยู่ระหว่างก่อสร้าง 4 แห่ง ได้แก่ ปตร.ท่านางงาม จ.พิษณุโลก และปตร.ท่าแห ปตร.วังจิก ปตร.โพธิ์ประทับช้าง จ.พิจิตร
“ทั้งนี้ เมื่อการพัฒนาลุ่มน้ำยม ทั้งตอนบน ตอนกลาง และตอนล่าง แล้วเสร็จครบถ้วนตามแผน จะทำให้ลุ่มน้ำยมมีปริมาตรเก็บกักในลุ่มน้ำ เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 500 ล้าน ลบ.ม. ช่วยเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุน เพื่อสนับสนุนความต้องการใช้น้ำในฤดูแล้งได้ประมาณ 160 ล้าน ลบ.ม. เพิ่มพื้นที่ชลประทานประมาณ 100,000 ไร่ ส่งผลให้เกษตรกรได้รับประโยชน์เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 40,000 ครัวเรือน” อธิบดีกรมชลประทาน กล่าว
ด้าน พลเอก ประวิตรฯ ได้มอบนโยบายให้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ และกรมชลประทาน วางแผนเรื่องการใช้น้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค และการใช้น้ำเพื่อการเกษตร ให้เพียงพอตลอดทั้งปี พร้อมขอให้ประชาชนร่วมกันใช้น้ำอย่างประหยัด สอดคล้องกับแผนการใช้น้ำของทางภาครัฐ เพื่อให้สามารถมีน้ำไว้ใช้ในทุกกิจกรรมของภาคประชาชนได้อย่างเพียงพอ นอกจากนี้ยังได้สั่งการให้กรมชลประทาน เพิ่มประสิทธิภาพในการหน่วงน้ำในพื้นที่บางระกำให้ได้มากยิ่งขึ้น พร้อมเร่งจัดทำแผนงานพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ใน จ.พิษณุโลก เพื่อลดปัญหาอุทกภัย รวมถึงการเร่งรัดการพิจารณาจัดทำแผนพัฒนาโครงการพัฒนาลุ่มน้ำยม ที่จะช่วยแก้ไขปัญหาแหล่งน้ำสําหรับการอุปโภคบริโภค ซึ่งเป็นปัญหาหลักของประชาชนได้อย่างทันท่วงที
กรมชลประทาน ข่าว