กรมวิชาการเกษตรขับเคลื่อนใช้ชีวภัณฑ์ทดแทนสารเคมี

550

กรมวิชาการเกษตรขานรับนโยบายเร่งขับเคลื่อนการใช้ชีวภัณฑ์ทดแทนสารเคมีสู่เกษตรกร

นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า กรมวิชาการเกษตรได้พัฒนาชีวภัณฑ์ที่มีประสิทธิภาพในการควบคุมโรคและแมลงศัตรูพืช มีความปลอดภัยสูงต่อมนุษย์ สัตว์ พืช และ สิ่งแวดล้อม ตามนโยบายของนางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ได้สั่งการให้กรมวิชาการเกษตรขับเคลื่อนการใช้ชีวภัณฑ์ทดแทนการใช้สารเคมีทางการเกษตรเพื่อให้เกษตรกรลด ละ เลิก การใช้สารเคมี เพื่อความปลอดภัยต่อเกษตรกร ผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อม

นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร

ปัจจุบันกรมวิชาการเกษตรได้ขับเคลื่อนการใช้ชีวภัณฑ์ทดแทนการใช้สารเคมีทางการเกษตร โดยถ่ายทอดสู่เกษตรกรส่งเสริมให้เกษตรกรใช้และผลิตขยายชีวภัณฑ์เอง ทำให้ได้ผลผลิตพืชที่ปลอดภัยจากสารพิษตกค้าง ลดต้นทุน เพิ่มแหล่งผลิตพืชปลอดภัยในระบบเกษตรดีที่เหมาะสม (GAP) และส่งเสริมระบบเกษตรปลอดภัยด้วยเกษตรอินทรีย์ โดยชีวภัณฑ์ของกรมวิชาการเกษตรที่ได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่เกษตรกรปลูกไม้ผล และพืชผัก สามารถป้องกันได้ทั้ง แมลงศัตรูพืช และโรคพืช ดังนี้

  • ราเขียวเมตาไรเซียม มีความจำเพาะเจาะจงในการเข้าทำลายของด้วงแรดซึ่งเป็นศัตรูที่สำคัญในมะพร้าวและพืชตระกูลปาล์ม สามารถทำลายด้วงแรดได้ทั้งในระยะตัวหนอน ดักแด้ และตัวเต็มวัย
  • โปรโตซัวกำจัดหนู ใช้ในการกำจัดทั้งหนูบ้านและหนูศัตรูพืช
  • เชื้อราไตรโคเดอร์มา ใช้ควบคุมโรคตายพรายของกล้วย
  • ไส้เดือนฝอยศัตรูแมลงชนิดผง ใช้ควบคุมแมลงศัตรูพืชได้หลายชนิด เช่น ด้วงหมัดผัก หนอนเจาะเห็ด หนอนกินใต้ผิวเปลือกลองกอง และด้วงงวงมันเทศ เป็น
  • เชื้อแบคทีเรียบีที เป็นเชื้อแบคทีเรียที่ใช้ในการควบคุมหนอนผีเสื้อศัตรูพืช เช่น หนอนใยผัก หนอนเจาะสมอฝ้าย หนอนเจาะยอดกะหล่ำ หนอนกระทู้ผัก หนอนกระทู้หอม และหนอนหัวดำมะพร้าว เป็นต้น
  • ไวรัส เอ็นพีวี ใช้ควบคุมศัตรูพืชได้ 3 ชนิด ได้แก่ ไวรัส เอ็นพีวี หนอนกระทู้ผัก ไวรัส เอ็นพีวี หนอนกระทู้หอม และไวรัส เอ็นพีวี หนอนเจาะสมอฝ้าย
  • เชื้อแบคทีเรียบีเอส ใช้ควบคุมโรคแอนแทรคโนสในพริก มะม่วง ควบคุมโรคใบจุดพืชตระกูลกะหล่ำ และควบคุมโรคเหี่ยวจากแบคทีเรีย Ralstonia solanacearum
  • เห็ดเรืองแสงสิรินรัศมี ใช้ควบคุมไส้เดือนฝอยรากปมในพืชผัก ไม้ผล และพืชไร่ และ โรครากเน่าโคนเน่าของทุเรียน
  • มวนพิฆาตใช้ในการควบคุมหนอนศัตรูพืชได้หลายชนิดโดยเฉพาะศัตรูพืชในกลุ่มหนอนผีเสื้อ เช่น หนอนกระทู้ผัก หนอนกระทู้หอม หนอนเจาะสมอฝ้าย หนอนแก้วส้ม หนอนหัวดำมะพร้าว หรือแม้กระทั่งศัตรูพืชในระยะดักแด้
  • แตนเบียนไข่ ใช้ในการควบคุมแมลงศัตรูพืชหลายชนิดในระยะไข่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น หนอนเจาะสมอฝ้าย หนอนกออ้อย หนอนเจาะลำต้นข้าวโพด หนอนใยผัก หนอนคืบกะหล่ำปลี หนอนคืบ หนอนแก้วส้ม และหนอนกอแถบลาย เป็นต้น
  • แตนเบียนอะซีโคเดส ฮิสไพนารัม เป็นแตนเบียนที่มีประสิทธิภาพใช้ในการควบคุมหนอนแมลงดำหนามมะพร้าว
  • แตนเบียนเตตระสติคัส บรอนทิสปี้ สามารถเข้าทำลาย หนอนแมลงดำหนามมะพร้าว วัยที่ 4 และดักแด้แมลงดำหนามมะพร้าว แต่จะชอบเบียนระยะดักแด้มากที่สุด
  • แตนเบียนโกนิโอซัส นีแฟนติดิส เป็นแมลงศัตรูธรรมชาติที่มีความเฉพาะเจาะจงต่อแมลงอาศัยใช้ในการควบคุมหนอนหัวดำมะพร้าว
  • แตนเบียนอะนาไกรัส โลเปไซ เป็นแตนเบียนที่ใช้ในการควบคุมเพลี้ยแป้งมันสำปะหลังสีชมพู
  • แมลงช้างปีกใส  เป็นแมลงห้ำที่มีประโยชน์ช่วยกำจัดศัตรูพืชที่มีขนาดเล็ก ได้แก่ เพลี้ยแป้ง เพลี้ยอ่อน เพลี้ยไฟ เพลี้ยหอย ตัวอ่อนแมลงหวี่ขาว หนอนตัวเล็กๆ ไรแดง และไข่ของแมลงศัตรูพืชหลายชนิด เฉพาะตัวอ่อนของแมลงช้างปีกใสเท่านั้นที่มีพฤติกรรมการเป็นตัวห้ำ
  • แมลงหางหนีบสีดำ เป็นศัตรูธรรมชาติที่สำคัญอีกชนิดหนึ่ง สามารถใช้ควบคุมไข่และตัวหนอนของ ผีเสื้อชนิดต่างๆ เช่น หนอนกออ้อย รวมถึง เพลี้ยอ่อน และแมลงขนาดเล็กชนิดอื่นที่มีลำตัวอ่อนนิ่ม

“เกษตรกรที่ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตชีวภัณฑ์อย่างง่ายสามารถผลิต ชีวภัณฑ์และนำไปใช้เองในการผลิตพืชปลอดภัย และเกษตรอินทรีย์ ทำให้สามารถลดต้นทุนการผลิตพืชลงไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 และสร้างรายได้สุทธิเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 30-40 และสามารถลดการใช้สารเคมีทางการเกษตรลงได้ไม่น้อยกว่า ร้อยละ 20-30 เกษตรกรหรือผู้ที่สนใจสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับสารชีวภัณฑ์ได้ที่สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร โทรศัพท์ 0-2 579 5583 ต่อ 116 หรือ 117

กรมวิชาการเกษตร ข่าว