เกษตรฯ พร้อมจัดการผลไม้ภาคตะวันออก ปี 66

403

กรมส่งเสริมการเกษตรเร่งเตรียมพร้อมบริหารจัดการผลไม้ภาคตะวันออก ปี 66 ตั้งแต่ต้นฤดูกาล

นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในฐานะประธานคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ (Fruit Board) รับทราบสรุปผลการบริหารจัดการผลไม้ปี 2565 ประจำฤดูกาลผลิตที่ 2/2565 (กรกฎาคม – ตุลาคม 2565) ซึ่งได้นำเสนอในการประชุมคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ (Fruit Board) ครั้งที่ 4/2565 เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2565 โดยผลการบริหารจัดการสามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพตามแผนบริหารจัดการ เน้นให้เกษตรกรเพิ่มคุณภาพการผลิตอย่างต่อเนื่อง ดังนี้ ผลไม้ภาคเหนือ (ลำไย) ในภาพรวมแม้ว่าลำไยมีศักยภาพทางการค้าลดลง แต่การบริหารจัดการลำไยในช่วงพีคปีที่ผ่านมาสามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ และแนวโน้มการผลิตและมูลค่าการค้าลำไยคุณภาพเกรด AA+A อยู่ในเกณฑ์ดีและมีปริมาณเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีปริมาณสูงสุดในปี 2565 โดยในแต่ละปีภาคเหนือมีมูลค่าการค้าลำไยคุณภาพเกรด AA+A ได้เฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 4,000 ล้านบาท ซึ่งจะเห็นได้ว่า เกษตรกรภาคเหนือสามารถเพิ่มคุณภาพการผลิตลำไยได้อย่างต่อเนื่อง และมีศักยภาพการผลิตสูง

สำหรับ ผลไม้ภาคใต้ (ทุเรียน มังคุด เงาะ ลองกอง) ทุเรียน มีแนวโน้มการเติบโตของราคาอยู่ในเกณฑ์ดีมาก โดยในรอบ 4 ปีที่ผ่านมา ทุเรียนภาคใต้ยังคงรักษาระดับราคาได้ดี และมีศักยภาพทางการค้าสูงมาก ราคาทุเรียนเกรด A เฉลี่ยตลอดฤดูกาลในแต่ละปี จะราคาไม่ต่ำกว่า 100 บาทต่อกิโลกรัม และราคาทุเรียนเกรด A ในช่วงพีคในแต่ละปี ไม่ต่ำกว่า 80 บาทต่อกิโลกรัม มังคุด ในปี 2565 มูลค่าการค้ามังคุดภาคใต้ในปีที่ผ่านลดลง เนื่องจากประสบปัญหาด้านศักยภาพทางการผลิตลดลงจากภัยธรรมชาติในช่วงพัฒนาผล เงาะ ก็มีแนวโน้มการเติบโตของราคาอยู่ในเกณฑ์ดีมาก โดยราคาเงาะเกรด A ในช่วงพีค ในแต่ละปีไม่ต่ำกว่า 20 บาทต่อกิโลกรัม โดยในรอบ 4 ปีที่ผ่านมา เงาะภาคใต้ยังรักษาระดับราคาได้ดี และมีศักยภาพทางการค้าสูงมาก ส่วน ลองกอง มีแนวโน้มการเติบโตของราคาอยู่ในเกณฑ์ปานกลาง ราคาลองกองเกรด A ในช่วงพีค ในแต่ละปีไม่ต่ำกว่า 20 บาทต่อกิโลกรัม โดยในปี 2565 มีราคาสูงกว่าราคาเฉลี่ยตลอดฤดูกาล

อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวอีกว่า สำหรับแนวทางการดำเนินงานบริหารจัดการผลไม้ภาคตะวันออก ปี 2566 ซึ่งขณะนี้เป็นช่วงเริ่มต้นฤดูกาลผลิต ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงได้มีข้อสั่งการให้กรมส่งเสริมการเกษตรร่วมกับกรมวิชาการเกษตร ดำเนินการตามมาตรการป้องกันปัญหาการตัดทุเรียนอ่อนอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง เพื่อไม่ให้ส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์ทุเรียนส่งออกของประเทศไทย กรมส่งเสริมการเกษตรจึงได้เตรียมพร้อมบริหารจัดการผลไม้ภาคตะวันออก ปี 66 ตั้งแต่ต้นฤดูกาล โดยมอบหมายให้สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3 จังหวัดระยอง จัดการประชุมแนวทางควบคุมคุณภาพทุเรียนภาคตะวันออก ปี 2566 ร่วมกับกรมวิชาการเกษตร และสมาคม /สมาพันธ์เกษตรกรในพื้นที่  เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา เพื่อสรุปสถานการณ์/ปัจจัยสำเร็จ และผลการดำเนินงานปี 2565 รวมทั้งหารือมาตรการ/แนวทางดำเนินการ ปี 2566 ดังนี้ 1) ปัจจัยความสำเร็จ อาทิ การลงปฏิบัติการออกตรวจเป็นทีม โดยมีหน่วยงานความมั่นคงและปกครองเป็นแนวร่วม และมีผู้สื่อข่าวร่วมด้วย เน้นควบคุมเข้มที่จังหวัดตราด เนื่องจากจะมีผลผลิตออกก่อน หากมีปัญหาทุเรียนอ่อน จะส่งผลทางจิตวิทยาต่อตลาด และเกษตรกรในจังหวัดจันทบุรี และระยองไปด้วย มีเครือข่ายและสายข่าวแจ้งเบาะแสทุเรียนอ่อนติดตามและรายงานในระดับพื้นที่ จัดอบรมมือคัดและมือตัดทุเรียนเพื่อสร้างมาตรฐานและความเข้าใจร่วมกัน และการกำหนดวันเก็บเกี่ยวทุเรียนภาคตะวันออก 4 สายพันธุ์ เป็นต้น  2) ผลการดำเนินงานปี 2565 โดยภาพรวมผลการสุ่มตรวจในโรงคัดบรรจุ ทั้งหมด 2,153 ตัวอย่าง  ตรวจพบทุเรียนอ่อน 221 ตัวอย่าง ดำเนินคดีทางกฎหมาย จำนวน 3 ราย รวมทั้งการให้บริการตรวจวัดคุณภาพทุเรียนให้เกษตรกร 5,813 ราย จำนวน 8,095 ตัวอย่าง ผ่านเกณฑ์ 5,006 ตัวอย่าง ไม่ผ่านเกณฑ์ 3,089 ตัวอย่าง  3) มาตรการและแนวทางทุเรียนคุณภาพภาคตะวันออก ปี 2566 อาทิ จะดำเนินการตามแนวทาง ปี 2565 เน้นความเข้มข้นให้มากขึ้น และกำหนดวันเก็บเกี่ยวทุเรียนจำแนกตามสายพันธุ์และเป็นรายจังหวัด การยกระดับมาตรฐานคุณภาพทุเรียน สร้างแบรนด์ “GOLD/STAR”  ทุเรียนตะวันออก เป็นการยกระดับความสุกแก่การเก็บเกี่ยวทุเรียนหมอนทองอยู่ที่ 35 %  และดำเนินการในพันธุ์การค้าอื่นเช่นกัน โดยให้เกษตรกรมีการจดบันทึกวันดอกบาน (วันที่ดอกบานมากที่สุดของรุ่น)  เป็นต้น

“ขณะนี้เป็นช่วงต้นฤดูกาลผลิตทุเรียนภาคตะวันออก กรมส่งเสริมการเกษตรจึงได้เน้นย้ำให้เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องทั้งในส่วนของสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3 จังหวัดระยอง สำนักงานเกษตรจังหวัดตราด สำนักงานเกษตรจังหวัดจันทบุรี และสำนักงานเกษตรจังหวัดระยอง ดำเนินการประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับมาตรการและแนวทางทุเรียนคุณภาพภาคตะวันออก ปี 2566 ให้กับเกษตรกรอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกษตรกรสามารถปฏิบัติตนได้อย่างถูกต้อง และเตรียมพร้อมร่วมปฏิบัติภารกิจกับหน่วยงานภาคีอย่างเต็มกำลังความสามารถ รวมทั้งช่วยประสานงานกับกรมวิชาการเกษตรในการให้บริการตรวจวัดเปอร์เซ็นต์แป้งในเนื้อทุเรียนและออกใบรับรองให้เกษตรกรตามแนวทางที่กำหนดอย่างเข้มงวดต่อไป” อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวทิ้งท้าย

กรมส่งเสริมการเกษตร ข่าว