เกษตรฯ MOU สู้ Covid-19 ร่วมผลักดันกระจายผลผลิตผลไม้ส่งออก
นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานเปิดพิธีลงนามบันทึก ข้อตกลงความร่วมมือระหว่าง สหกรณ์ผู้ผลิตผลไม้ สหกรณ์เครือข่ายผู้ประกอบการภาคเอกชน และรัฐวิสาหกิจ พร้อมด้วย คณะที่ปรึกษา และนายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ รวมทั้งข้าราชการในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมโครงการประชุมเชิงปฏิบัติการเชื่อมโยงเครือข่ายการผลิตและการค้าตลาดผลไม้คุณภาพของสถาบันเกษตรกร ประจำปีงบประมาณ 2563 ณ โรงแรมนิวแทรเวิลลอดจ์ จังหวัดจันทบุรี
รัฐมนตรีช่วยฯ กล่าวว่า จากสถานการณ์โรคไวรัสโควิด-19 แพร่ระบาดหนักในประเทศจีนและอีกหลายประเทศ ทั่วโลกในขณะนี้ ซึ่งแต่ละปีประเทศจีนมีปริมาณการสั่งซื้อผลไม้จากไทยเป็นจำนวนมาก คาดการณ์ว่าจะส่งผลกระทบ ต่อการส่งออกสินค้าต่างๆไปยังประเทศจีนโดยเฉพาะผลไม้ 3 ชนิดหลัก คือ ทุเรียน ลำไย และมังคุด ซึ่งมีปริมาณมากกว่า 84%ของปริมาณผลไม้ทั้งประเทศ ทั้งนี้ จากการประเมินสถานการณ์ และร่วมกันทำงานกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเล็งเห็นว่า เกษตรกรอาจได้รับผลกระทบเนื่องจากผลผลิตไม่สามารถส่งออกได้ โดยเฉพาะผลไม้ที่จะออกสู่ตลาดและรอการส่งออก ได้แก่ ทุเรียน ลำไย มังคุด เงาะ ลองกองและลิ้นจี่ เมื่อมองภาพรวมแล้วต้องเร่งดำเนินการ จัดทำมาตรการที่จะไม่ให้การจัดจำหน่ายผลไม้มีการกระจุกตัวซึ่งนำไปสู่ผลกระทบโดยรวมกับเศรษฐกิจของประเทศ และอาจเกิดปัญหาให้กับเกษตรกรผู้ผลิตผลไม้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว จึงเห็นว่าถึงเวลาที่จะพลิกวิกฤตครั้งนี้ให้เป็นโอกาสที่เราจะใช้ขบวนการสหกรณ์นำผลไม้ดีมีคุณภาพดี ซึ่งแต่เดิมส่งออกไปยังต่างประเทศแบ่งสรรมาให้ผู้บริโภคในชาวไทยได้บริโภคมากขึ้น โดยกระจายผ่านเครือข่ายสหกรณ์ทั่วประเทศ
ทั้งนี้ ตามนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้กำหนด “มาตรการช่วยเหลือในปีงบประมาณ พ.ศ.2563” โดยจัดสรรงบประมาณผ่านกรมส่งเสริมสหกรณ์ ดังนี้
1. ด้านการผลิต ส่งเสริมให้สมาชิกสหกรณ์ผลิตผลไม้คุณภาพและผ่านมาตรฐาน GAP จำนวน 1,100 ราย ซึ่งจะสามารถจัดจำหน่ายได้ในสถานประกอบการที่ต้องการมาตรฐานการรองรับ
2. ด้านการรวบรวม พัฒนาอาคารรวบรวมผลไม้สะอาดได้มาตรฐาน GMP และจัดสรรเงินกู้ดอกเบี้ยร้อยละ 1 จากกองทุนพัฒนาสหกรณ์ วงเงิน 200 ล้านบาท ให้สหกรณ์กู้ยืมไปรวบรวมผลผลิตจากสมาชิกตลอดช่วงฤดูกาลผลิตปีนี้
3. ด้านการตลาด ส่งเสริมให้ขบวนการสหกรณ์ใช้เครือข่ายสหกรณ์ในการเป็นผู้กระจายผลผลิตสู่การบริโภค ทั้งภายในและภายนอกประเทศ โดยกำหนดให้มีกิจกรรมสหกรณ์พบผู้ผลิต จัดกิจกรรมเชิงท่องเที่ยวในสวนผลไม้ รวมทั้งจัดมหกรรมสินค้าสหกรณ์ ปรับการจำหน่ายจากช่องทางปกติเป็นการจัดจำหน่ายแบบออนไลน์ซึ่งทางกระทรวงฯ ได้มอบหมายไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน” รมช.มนัญญา กล่าว
ในการนี้กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้จัดพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือทางการค้าผลไม้ร่วมกันระหว่างสหกรณ์ผู้ผลิต ผลไม้ ได้แก่ สหกรณ์การเกษตรเขาคิชฌกูฏ จำกัด สหกรณ์การเกษตรมะขาม จำกัด สหกรณ์การเกษตรเมืองขลุง จำกัด สหกรณ์การเกษตรนายายอาม จำกัด จ.จันทบุรี สหกรณ์การเกษตรเขาสมิง จำกัด และสหกรณ์ส่งเสริมธุรกิจภาคการเกษตรจังหวัดตราด จำกัด จ.ตราด สหกรณ์การเกษตรบ้านนาสาร จำกัด สหกรณ์การเกษตรเมืองสุราษฎร์ธานี จำกัด จ.สุราษฎร์ธานี สหกรณ์การเกษตรพรหมคีรี จำกัด จ.นครศรีธรรมราช สหกรณ์การเกษตรเมืองลับแล จำกัด จังหวัดอุตรดิตถ์ และสหกรณ์การเกษตรประตูป่า จำกัด จ.ลำพูน กับสหกรณ์เครือข่ายผู้รับซื้อผลไม้จากจังหวัดต่าง ๆ อาทิ สหกรณ์การเกษตรพิมาย จำกัด จ.นครราชสีมา สหกรณ์การเกษตรเกษตรวิสัย จำกัด จ.ร้อยเอ็ด สหกรณ์ออมทรัพย์ กรมศุลกากร จำกัด สหกรณ์ออมทรัพย์พนักงานธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด และชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด ที่จะรับซื้อผลไม้จากสหกรณ์ชาวสวนผลไม้ในภาคตะวันออก ภาคใต้และภาคเหนือ เพื่อนำไปกระจายสู่ผู้บริโภคในทุกพื้นที่ และได้ดำเนินการทำข้อตกลงซื้อขายผลไม้ระหว่างสหกรณ์ชาวสวนผลไม้กับห้างโมเดิร์นเทรด ได้แก่ บริษัท เอก-ชัย ดีสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด (ห้างเทสโก้โลตัส) บริษัท สยามแมคโคร จำกัด (มหาชน) บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) บริษัท เซนทรัล ฟู้ดรีเทล จำกัด (ท๊อปซูเปอร์มาเก็ต) และบริษัทผู้ส่งออก ได้แก่ บริษัท ริชฟิลด์ เฟรชฟรุ๊ต จำกัด โดยความร่วมมือดังกล่าวคาดหวังว่าจะมีการกระจายผลไม้ผ่านเครือข่ายสหกรณ์ คู่ค้าเอกชน ทั้งห้างโมเดิร์นเทรด ผู้ส่งออกและผู้ประกอบการ ในการช่วยกันระบายผลผลิตสู่ตลาด ป้องกันปัญหาผลผลิตกระจุกตัวในช่วงที่ออกมาพร้อมกัน และช่วยเพิ่มช่องทางกระจายผลไม้ให้ถึงมือผู้บริโภคได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นการบูรณาการของทั้งภาครัฐและเอกชนร่วมกันในการพัฒนา
นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ทำแผนเพื่อขอเงินอุดหนุนจากรัฐบาลเพื่อบริหารจัดการผลไม้ผ่านระบบสหกรณ์ วงเงิน 414.20 ล้านบาท โดยให้สหกรณ์ต้นทางใช้เป็นค่าบริหารจัดการผลไม้ กิโลกรัมละ 1 บาท ค่าขนส่ง จากแหล่งรวบรวมไปสหกรณ์ปลายทาง กิโลกรัมละ 2 บาท ค่าจัดซื้อบรรจุภัณฑ์ เช่น ตะกร้า กล่อง จำนวน 3.5 ล้านใบ และค่าบริหารจัดการของสหกรณ์ปลายทางเพื่อกระจายผลไม้สู่ผู้บริโภคในพื้นที่ กิโลกรัมละ 50 สตางค์ และจะมีการจัดกิจกรรมรณรงค์บริโภคผลไม้ ในจังหวัดใหญ่ เช่น นครราชสีมา อุดรธานี ขอนแก่น อุบลราชธานี เชียงใหม่ สงขลา สุราษฎร์ธานี กรุงเทพฯ รวม 16 จังหวัดและระดับอำเภอ 824 อำเภอ ซึ่งในเดือนเมษายน คาดว่าผลไม้จะเริ่มออกสู่ตลาดราว 200,000 ตัน ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวจะเข้ามาขับเคลื่อนและช่วยกระจายสินค้าผลผลิตผลไม้อย่างเป็นระบบต่อไป
กระทรวงเกษตรเเละสหกรณ์ ข่าว