เกษตรฯ เเนะป้องกันกำจัดโรครากเน่าโคนเน่าทุเรียน

901

กรมส่งเสริมการเกษตร เตือนชาวสวนทุเรียนสำรวจพื้นที่ปลูกหลังฝนชุก-น้ำลด แนะวิธีป้องกันกำจัดโรครากเน่าโคนเน่าทุเรียน

นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า จากสถานการณ์ฝนตก ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมขังในหลายพื้นที่ และมีความชื้นในอากาศสูง ซึ่งเป็นสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการแพร่ระบาดของโรคพืช กรมส่งเสริมการเกษตรแนะนำให้เกษตรกรหมั่นสำรวจแปลงเพาะปลูกอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะไม้ผล เช่น ทุเรียน ไม่ควรปล่อยให้มีน้ำท่วมขังในสวน หากมีน้ำท่วมขังควรรีบระบายออก โดยหลังสถานการณ์ฝนตกชุกหรือน้ำลดเมื่อดินในสวนเริ่มแห้งแล้วจึงเข้าสำรวจสวน โดยตรวจวิเคราะห์ดิน และปรับสภาพดินไม่ให้เหมาะสมต่อการเกิดโรค ปรับสภาพดินให้มีค่าความเป็นกรด-ด่างของดินประมาณ 6.5 กรณีที่ดินเป็นกรดจัด ให้ใส่ปูนขาวหรือโดโลไมท์ อัตรา 100 – 200 กิโลกรัมต่อไร่ พร้อมทั้งปรับปรุงดินโดยใส่ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก ซึ่งโรครากเน่าโคนเน่าในทุเรียนหากเชื้อเข้าทำลายที่ราก เริ่มแรกจะเห็นใบที่ปลายกิ่งมีสีซีดไม่เป็นมันเงา เหี่ยวลู่ลง ต่อมาใบจะเหลืองและหลุดร่วง หากขุดดูรากจะพบรากฝอยมีลักษณะเปลือกล่อน และเปื่อยยุ่ยเป็นสีน้ำตาล เมื่อเชื้อโรคลุกลามไปลำต้นเกิดจุดฉ่ำน้ำ มีเมือกไหลเยิ้ม เนื้อไม้เป็นสีน้ำตาลแดง หากเชื้อโรคเข้าทำลายที่ใบโดยตรง ใบดำช้ำตายนึ่ง คล้ายน้ำร้อนลวกต่อมาใบไหม้และแห้งคาต้น หากติดเชื้อที่ผลจะทำให้ผลเน่า โดยมีแนวทางการป้องกัน คือ หลีกเลี่ยงการทำให้รากหรือลำต้นเกิดแผล ซึ่งจะเป็นช่องทางให้เชื้อราสาเหตุโรคเข้าทำลายได้ง่าย หรือใช้เชื้อราปฏิปักษ์ เช่น เชื้อราไตรโคเดอร์มา ช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืชและควบคุมปริมาณเชื้อสาเหตุโรคพืชในดิน โดยใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มา 1 กิโลกรัมผสมรำข้าว 4 กิโลกรัม ปุ๋ยหมัก 100 กิโลกรัม คลุกเคล้าให้เข้ากัน ใช้เป็นเชื้อตั้งต้นในการควบคุมโรคพืช โรยรอบโคนต้นตามรัศมีทรงพุ่มประมาณ 5 กิโลกรัมต่อต้น หรือประมาณ 80 – 100 กิโลกรัมต่อไร่ หรือหลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว ควรตัดแต่งกิ่งเป็นโรค กิ่งแห้ง และตัดขั้วผลที่ค้างอยู่ไปทำลายนอกแปลงปลูกเพื่อลดการสะสมของเชื้อสาเหตุโรค

อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวอีกว่า หากพบต้นที่ใบเริ่มมีสีซีด ไม่เป็นมันเงาหรือใบเหลืองหลุดร่วง สามารถใช้สารเคมีในการป้องกันกำจัด ได้แก่ ฟอสโฟนิก แอซิด 40% SL ผสมน้ำสะอาด อัตรา 1:1 ใส่กระบอกฉีดยาฉีดเข้าลำต้น อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อต้น และ/หรือราดดินด้วยฟอสอีทิล-อะลูมิเนียม 80% WP หรือ เมทาแลกซิล 25% WP อัตรา 30 – 50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร กรณีพบส่วนของใบ ดอก และผลที่เป็นโรค ควรตัดแต่งส่วนที่เป็นโรคไปทำลายนอกแปลงปลูก แล้วพ่นด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืช เช่น เมทาแลกซิล 25% WP หรือ ฟอสอีทิล-อะลูมิเนียม 80% WP อัตรา 30 –  50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร ให้ทั่วทรงพุ่ม และไม่นำเครื่องมือตัดแต่งที่ใช้กับต้นเป็นโรคไปใช้ต่อกับต้นปกติ โดยควรทำความสะอาดเครื่องมือก่อนนำไปใช้ใหม่ทุกครั้ง สำหรับอาการโรคบนกิ่งหรือที่โคนต้น แนะนำให้ถากหรือขูดผิวเปลือกบริเวณที่เป็นโรคออก แล้วทาแผลด้วยฟอสอีทิลอะลูมิเนียม 80% WP อัตรา 80 – 100 กรัม หรือ เมทาแลกซิล 25% WP อัตรา 50 – 60 กรัมต่อน้ำ 1 ลิตร ทุก 7 วัน จนกว่าแผลจะแห้ง หรือใช้ฟอสโฟนิก แอซิด 40% SL ผสมน้ำสะอาด อัตรา 1:1 ใส่กระบอกฉีดยา ใช้อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อต้น ฉีดเข้าลำต้นหรือกิ่งในบริเวณตรงข้ามอาการโรค หรือส่วนที่เป็นเนื้อไม้ดีใกล้บริเวณที่เป็นโรค ทั้งนี้ ทุเรียนที่เป็นโรครุนแรงมาก หรือยืนต้นตาย ควรขุดออกแล้วนำไปทำลายนอกแปลงปลูกแล้วตากดินไว้ระยะหนึ่งจึงปลูกทดแทน โดยสามารถขอคำแนะนำเพิ่มเติมได้ที่เจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรอำเภอ หรือสำนักงานเกษตรจังหวัดใกล้บ้าน  

กรมส่งเสริมการเกษตร ข่าว