เกษตรฯ เเนะรับมือหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด

1,918

เกษตรฯ เฝ้าระวัง หนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด แนะใช้แมลงหางหนีบช่วยควบคุม

การควบคุมการระบาดของหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด ในช่วงปีที่ผ่านมา กรมส่งเสริมการเกษตร ประสบความสำเร็จมาก เนื่องจากมีการเฝ้าระวังรวมถึงการควบคุมตามมาตรการต่าง ๆ รวมทั้งแจ้งเตือนเกษตรกร และ ให้ความรู้ในการป้องกันกำจัดตามคำแนะนำที่ถูกต้อง โดยศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชน ยังช่วยผลิตแมลงศัตรูธรรมชาติเพื่อควบคุม จนสามารถควบคุมการระบาดได้ นอกจากนี้ยังแนะเกษตรกรปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ คลุกเมล็ดพันธุ์ก่อนเพาะปลูก ป้องกันการระบาดของหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุดได้

นายทวี มาสขาว รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า สำหรับการเริ่มต้นฤดูกาลปลูก ได้สั่งการให้กองส่งเสริมการอารักขาพืชและจัดการดินปุ๋ย และทุกจังหวัดที่มีพื้นที่ปลูกข้าวโพด เฝ้าระวัง และหมั่นสำรวจแปลง เพื่อควบคุมหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด และแนะนำเกษตรกรใช้ชีววิธีซึ่งเป็นวิธีการจัดการศัตรูพืชที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและนำไปสู่ความยั่งยืน  นอกจากนี้ ยังให้ ศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืช ผลิต แมลงหางหนีบ และให้ ศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชน ช่วยขยายผล ก่อนให้เกษตรกรนำไปปล่อยในแปลง เพื่อควบคุมการระบาดของหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุดต่อไป

สำหรับแมลงหางหนีบ ซึ่งเป็นกลุ่มแมลงที่ทำหน้าที่ในการย่อยสลายเศษซากพืช จึงมักพบแมลงหางหนีบอยู่ในที่ชื้น มืด และค่อนข้างอับ ตามแปลงพืชไร่ชนิดต่างๆ เช่น ไร่ข้าวโพด ไร่อ้อย โดยปกติแมลงหางหนีบจะออกหากินเฉพาะกลางคืน สามารถเคลื่อนไหวได้อย่างรวดเร็ว และหากัดกินไข่ตัวหนอน และตัวอ่อนของสัตว์ต่างๆ ที่มีขนาดเล็ก มีความสามารถในการเสาะหาเหยื่อตามซอกมุมได้ดี ซึ่งการทำลายเหยื่อที่เป็นหนอนในไร่ข้าวโพด จะใช้แพนหางที่มีลักษณะคล้ายคีมหนีบลำตัวเหยื่อแล้วกินเป็นอาหาร แต่ถ้าเป็นเพลี้ยอ่อนจะกัดกินโดยตรง โดยแมลงหางหนีบ 1 ตัว จะสามารถกินเหยื่อได้ประมาณ 20-30 ตัวต่อวัน หากแมลงหางหนีบอิ่มแล้ว และยังเจอตัวหนอนจะใช้แพนหางหนีบจนกระทั่งตัวหนอนตาย และจากไปโดยไม่กิน และจะหนีบต่อไปเรื่อยๆ เมื่อเจอหนอนตามไร่ข้าวโพด

“การรับมือหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุดที่สำคัญ คือ การป้องกันก่อนการเกิดปัญหา ดำเนินตามวิธีการ และคำแนะนำของทางราชการ หมั่นสำรวจแปลงข้าวโพดตั้งแต่เริ่มงอก อย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง ซึ่งหากพบหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด เกษตรกรจะได้รีบดำเนินการป้องกันกำจัดได้ทันท่วงที และเกษตรกรสามารถขอคำแนะนำในการป้องกันกำจัดได้ที่ศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชน (ศจช.) หรือสำนักงานเกษตรอำเภอใกล้บ้าน ให้เข้าไปช่วยดูแล และควบคุมเพื่อไม่ให้เกิดการระบาดไปในวงกว้าง การดำเนินการช่วยเหลือกันในชุมชน จะเป็นการป้องกันการระบาดของหนอนกระทู้ที่ได้ผลดี” รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าว

กรมส่งเสริมการเกษตร ข่าว