สศก. โชว์ผลติดตาม 7 แปลงสาธิตเกษตรอัจฉริยะข้าวโพดหวาน

453

สศก. โชว์ผลติดตามนำร่อง 7 แปลงสาธิตเกษตรอัจฉริยะข้าวโพดหวาน เมืองสี่แคว ต้นทุนลด ผลผลิตเพิ่ม สร้างกำไร 16,992 บาท/ไร่/ปี

ดร.ทัศนีย์ เมืองแก้ว รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงการติดตามโครงการพัฒนาเทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะ จังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งเป็นโครงการภายใต้แผนแม่บทย่อยเกษตรอัจฉริยะ มีวัตถุประสงค์เพื่อนำร่องทดสอบการผลิตพืชด้วยการใช้เทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะในรูปแบบแปลงสาธิต มีกรมวิชาการเกษตรเป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินงาน โดยโครงการได้ดำเนินการคัดเลือกเกษตรกร 7 ราย เพื่อจัดทำแปลงสาธิตเกษตรอัจฉริยะข้าวโพดหวาน จำนวน 7 แปลง ณ ตำบลพันลาน และ ตำบลโคกหม้อ อำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ ดำเนินกิจกรรมวางระบบน้ำแบบน้ำพุ่งและน้ำหยด เพื่อควบคุมการให้น้ำด้วย Smart phone ให้คำแนะนำเกษตรกรปรับการใช้ปุ๋ยเคมีตามค่าวิเคราะห์ดินร่วมกับปุ๋ยชีวภาพพีจีพีอาร์-วัน และพัฒนาระบบรับส่งสัญญาณระหว่างอุปกรณ์วัดความชื้นดินกับโทรศัพท์มือถือเพื่อติดตามการเปลี่ยนแปลงความชื้นดินแบบ Real time ผ่านโทรศัพท์มือถือ หรือคอมพิวเตอร์ และจัดฝึกอบรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้แบบออนไลน์ เรื่อง การควบคุมระบบน้ำอัจฉริยะในแปลงข้าวโพดให้เกษตรกร ผู้ประกอบการ และผู้ที่สนใจเข้าร่วมฟังบรรยาย

ดร.ทัศนีย์ เมืองแก้ว
รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.)

จากการลงพื้นที่ของ สศก. โดยศูนย์ประเมินผล พบว่า แปลงสาธิต/แปลงเรียนรู้ข้าวโพดหวาน ทั้ง 7 แปลง เกษตรกรมีการแบ่งพื้นที่มาทดลองทำแปลงสาธิตรวมพื้นที่ 30 ไร่ 2 งาน ใช้ระบบการให้น้ำอัจฉริยะ ผ่านสายยางและท่อ PVC เพื่อให้น้ำและปุ๋ยตามปริมาณความต้องการของข้าวโพดหวาน มีระบบส่งสัญญาณระหว่างอุปกรณ์วัดความชื้นดินเพื่อติดตามการเปลี่ยนแปลงแบบ Real time โดยจะควบคุมการทำงานของระบบสั่งงานกล่องตามเงื่อนไขและการตัดสินใจของเกษตรกรผ่านโทรศัพท์มือถือ ช่วยลดการจ้างแรงงาน ลดระยะเวลา ปริมาณการใช้น้ำ และต้นทุนการใช้พลังงาน ซึ่งจากข้อมูลการทดสอบ พบว่า สามารถช่วยลดปริมาณการใช้น้ำ 4.5 เท่า โดยลดการใช้น้ำ จาก 1,200 ลูกบาศก์เมตร/ไร่/ปี เหลือเพียง 270 ลูกบาศก์เมตร/ไร่/ปี (ลดลง 930 ลูกบาศก์เมตร/ไร่/ปี) และยังลดต้นทุนด้านการใช้พลังงานไฟฟ้าร้อยละ 54 โดยลดลงจาก 851 บาท/ไร่/ปี ลดเหลือ 459 บาท/ไร่/ปี (ลดลง 392 บาท/ไร่/ปี)

นอกจากนี้ เกษตรกรสามารถลดต้นทุนที่เป็นเงินสด โดยจากเดิมค่าต้นทุนเฉลี่ย 14,466 บาท/ไร่/ปี ลดลงเหลือ 12,102 บาท/ไร่/ปี (ลดลง 2,364 บาท/ไร่/ปี) ได้ผลผลิตเพิ่มขึ้น ซึ่งจากเดิมได้ผลผลิตเฉลี่ย 6,531 กก./ไร่/ปี เพิ่มเป็น 7,023 กก./ไร่/ปี (เพิ่มขึ้น 492 กก./ไร่/ปี) สามารถสร้างรายได้สุทธิเพิ่ม (กำไร) จากเดิม 11,661 บาท/ไร่/ปี เพิ่มเป็น 16,992 บาท/ไร่/ปี (เพิ่มขึ้น 5,331 บาท/ไร่/ปี) โดยทั้งปี เกษตรกรสามารถผลิตได้ 3 รอบการผลิต ซึ่งโรงงานรับซื้อผลผลิตด้วยราคาขายเฉลี่ย 4.14 บาท/กิโลกรัม

ทั้งนี้ ผลสำเร็จในการนำร่องโครงการฯ ทางแปลงสาธิตยังได้ร่วมกับหน่วยงานกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ระดับพื้นที่ทั้งจากกรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร ขยายผลไปยังเกษตรกรในพื้นที่เพิ่มเติมในการปรับใช้ระบบเกษตรอัจฉริยะตามความเหมาะสมของแปลงตนเอง สำหรับเกษตรกร หรือผู้สนใจสามารถขอรับคำปรึกษาและเข้าเรียนรู้ระบบการใช้เทคโนโลยีด้านเกษตรอัจฉริยะ จังหวัดนครสวรรค์ สามารถติดต่อได้ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรนครสวรรค์ โทร. 05-600-9757

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ข่าว