กรมประมง เดินหน้าฝังไมโครชิพปลาบึก

308

กรมประมง เดินหน้าฝังไมโครชิพปลาบึกถอดรหัส DNA เล็งปั้นสายพันธุ์คุณภาพ พร้อมวางแนวทางศึกษาวิจัยเพาะขยายพันธุ์คงความหลากหลายก่อนสูญพันธุ์  

กรมประมง จัดทำข้อมูลรหัสประจำตัวปลาบึกอิงหลักพันธุศาสตร์พร้อมติดเครื่องหมาย (ไมโครชิพ) จำนวน 100 ตัว ณ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดเชียงราย จังหวัดเชียงราย สำหรับเป็นฐานข้อมูลระบุพันธุกรรมป้องกันการผสมพันธุ์ในสายเลือดเดียวกัน พร้อมเดินหน้าสร้างปลาบึกสายพันธุ์คุณภาพเพื่อคงความหลากหลายทางพันธุกรรมที่สามารถปรับตัวได้ดีแม้ในสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป ตลอดจนวางแนวทางบริหารจัดการปลาบึกเพื่อการอนุรักษ์ที่เหมาะสมในแม่น้ำโขงและการเพาะขยายพันธุ์เพื่อคงความหลากหลายทางพันธุกรรมอันจะนำไปสู่การต่อยอดด้านการเพาะเลี้ยงเชิงพาณิชย์ต่อไป     

นายประพันธ์  ลีปายะคุณ รองอธิบดีกรมประมง กล่าวว่า “ปลาบึก” ถือเป็นปลาน้ำจืดไม่มีเกล็ดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกจัดเป็นปลาที่อยู่กลุ่มสัตว์หายากและใกล้สูญพันธุ์ในอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์” (CITES) ในบัญชีหมายเลข 1 (Appendix I) ในประเทศไทยพบการกระจายตัวอยู่ในแม่น้ำโขงตั้งแต่จังหวัดเชียงรายจนถึงจังหวัดอุบลราชธานี กรมประมงได้ศึกษาการเพาะพันธุ์ปลาบึกจนประสบความสำเร็จด้วยวิธีผสมเทียมครั้งแรกของโลกเมื่อปี พ.ศ. 2526 ปัจจุบันกรมประมงสามารถเพาะขยายพันธ์ปลาบึก และได้นำลูกพันธุ์ปลาที่ได้กระจายให้กับหน่วยงานกรมประมงทั่วประเทศเพื่อพัฒนาต่อยอดการขยายพันธุ์ทั้งในบ่อดินและบ่อซีเมนต์เพื่อไม่ให้ปลาบึกสูญพันธุ์ไป

นายประพันธ์  ลีปายะคุณ
รองอธิบดีกรมประมง

นอกจากนี้ กรมประมงได้ให้ความสำคัญกับการนำหลักพันธุศาสตร์มาวางแผนการผสมพันธุ์ทั้งในด้านจำนวนพ่อแม่พันธุ์ วิธีการผสม การนำปลารุ่นใหม่มาทดแทนพ่อแม่พันธุ์ปลาชุดเก่า ตลอดจนควบคุมกิจกรรมในโรงเพาะฟัก และควบคุมการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมให้เป็นไปในทิศทางที่ดี หลีกเลี่ยงการผสมเลือดชิด เพื่อคงความหลากหลายทางพันธุกรรมที่มีอยู่ไว้ให้มากที่สุด โดยในปี 2565 ได้วางแนวทางเบื้องต้นในการบริหารจัดการปลาบึกเพื่อการอนุรักษ์ในแม่น้ำโขงและการเพาะขยายพันธุ์เพื่อการเพาะเลี้ยงเชิงพาณิชย์ ดังนี้  

1. วางแผนบริหารจัดการพันธุ์ปลาบึกให้เหมาะสมต่อการเพาะพันธุ์เพื่อการเพาะเลี้ยงเชิงพาณิชย์และปลาบึกที่เหมาะสมต่อการปล่อยในถิ่นกำเนิดแม่น้ำโขง

2. มอบหมายให้ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำทุกจังหวัดรวบรวมข้อมูลความหลากหลายของปลาบึกที่อยู่ในจังหวัดและรายงานให้ทราบถึงแหล่งที่มาทางพันธุกรรมของพ่อแม่พันธุ์ปลาบึก

3. มอบหมายให้กองวิจัยและพัฒนาพันธุกรรมสัตว์น้ำ กองวิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด และกองวิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด บูรณาการร่วมกันจัดทำโครงการวิจัยเกี่ยวกับปลาบึกเพื่อเสนอขอทุนวิจัยจากสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (สวก.)  

และล่าสุดเพื่อคงความหลากหลายทางพันธุกรรมของสายพันธุ์ ตลอดจนควบคุมการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมปลาบึก กรมประมงได้ดำเนินการจัดทำข้อมูลรหัสประจำตัวปลาพร้อมฝังไมโครชิพ เพื่อบันทึกเป็นฐานข้อมูลเฉพาะเกี่ยวกับตัวปลา อาทิ แหล่งที่มา เพศปลา รวมถึงการใช้ประโยชน์ร่วมกับข้อมูลเครื่องหมายพันธุกรรมเพื่อระบุคู่ผสมที่มีความแตกต่างทางพันธุกรรม ซึ่งจะนำไปสู่การจัดทำแผนการเพาะพันธุ์ปลาบึกให้คงความหลากหลายทางพันธุกรรมอย่างยั่งยืน

นายสง่า ลีสง่า  ผู้อำนวยการกองวิจัยและพัฒนาพันธุกรรมสัตว์น้ำ กล่าวเพิ่มเติมว่า การฝังไมโครชิพในครั้งนี้ กรมประมงได้ทำการฝังไมโครชิพในปลาบึกน้ำหนัก 10 – 60 กิโลกรัม จำนวน 100 ตัวที่นายเสน่ห์ ผลประสิทธิ์ อดีตผู้ทรงคุณวุฒิด้านการจัดการทรัพยากรประมง ได้มอบให้กรมประมงไว้ ณ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดเชียงราย ด้วยกระบอกฉีดพิเศษที่ไม่ก่อให้เกิดปฏิกิริยากับร่างกายสัตว์น้ำเมื่อฝังไมโครชิพเข้าไปชั้นใต้ผิวหนังหรือกล้ามเนื้อ พร้อมเก็บข้อมูลการเจริญเติบโต อาทิ น้ำหนัก ความยาวลำตัวและรอบอก ตลอดจนเก็บตัวอย่างครีบปลาบึกเพื่อใช้สำหรับตรวจสอบข้อมูลด้านดีเอ็นเอในอนาคต เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลทางพันธุกรรมก่อนกระจายไปยังหน่วยงานต่างๆ   

รองอธิบดีฯ กล่าวในตอนท้ายว่า การเพาะขยายพันธุ์ปลาบึก ความยากอยู่ที่การลำเลียงพ่อแม่พันธุ์ขึ้นมาศึกษาวิจัยโดยไม่ให้ได้รับความบอบช้ำ เนื่องจากเป็นปลาที่ตายง่ายมาก อีกทั้งแหล่งที่อยู่อาศัยในธรรมชาติเสื่อมโทรมลงทำให้ประชากรปลาบึกไม่สามารถสืบพันธุ์และเจริญเติบโตได้ทันต่อความต้องการ ส่งผลให้จำนวนประชากรปลาบึกตามธรรมชาติลดลงอย่างต่อเนื่อง นับเป็นอีกหนึ่งความตั้งใจของกรมประมงที่แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในอนุรักษ์ปลาบึกเพื่อคงไว้ในแม่น้ำโขงสืบไป

กรมประมง ข่าว