เกษตรฯ ร่วมเฝ้าระวังโรคใบร่วงชนิดใหม่ยางพารา

504

กรมส่งเสริมการเกษตร ร่วมเฝ้าระวังโรคใบร่วงชนิดใหม่ยางพารา แนะชาวสวนยางป้องกันกำจัดโรคต่อเนื่อง

นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า กรมส่งเสริมการเกษตร หน่วยงานที่มีบทบาทภารกิจส่งเสริมด้านการเกษตร ได้พิจารณาดำเนินการและติดตามสถานการณ์เกี่ยวกับโรคใบร่วงชนิดใหม่ของยางพารามาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปลายปี 2562 จนถึงปัจจุบัน โดยโรคใบร่วงชนิดใหม่ของยางพารา เป็นโรคที่สำคัญอย่างมาก เนื่องจากมีแนวโน้มจะส่งผลกระทบรุนแรงและสร้างความเสียหายต่อเกษตรกรชาวสวนยางพาราเพิ่มขึ้นในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่ปลูกยางพาราในภาคใต้และบางส่วนของภาคตะวันออก สถานการณ์ปัจจุบันพบการเกิดโรคในจังหวัดภาคใต้ ได้แก่ นราธิวาส สตูล ยะลา ปัตตานี สงขลา นครศรีธรรมราช พังงา ตรัง พัทลุง สุราษฎร์ธานี และระนอง และจังหวัดภาคตะวันออก ได้แก่ ตราด รวมกว่า 5 แสนไร่ (ข้อมูล ณ วันที่ 19 ตุลาคม 2565) ซึ่งเจ้าหน้าที่ของกรมส่งเสริมการเกษตรได้ร่วมเข้าไปดูแลในพื้นที่ดังกล่าว โดยถ่ายทอดความรู้และคำแนะนำของการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ในการป้องกันโรคใบร่วงชนิดใหม่ยางพาราแก่เกษตรกรชาวสวนยาง รวมทั้งศึกษาการใช้ชีวภัณฑ์เพื่อจัดการโรคใบร่วงชนิดใหม่ ได้แก่ การใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มา โดยศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืช จังหวัดสงขลา ร่วมกับกลุ่มอารักขาพืช สำนักงานเกษตรจังหวัดนราธิวาส จัดทำแปลงทดสอบขึ้นที่จังหวัดนราธิวาส และผลที่ได้จะสามารถนำไปใช้เป็นแนวทางจัดการโรคในพื้นที่ได้ต่อไป กรมส่งเสริมการเกษตรจึงสนับสนุนชีวภัณฑ์ให้แก่พื้นที่ที่พบโรค เพื่อใช้ในการป้องกันกำจัด นอกจากนี้ ยังได้จัดทำเอกสารทางวิชาการ เช่น แผ่นพับความรู้ทางการเกษตร และสื่อประชาสัมพันธ์เผยแพร่ผ่านช่องทางออนไลน์ด้วย

อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับปัจจัยที่มีผลต่อการแพร่กระจายของโรคใบร่วงชนิดใหม่ของยางพารา ได้แก่ สภาพอากาศมีฝนตกชุกตลอดทั้งปี ทำให้เชื้อราสาเหตุโรคสามารถแพร่ระบาดได้ง่ายโดยอาศัยลมและฝน ซึ่งพบรายงานว่า มีพืชอาศัยในบริเวณสวนยางแสดงอาการคล้ายกัน ทั้งวัชพืช พืชปลูกร่วม พืชผักสวนครัว และพืชยืนต้นอื่นๆ ในบริเวณใกล้เคียงแปลงยางที่เกิดโรค ทำให้เชื้อสาเหตุสะสมอยู่ในสภาพแวดล้อมได้มากขึ้น ดังนั้น เกษตรกรควรหมั่นสำรวจแปลงยางพาราอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะในช่วงที่มีฝนตกชุก หลีกเลี่ยงการนำกล้ายางพาราหรือวัสดุปลูกจากแหล่งที่พบการระบาดเข้าพื้นที่ กำจัดใบยางพาราที่เกิดโรคหรือวัชพืช ซึ่งอาจเป็นแหล่งสะสมหรือพืชอาศัยของเชื้อสาเหตุโรคใช้ระบบกรีดยางตามคำแนะนำของการยางแห่งประเทศไทย และบำรุงเสริมสร้างความสมบูรณ์แข็งแรงให้ต้นยางพารา เช่น การใส่ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน และใส่ให้เหมาะสมกับระยะการเจริญเติบโตของยางพาราตามคำแนะนำของการยางแห่งประเทศไทย ซึ่งการเสริมสร้างความแข็งแรงให้กับยางพารา เป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างความทนทานต่อการเข้าทำลายของโรคพืชหลายชนิดรวมถึงโรคใบร่วงยางพาราด้วย

กรณีพบต้นยางพารามีทรงพุ่มไม่สดชื่น ใบร่วง ให้ตรวจสอบอาการของโรคบนใบ ซึ่งลักษณะเริ่มแรกจะเกิดรอยช้ำค่อนข้างกลมบริเวณใต้ใบ ผิวใบด้านบนของบริเวณเดียวกันเป็นสีเหลือง ต่อมาเนื้อเยื่อบริเวณนี้จะขยายใหญ่ขึ้นเป็นสีคล้ำขอบแผลดำ และกลายเป็นเนื้อเยื่อแห้ง สีน้ำตาลจนถึงขาวซีด รูปร่างแผลค่อนข้างกลม มีจำนวนจุดแผลมากกว่า 1 จุดบนใบ อาจเจริญลุกลามซ้อนกันเป็นแผลขนาดใหญ่ หากพบโรคใบร่วงชนิดใหม่ของยางพารา สามารถใช้ชีวภัณฑ์ควบคุมเชื้อราสาเหตุโรคที่สะสมอยู่ในดิน โดยใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มาเพื่อกำจัดและควบคุมเชื้อราสาเหตุที่ยังคงมีชีวิตอยู่บนใบยางพาราที่ร่วงหล่นบริเวณพื้น สำหรับการหว่าน ใช้เชื้อสด 1 กิโลกรัม ผสมปุ๋ยอินทรีย์ 100 กิโลกรัม และรำ 4 กิโลกรัม อัตรา 5 – 7 กิโลกรัมต่อต้น หรือสำหรับการฉีดพ่น ให้ใช้เชื้อสด 1 กิโลกรัม ผสมน้ำหรือน้ำผสมน้ำหมักชีวภาพ 200 ลิตร อัตรา 5 – 7 ลิตรต่อต้น ทั้งนี้ ควรหว่านหรือฉีดพ่นให้เชื้อราไตรโคเดอร์มาครอบคลุมบนใบยางพาราที่ร่วงหล่นทั่วทั้งสวน ติดต่อกันอย่างต่อเนื่องทุก 3 เดือน หากพบต้นยางพาราเกิดโรคในแปลงเป็นจำนวนมาก ให้ฉีดพ่นสารเคมีกำจัดโรคพืชที่มีประสิทธิภาพตามคำแนะนำของการยางแห่งประเทศไทยและกรมวิชาการเกษตร ได้แก่ difenoconazole + propiconazole 15%+15% EC อัตรา 15 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ propinap หรือ mancozeb หรือ chlorothalonil อัตราผสม 50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ hexaconazole (5% a.i.) อัตราผสม 30 – 40 ซีซีต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ propiconazole (25% a.i.) อัตราผสม 10 – 15 ซีซีต่อน้ำ 20 ลิตร โดยฉีดพ่นพุ่มใบยางจากใต้ทรงพุ่มอัตรา 100 ลิตรต่อไร่ ควรเริ่มพ่นเมื่อยางพาราแตกใบใหม่หลังฤดูกาลผลัดใบปกติ และใบอยู่ในระยะเพสลาด คือระหว่างช่วงเดือนมีนาคม – เมษายน

กรมส่งเสริมการเกษตร ข่าว