“เงินกู้ปลอดดอกเบี้ย” ชุบชีวิตสมาชิกสหกรณ์ฯ

526

“เงินกู้ปลอดดอกเบี้ย” สร้างระบบน้ำในไร่นา ชุบชีวิตใหม่ให้สมาชิก สหกรณ์การเกษตรคูเมือง

ผลสำเร็จจากโครงการสนับสนุนเงินทุนเพื่อสร้างระบบน้ำในไร่นาของสมาชิกสถาบันเกษตรกรระยะที่ 1 ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2559 อนุมัติจัดสรรเงินกู้ยืมปลอดดอกเบี้ยจากกองทุนสงเคราะห์เกษตรกรให้กรมส่งเสริมสหกรณ์ จำนวนเงิน 300 ล้านบาท โดยมีกำหนดระยะเวลาดำเนินงาน 5 ปี (2559-2564) เพื่อเป็นแหล่งเงินทุนให้กับสถาบันเกษตรกรนำไปปล่อยกู้ให้กับสมาชิกใช้ในการพัฒนาแหล่งน้ำทั้งขุดสระ ขุดบ่อบาดาลและจัดหาวัสดุอุปกรณ์กักเก็บน้ำเพื่อสำรองน้ำไว้ใช้ในพื้นที่การเกษตรของตนเอง เพื่อลดความเสี่ยงภาวะขาดแคลนน้ำในช่วงหน้าแล้งที่พึ่งพาธรรมชาติเพียงอย่างเดียว มาวันนี้อานิสงค์โครงการฯได้เริ่มผลิดอกออกผลแล้วในหลายพื้นที่

ล่าสุดเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมานายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ และคณะ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมติดตามการดำเนินงานของสหกรณ์ในพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ ณ สหกรณ์การเกษตรคูเมือง จำกัด อำเภอคูเมือง จังหวัดบุรีรัมย์เพื่อติดตามผลการดำเนินงานโครงการดังกล่าว โดยลงพื้นที่เยี่ยมชมแปลงเกษตรผสมสานของลุงบุญมี อาจกล้า เกษตรกรสมาชิกวัย 71 ปีอยู่บ้านเลขที่ 32/1 บ้านหัวฝาย ตำบลหินเหล็กไฟ ที่ได้เข้าร่วมโครงการสนับสนุนเงินทุนเพื่อสร้างระบบน้ำในไร่นาของสมาชิกสหกรณ์ ระยะที่ 1 โดยกู้เงินสหกรณ์การเกษตรคูเมือง จำกัด จำนวน 30,000 บาท เพื่อนำมาขุดบ่อเจาะบ่อบาดาลลึก 45 เมตร เพื่อใช้ในแปลงเกษตรกรผสมผสานควบคู่กับสระกักเก็บน้ำเดิมที่มีอยู่แล้วจำนวน 2 บ่อ ขนาดกว้าง 30 เมตร ยาว 40 เมตรและลึก 4 เมตรและ กว้าง 20เมตร ยาว 15 เมตร และลึก 4 เมตร บนเนื้อที่  26 ไร่ 1 งานของลุงบุญมี แบ่งเป็นพื้นที่ปลูกข้าวหอมมะลิ 20 ไร่ หน่อไม้ 5 ไร่ พริก 3 งาน แฟง และข้าวโพด อย่างละ 1 งาน รวมทั้งเลี้ยงปลาดุก ปลานิล และเป็ด สำหรับบริโภคในครัวเรือน ซึ่งผลผลิตที่ได้ส่งจำหน่ายให้กับสหกรณ์การเกษตรคูเมือง จำกัด โดยในรอบปีการผลิตที่ผ่านมา มีรายได้จากการจำหน่ายผลผลิตมากกว่า 220,000 บาท   

ลุงบุญมีเล่าว่า เดิมพื้นที่ตรงนี้ปลูกพืชเชิงเดี่ยว ทำนาปลูกข้าวเหนียวปีละครั้ง และต้องอาศัยน้ำฝนเพียงอย่างเดียว เนื่องจากพื้นที่อยู่นอกเขตชลประทานและขุดสระน้ำจำนวน 2 บ่อสำหรับกักเก็บน้ำไว้ใช้ช่วงฤดูแล้ง แต่ก็ไม่สามารถเก็บนำไว้ใช้ได้ตลอด เมื่อถึงหน้าแล้งน้ำในบ่อก็แห้งขอด จึงคิดหาทางขุดบ่อบาดาล บังเอิญโชคดีช่วงปี 2560 มีโครงการสนับสนุนเงินทุนเพื่อสร้างระบบน้ำในไร่นาของสมาชิกสถาบันเกษตรกรระยะที่ 1 มาพอดี จึงได้ขอก็เงินจากสหกรณ์การเกษตรคูเมือง จำกัด จำนวน 30,000 บาท เพื่อนำมาขุดบ่อบาดาล จากนั้นทำให้มีน้ำใช้ประโยชน์ได้ตลอดทั้งปี จึงมีแนวคิดอยากทำเกษตรผสมผสานเพื่อจะได้มีรายได้เข้ามาทุกวันไม่ใช่ปีละครั้งจากการจำหน่ายข้าว (เหนียว) เพียงอย่างเดียวอย่างที่ผ่าน ๆ มา

“พอมีน้ำบาดาลก็หันมาทำเกษตรผสมผสานทันที ปลูกพืชหลายอย่างทั้งข้าว พืชผักไม้ผล เพราะมีน้ำตลอดทั้งปีจากบ่อบาดาล ตอนนี้กู้สหกรณ์ฯคูเมืองมา 3 หมื่นเพื่อมาขุดบ่อบาลดาล ตอนนี้ใช้คืนหมดแล้วตั้งแต่ปีแรก อนาคตก็จะทำเกษตรผสมผสานอย่างนี้แหละ แต่จะเลือกพืชให้เหมาะกับพื้นที่และความต้องการของตลาดมากขึ้น”

ลุงบุญมีเผย ไม่เพียงลุงบุญมีที่ได้รับอานิสงค์จากโครงการฯ เกษตรกรรุ่นใหม่อย่าง นางสาวแสงระวี ภูมิลามัย 1 ในเกษตรกร 22 รายที่เข้าร่วมโครงการนำลูกหลานเกษตรกรกลับบ้านสานต่ออาชีพเกษตรของจังหวัดบุรีรัมย์ก็ยังกู้เงินในโครงการสนับสนุนเงินทุนเพื่อสร้างระบบน้ำในไร่นาฯ มาพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่การเกษตรของตนเองอีกด้วย โดยเงินกู้ดังกล่าวจากสหกรณ์การเกษตรคูเมือง จำกัด เพื่อนำมาเป็นค่าใช้จ่ายในการขุดเจาะบ่อบาดาลและติดตั้งแผงโซล่าเซลในแปลงเกษตรผสมผสาน จึงทำให้แปลงเกษตรของเธอมีน้ำใช้ตลอดทั้งปี ทั้งที่ก่อนหน้าพึ่งพาแต่น้ำฝน

“โครงการนี้ดีมาก อย่างเราไม่มีทุน พอมีเงินมาให้กู้ดอกเบี้ยพิเศษเราก็เอาทันที อย่างแหล่งน้ำ พื้นที่เราอยู่นอกเขตชลประทาน น้ำก็จะไม่มี ก็กู้เงินมาเจาะน้ำบาดาล ติดตั้งแผงโซล่าเซล ทำให้เราปลูกพืชผักได้ทั้งปี เพราะน้ำตลอด ทำให้ชีวิตดีขึ้นกว่าเมื่อก่อนมาก  ครั้งแรกปลูกพืชเชิงเดี่ยวเพราะไม่มีระบบน้ำ ตอนนี้เปลี่ยนมาเป็นปลูกพืชหมุนเวียน ปลูกตลอดทั้งปี ตอนนี้มีรายได้เฉลี่ยตกประมาณ 6,000-10,000 ต่อเดือน อย่างพริกผลผลิตทั้งหมดก็จะส่งที่สหกรณ์อาทิตย์ละ 3วัน จันทร์ พุธ และศุกร์ ส่วนเห็ดฟางขายเองที่หน้าฟาร์ม และตอนนี้ผลผลิตก็ไม่พอขาย” เกษตรกรคนเดิมกล่าว

ด้านนายสุภาพ บุญเกิด สหกรณ์จังหวัด (สกจ.) บุรีรัมย์กล่าวว่าสำหรับโครงการสนับสนุนเงินทุนเพื่อสร้างระบบน้ำในไร่นาของสมาชิกสถาบันเกษตรกรของจังหวัดบุรีรัมย์นั้นมีเกือบ 500 ราย กู้ตั้งแต่ 30,000-80,000 บาทต่อราย  ส่วนใหญ่จะนำไปพัฒนาแหล่งน้ำ ขุดสระ ขุดบ่อบาดาล ติดตั้งแผงโซล่าเซลล์ในแปลงเกษตร ส่วนของสหกรณ์การเกษตรคู่เมืองจำกัดมีจำนวน 70 ราย สมาชิกสหกรณ์ที่กู้ไปก็ส่งคืนครบหมดแล้ว เพราะโครงการดังกล่าวสิ้นสุดแล้ว จากนี้ไปก็จะมีการต่อยอดเกษตรกรดังกล่าวเพื่อขยายผลไปสู่รายอื่นต่อไป

“ในวันที่ท่านอธิบดีวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ และคณะลงมาติดตามผลการดำเนินโครงการ มาดูความสำเร็จของเกษตรกรที่ได้กูเงินจากโครงการนี้ไป  ท่านก็ชื่นชมยินดี เห็นผลสำเร็จ ท่านอยากให้ขยายผลไปสู่เกษตรกรายอื่นด้วย เรามีต้นแบบในพื้นที่แล้ว อยากให้เกษตรที่เป็นสมาชิกสหกรณ์รายอื่น ๆ ปรับเปลี่ยนในเรื่องของอาชีพจากเดิมที่ทำนาทำไร่อ้อยเพียงอย่างเดียวก็ให้หันมาทำเกษตรผสมผสานแล้วให้สหกรณ์ช่วยจัดการเรื่องตลาด อย่างน้อยช่วยเขาให้มีรายได้เพิ่ม มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น” สหกรณ์จังหวัด (สกจ.) บุรีรัมย์กล่าวทิ้งท้าย

กรมส่งเสริมสหกรณ์ ข่าว