กรมวิชาการเกษตรเฉียบ! ค้นพบเครื่องหมายโมเลกุลใหม่ ร่นระยะเวลาปรับปรุงพันธุ์มันสำปะหลัง ต้านทานโรค
นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ปัจจุบันเทคนิคด้านเทคโนโลยีชีวภาพเข้ามามีบทบาทด้านการเกษตรเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในงานปรับปรุงพันธุ์พืชให้มีลักษณะที่ดีตรงตามความต้องการ เช่น เทคโนโลยีเครื่องหมายโมเลกุลมีประโยชน์ในการศึกษาความหลากหลายทางพันธุกรรมและการจำแนกพันธุ์ รวมทั้งบางเครื่องหมายโมเลกุลยังมีความสัมพันธ์กับลักษณะทางการเกษตร เช่น ผลผลิตสูง ไซยาไนด์ต่ำ และความต้านทานโรค ซึ่งการนำเครื่องหมายโมเลกุลที่สัมพันธ์กับลักษณะทางการเกษตรเหล่านี้มาใช้เป็นเครื่องมือในการคัดเลือกพันธุ์เพื่อการปรับปรุงพันธุ์จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปรับปรุงพันธุ์ได้
จากปัญหาการลดลงของผลผลิตมันสำปะหลังมีสาเหตุสำคัญมาจากโรคพืช เช่น โรคใบด่างมันสำปะหลัง และโรครากปม คณะนักวิจัยจากสำนักวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพ กรมวิชาการเกษตร จึงได้วิจัยพัฒนาเครื่องหมายโมเลกุลที่สัมพันธ์กับลักษณะปริมาณไซยาไนด์ต่ำ ความต้านทานโรครากปมและโรคใบด่างมันสำปะหลัง และนำมาใช้ในคัดเลือกพันธุ์มันสำปะหลัง ผลการวิจัยพัฒนาได้เครื่องหมายโมเลกุลชนิดสนิปส์ จำนวน 3 เครื่องหมาย เพื่อใช้คัดเลือกพันธุ์มันสำปะหลังที่มีความต้านทานโรคใบด่างมันสำปะหลัง ไซยาไนด์ต่ำ และต้านทานโรครากปม ซึ่งมันสำปะหลังที่เป็นโรครากปมจะไม่แสดงอาการผิดปกติใดๆ ที่จะทำให้ทราบว่ามันสำปะหลังถูกไส้เดือนฝอยทำลาย ดังนั้นเกษตรกรจึงไม่ทราบว่าผลผลิตหัวมันสำปะหลังมีปริมาณและคุณภาพเป็นอย่างไร หลังจากที่ต้องใช้เวลาในการปลูกจนถึงเก็บเกี่ยวนาน 10-12 เดือน
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า เครื่องหมายโมเลกุลชนิดสนิปส์ มีประโยชน์ในการจำแนกพันธุ์และคัดเลือกพันธุ์พืชที่มีลักษณะที่ต้องการ โดยหากเครื่องหมายสนิปส์มีตำแหน่งใกล้กับยีนควบคุมลักษณะมากเท่าใด ความแม่นยำในการคัดเลือกพันธุ์พืชยิ่งสูงขึ้นเท่านั้น ซึ่งผลการคัดเลือกพันธุ์มันสำปะหลังจำนวน 250 พันธุ์โดยใช้เครื่องหมายสนิปส์ทั้ง 3 ลักษณะ สามารถคัดเลือกได้กลุ่มพันธุ์ที่มีแนวโน้มต้านทานโรคใบด่างและไซยาไนด์ต่ำ จำนวน 9 พันธุ์ และกลุ่มพันธุ์ที่มีแนวโน้มต้านทานทั้งโรคใบด่างและโรครากปม จำนวน 4 พันธุ์ ซึ่งผลการทดสอบความถูกต้องของเครื่องหมายโมเลกุลในการคัดเลือกพันธุ์พบว่าทั้ง 3 เครื่องหมายที่พัฒนาขึ้นมีความถูกต้องมากกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ถือว่ามีประสิทธิภาพสูงในการคัดเลือกพันธุ์ โดยนักปรับปรุงพันธุ์สามารถนำเครื่องหมายสนิปส์ทั้ง 3 ชุดไพรเมอร์ไปใช้ในการคัดเลือกพันธุ์มันสำปะหลังเพื่อพัฒนาพันธุ์ดีให้แก่เกษตรกรได้ เนื่องจากสามารถเลือกเฉพาะต้นที่มีแถบดีเอ็นเอที่มีลักษณะที่ต้องการไว้ เป็นการเพิ่มความแม่นยำในการคัดเลือกลักษณะทางการเกษตรที่ต้องการ
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า “การคัดเลือกพันธุ์พืชด้วยเครื่องหมายโมเลกุลมีประโยชน์ต่อการปรับปรุงพันธุ์อย่างมาก เนื่องจากช่วยลดจำนวนพืชที่จะปลูกเพื่อคัดเลือก ระยะเวลาในการปรับปรุงพันธุ์ ทำให้สามารถลดพื้นที่ปลูก แรงงาน และค่าใช้จ่าย ได้ถึง 10 เท่า เมื่อเปรียบเทียบกับการคัดเลือกแบบเดิมที่ใช้ลักษณะปรากฏ อีกทั้งสามารถตรวจคัดเลือกได้หลายลักษณะพร้อมกัน รวมทั้งเครื่องหมายสนิปส์ด้วยเทคนิค Tetra-Primer ARMS–PCR นี้ มีความสะดวก ใช้งานได้ง่าย ไม่ต้องใช้บุคลากรที่มีความชำนาญเฉพาะด้าน และยังมีต้นทุนการตรวจสอบเพียง 10 บาทต่อการตรวจสอบสนิปส์ 1 ตำแหน่ง เมื่อเทียบกับเทคนิคอื่นๆ หน่วยงานต่างๆ สามารถนำเครื่องหมายสนิปส์ทั้ง 3 ชุดไพรเมอร์ไปใช้คัดเลือกพันธุ์ได้ทันที ทั้งนี้เครื่องหมายสนิปส์ลักษณะความต้านทานโรคใบด่างมันสำปะหลังสามารถนำไปใช้ต่อยอดในงานวิจัยการใช้เครื่องหมายโมเลกุลในการคัดเลือกลักษณะต้านทานโรคใบด่างมันสำปะหลังซึ่งดำเนินการในปี 2565 – 2567 ได้
“ได้ขอจดอนุสิทธิบัตรเครื่องหมาย สนิปส์ของลักษณะปริมาณไซยาไนด์ต่ำในนามของกรมวิชาการเกษตรเรียบร้อยแล้ว หน่วยงานใดหรือผู้ที่สนใจนำเครื่องหมายสนิปส์ทั้ง 3 ชุดไพรเมอร์ไปใช้คัดเลือกพันธุ์สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กลุ่มวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตร สำนักวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพ กรมวิชาการเกษตร โทร. 0-2904-6885” อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าว
กรมวิชาการเกษตร ข่าว