เร่งสำรวจความเสียหายด้านประมง

302

รมต.เกษตรฯ สั่งการกรมประมง เร่งสำรวจความเสียหายด้านประมง พบเสียหายแล้ว 41 จังหวัด รวมมูลค่ากว่า 463 ล้านบาท เตรียมเยียวยาบรรเทาความเดือดร้อนเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ

ตั้งแต่ช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ประเทศไทยได้รับผลกระทบจากอิทธิพลมาจากพายุอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้มีฝนตกหนักถึงหนักมากทำให้เกิดสภาวะน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก รวมทั้งน้ำล้นตลิ่ง ทำให้เกิดอุทกภัยในหลายพื้นที่ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย ส่งผลให้ประชาชนและพี่น้องเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตวน้ำได้รับความเดือดร้อน ผลผลิตสัตว์น้ำเกิดความเสียหาย

นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีนโยบายให้หน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ บูรณาการร่วมกันเพื่อเร่งให้ความช่วยเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบให้เร็วที่สุด โดยที่ผ่านมาได้สั่งการให้หน่วยงานของกรมประมงในพื้นที่ระดมเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ให้การช่วยเหลือ อาทิ นำเรือตรวจเข้ามาพื้นที่ขนย้ายคนออกจากพื้นที่น้ำท่วม นำเสบียงทั้งเครื่องอุปโภคและบริโภคไปแจกจ่ายให้กับผู้ที่อยู่ในพื้นที่น้ำท่วม เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้น รวมไปถึงจัดเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่รับฟังปัญหาและตรวจเยี่ยมสำรวจความเสียหาย

ล่าสุดจากการสำรวจความเสียหายด้านการประมง (ข้อมูล ณ วันที่ 19 ต.ค.65) พบมีพื้นที่เสียหาย 41 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ พะเยา ลำปาง ลำพูน อุตรดิตถ์ สุโขทัย พิษณุโลก ตาก เพชรบูรณ์ กำแพงเพชร นครสวรรค์ อุทัยธานี นครราชสีมา ชัยภูมิ เลย หนองบัวลำภู อุดรธานี หนองคาย มหาสารคาม ร้อยเอ็ด อำนาจเจริญ อุบลราชธานี ศรีสะเกษ สุรินทร์ ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง ลพบุรี สระบุรี สุพรรณบุรี นครปฐม กรุงเทพมหานคร ปทุมธานี นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว กาญจนบุรี ราชบุรี ระยอง และตรัง  โดยพบเกษตรกรได้รับความเดือดร้อน จำนวน 21,467 ราย พื้นที่คาดว่าจะเสียหายรวมกว่า 26,956.71 ไร่ 204,518.25 ตารางเมตร คิดเป็นมูลค่าความเสียหายไม่น้อยกว่า 463,383,133 บาท ประมาณการวงเงินช่วยเหลือ 199,017,411.81 บาท ซึ่งกรมประมงจะเร่งดำเนินการสำรวจอย่างต่อเนื่องจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลายและจะดำเนินการให้ความช่วยเหลือตามระเบียบของกระทรวงการคลังต่อไป โดยอัตราการให้ความช่วยเหลือ ดังนี้

  1. กุ้งก้ามกราม กุ้งทะเล หรือหอยทะเล ไร่ละ  11,780 บาท ไม่เกินรายละ 5 ไร่
  2. ปลาหรือสัตว์น้ำอื่นนอกจากข้อ 1 ที่เลี้ยงในบ่อดิน นาข้าว หรือร่องสวน (คิดเฉพาะพื้นที่เลี้ยง) ไร่ละ 4,682 บาท ไม่กินรายละ 5 ไร่
  3. สัตว์น้ำตามข้อ 1 และ 2 ที่เลี้ยงในกระชัง บ่อซีเมนต์ หรือที่เลี้ยงในลักษณะอื่นที่คล้ายคลึงกัน ตารางเมตรละ 368 บาท ไม่เกินรายละ 80 ตารางเมตร

ทั้งนี้ หากคิดคำนวณพื้นที่เลี้ยงแล้ว ผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ประสบภัยพิบัติรายใดจะได้รับการช่วยเหลือเป็นเงินต่ำกว่า 368 บาท ให้ช่วยเหลือในอัตรารายละ 368 บาท

นอกจากนี้ กรมประมงยังได้ออกประกาศและประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนโดยตรงไปยังผู้ประกอบการที่เพาะเลี้ยงจระเข้ในทุกจังหวัด ให้เพิ่มความระมัดระวังในการควบคุม ดูแล จระเข้ที่อยู่ในครอบครองให้มากขึ้นเป็นพิเศษเพื่อป้องกันการหลุดลอดออกจากฟาร์ม  และหากประชาชนพบเห็นจระเข้ในแหล่งน้ำสาธารณะหรือแหล่งน้ำธรรมชาติ สามารถแจ้งสำนักงานประมงจังหวัดในพื้นที่ได้ และหลังจากนี้ กรมประมงยังมีแนวทางในการจัดทำโครงการเพื่อเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบในลำดับต่อไป สำหรับผู้ประสบปัญหาต้องการความช่วยเหลือต่าง ๆ สามารถติดต่อขอรับคำแนะนำหรือขอความช่วยเหลือได้ที่สำนักงานประมงอำเภอ/ สำนักงานประมงจังหวัด/ ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงในพื้นที่ หรือ กองโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริและกิจกรรมพิเศษ กลุ่มช่วยเหลือเกษตรกรและชาวประมง กรมประมง โทรศัพท์หมายเลข 0 2558 0218 และ 0 2561 4740  

กรมประมง ข่าว