เกษตรฯ ลงใต้ คุมเข้มคุณภาพทุเรียน ลำไย ส่งออกจีน

351

กรมวิชาการเกษตร ลงพื้นที่ภาคใต้ คุมเข้มคุณภาพ มาตรฐาน ทุเรียน ลำไย ส่งออกจีน

อธิบดีกรมวิชาการเกษตร รับข้อสั่งการ รมช.มนัญญา ลงพื้นที่ภาคใต้ คุมเข้มคุณภาพ มาตรฐาน ทุเรียน ลำไย ส่งออกจีน รุดจัดทีมเฉพาะกิจ สวพ. 1-8  พร้อมระดมเจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยพืชสวน และศูนย์วิจัยพืชไร่ เร่งออกบริการคลีนิคเกษตรเคลื่อนที่ ขึ้นทะเบียน ต่ออายุ และปรับปรุงรหัส GAP ทั่วประเทศ  

นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า นางสาว มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สั่งการให้อธิบดีกรมวิชาการเกษตร พร้อมด้วย ผอ. กองพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าพืช  ผอ. สถาบันวิจัยพืชสวน และ ผอ. สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 7 พร้อมเจ้าหน้าที่สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร  ลงพื้นที่ภาคใต้เพื่อคุมเข้มคุณภาพ มาตรฐานทุเรียนส่งออกจีน พร้อมกับสั่งเดินหน้าปรับรหัสสวน GAP รูปแบบใหม่ เพื่อให้ทันการขึ้นทะเบียนส่งออกไปยังประเทศจีนรอบต่อไป ป้องกันการสวมสิทธิ์ รวมทั้งเตือนผู้ประกอบการ และโรงคัดบรรจุรายใดส่งทุเรียนด้อยคุณภาพ ซึ่งกระทบต่อภาพลักษณ์และเศรษฐกิจ และผิดเงื่อนไขตามพิธีสารส่งออกผลไม้ไทยจีนถือเป็นความผิดทางอาญา

ทั้งนี้ กรมวิชาการเกษตรจะจัดทีมเฉพาะกิจอำนวยความสะดวก เร่งออกบริการคลีนิคเกษตรเคลื่อนที่ เพื่อรับขึ้นทะเบียน ต่ออายุ และปรับปรุงรหัส GAP ทั่วประเทศ  โดยระดมทีมงานจาก สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 1- 8 (สวพ. 1-8) และ กองพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าพืช (กมพ.)  รวมถึง ศูนย์วิจัยพืชสวน และศูนย์วิจัยพืชไร่ในเขตพื้นที่นั้นๆ ปูพรมทำงานตามแผนปฏิบัติงานที่ผู้บริหารกรมวิชาการเกษตรได้ประชุมร่วมกันเมื่อเดือนกันยายน ณ จังหวัดเชียงใหม่

ในวันที่ 31 ตุลาคม 2565 อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ได้ลงพื้นที่ประชุมหารือกับ นายวีรวัฒน์  จิรวงส์ นายกสมาคมสวนไม้ผลจังหวัดชุมพร  และกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ หรือ Fruit Board  นายวิโรจน์ แสงบางกา ที่ปรึกษาสมาคมสวนผลไม้จังหวัดชุมพร และตัวแทนพี่น้องเกษตรกร  รวมถึง ตัวแทนผู้ประกอบการโรงคัดบรรจุ เพื่อเตรียมความพร้อมต่างๆ สำหรับการส่งออกทุเรียนใต้สู่ประเทศจีน พร้อมมอบใบรับรอง GAP ที่ปรับปรุงรหัสใหม่ให้กับกลุ่มเกษตรกร ที่เข้าร่วมประชุม

อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ยังกล่าวว่า  ได้สั่งการให้ สวพ. เขต 7 เร่งออกใบรับรอง GAP รูปแบบใหม่ และการขึ้นทะเบียน GAP ให้กับเกษตรกรรายใหม่ เพื่อให้ทันฤดูกาลส่งออกทุเรียนภาคใต้  โดยอำนวยความสะดวกในการบริการคลีนิคเกษตรเคลื่อนที่ เพื่อรับขึ้นทะเบียน ต่ออายุ และปรับปรุงรหัส GAP ในพื้นที่จังหวัดชุมพร นครศรีธรรมราช และสุราษฎร์ธานี อาทิ อำเภอ ท่าแซะ ประทิว สวี  หลังสวน  ทุ่งตะโก ท่าศาลา นบพิตำ พนม  คีรีรัฐนิคม บ้านนาสาร เป็นต้น

สำหรับอีกหนึ่งเป้าหมายสำคัญในการลงพื้นที่ครั้งนี้ได้เน้นย้ำให้ผู้ประกอบการโรงคัดบรรจุ ตระหนักถึงการปฏิบัติตามเงื่อนไขคัดบรรจุทุเรียนสดที่มีคุณภาพมาตรฐาน เพื่อการส่งออกไปตลาดจีน ซึ่งปัจจุบันในพื้นที่จังหวัดชุมพร มีจำนวน 353 โรงคัดบรรจุ ที่ผ่านการขึ้นทะเบียนกับ กรมวิชาการเกษตรของไทย  และสำนักงานศุลกากรแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนแล้ว  พร้อมกับได้บูรณาการเข้มข้นกับผู้ว่าราชการจังหวัด และฝ่ายปกครอง เพื่อป้องกันการลักลอบตัดทุเรียนอ่อน และทุเรียนด้อยคุณภาพ รวมถึง ป้องกันการสวมสิทธิ์ทุเรียนด้วย

กรมวิชาการเกษตร ข่าว