การคั่วเม็ดกาหยูแบบโบราณ เกาะพยาม สู่สินค้า GI

738

การคั่วเม็ดกาหยูแบบโบราณ เกาะพยาม….มรดกจากภูมิปัญญาพื้นบ้านพัฒนาต่อยอดสู่การขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI)

ตำบลเกาะพยาม เป็นตำบลหนึ่งในอำเภอเมืองระนอง ตั้งอยู่ในทะเลฝั่งอันดามัน ประกอบด้วย 2 หมู่บ้านคือ หมู่ที่ 1 บ้านเกาะพยาม และหมู่ที่ 2 บ้านเกาะช้าง เกาะพยามเป็นเกาะที่ใหญ่เป็นอันดับที่ 2 ของจังหวัดระนอง (รองจากเกาะช้าง) เป็นเกาะที่มีความหลากหลายของระบบนิเวศ มีสัตว์ต่าง ๆ อาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก เช่น นกเงือก นกอินทรีย์ ตอนกลางของเกาะมีลักษณะพื้นที่เป็นภูเขา ป่าไม้ บางส่วนได้ถูกปรับเปลี่ยนเป็นพื้นที่ปลูกยางพารา พืชอัตลักษณ์ที่มีการปลูกมากบนเกาะพยามคือ มะม่วงหิมพานต์ ซึ่งชาวบ้านบนเกาะจะเรียกว่า “กาหยู” จังหวัดระนอง มีพื้นที่ปลูกกาหยูจำนวนกว่า 6,000 ไร่ เฉพาะในพื้นที่ตำบลเกาะพยามมีพื้นที่ปลูก 1,713 ไร่ กรมส่งเสริมการเกษตร จึงได้สนับสนุนให้เกษตรกรรวมกลุ่มเป็นแปลงใหญ่ และส่งเสริมให้เกษตรกรหันกลับมาปลูกพันธุ์ดั้งเดิมอย่าง พันธุ์เกาะพยาม ซึ่งเป็นพันธุ์ที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ นอกจากนี้ยังสนับสนุนการต่อยอดภูมิปัญญา “การคั่วเม็ดกาหยูแบบโบราณ” ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ที่อยู่คู่ชุมชนมาอย่างยาวนาน ซึ่งปัจจุบันมีการรวมกลุ่มเป็นวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวเชิงเกษตรชุมชนเกาะพยาม

นายอนุชา ยาอีด ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา กล่าวว่า กรมส่งเสริมการเกษตร โดยสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา กองวิจัยและพัฒนางานส่งเสริมการเกษตร และสำนักงานเกษตรจังหวัดระนอง บูรณาการการทำงานเพื่อพัฒนาและต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่น การคั่วเม็ดกาหยูแบบโบราณและการคั่วเม็ดกาหยูด้วยข้าวสาร ซึ่งทำให้มีกลิ่นหอมตามธรรมชาติจนได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติเป็นอย่างมาก การคั่วเม็ดกาหยูแบบโบราณ มีวิธีการคั่ว 2 แบบ ดังนี้

1. การคั่วเม็ดกาหยูแบบโบราณ

  •  ก่อไฟด้วยเศษไม้หรือทางมะพร้าว แล้วเติมเปลือกเม็ดกาหยูที่ได้จากการกะเทาะหลังคั่วแล้วลงไปจนไฟลุกในเปลือก เม็ดกาหยูจะมีน้ำมันสูงจึงทำให้ติดไฟง่าย ทำให้ได้ไฟที่แรงขึ้น
  • วางกระบะสแตนเลสลงบนเตา ใส่เม็ดกาหยูลงไปพอประมาณ
  • ใช้ไม้คนไปเรื่อย ๆ ประมาณ 5 – 6 นาที จะมีน้ำมันออกจากเม็ดกาหยู หลังจากนั้นไฟจะลามลุกไหม้เผาเม็ดกาหยูในกระบะ น้ำมันจากเม็ดกาหยูที่โดนไฟร้อน ๆ จะแตกประทุออกมาเคลือบเมล็ดเอาไว้ เป็นผลให้สามารถกักเก็บความกรอบ หอม มัน ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่สัมผัสได้ไม่เหมือนกับการคั่วรูปแบบอื่น ๆ จากนั้นคนต่อไปอีก 1-2 นาที
  • คว่ำกระบะลงพื้น ใช้กิ่งไม้ตีไฟจนดับสนิท
  • ทิ้งไว้จนเย็น แล้วจึงนำไปกะเทาะเปลือกที่คั่วออก จะได้เมล็ดที่ล่อนจากเปลือก
  • นำเม็ดกาหยูที่กะเทาะเปลือกแล้วเข้าไปอบที่อุณหภูมิ 200 – 300 องศาฟาเรนไฮต์ (ประมาณ 93 – 149 องศาเซลเซียส) นาน 20 นาที แล้วยกลงจากเตาอบแล้วทิ้งไว้ให้เย็น ก็จะได้เม็ดกาหยูหอมกรุ่น รสชาติหวานมัน พร้อมบรรจุถุงเพื่อจำหน่าย

2. วิธีการคั่วเม็ดกาหยูด้วยข้าวสาร

  • นำเม็ดกาหยูที่แก่เต็มที่ไปตากแดด 4 – 5 วัน
  • นำเม็ดกาหยูมาต้มในน้ำเดือดประมาณ 15 – 20 นาที แล้วนำไปตากแดดอีก 1 แดด เพื่อให้เม็ดแห้งสนิท หลังจากนั้นนำมากะเทาะเปลือกออกโดยใช้เครื่องกะเทาะ
  • คั่วพร้อมข้าวสารในกระทะด้วยไฟอ่อน ๆ ประมาณ 2 ชั่วโมง จนเปลือกล่อนออกมา ก็จะได้เม็ดกาหยูที่หอมกรุ่น พร้อมบรรจุถุงเพื่อจำหน่าย

จากข้อมูลภูมิปัญญาดังกล่าว สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา และสำนักงานเกษตรจังหวัดระนอง และหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้อง จึงได้ร่วมกันกำหนดแนวทางการส่งเสริมการใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น การอนุรักษ์พันธุ์พืชพื้นถิ่นและฟื้นฟูวิถีชีวิตที่เป็นเอกลักษณ์ของชุมชน ผ่านกิจกรรมการพัฒนาต่อยอดองค์ความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านการเกษตร ซึ่งได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2564 ผ่านการจัดเวทีชุมชนโดยเจ้าหน้าที่ของกรมส่งเสริมการเกษตรร่วมกับเกษตรกรสมาชิกของวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวเชิงเกษตรชุมชนเกาะพยาม ร่วมกันวิเคราะห์สภาพแวดล้อมและศักยภาพของกลุ่ม เพื่อนำไปสู่การกำหนดเป้าหมายและแนวทางการพัฒนาที่มาจากความต้องการของเกษตรกรสมาชิก โดยสามารถสรุปออกมาในรูปแบบแผนงานโครงการของชุมชน ประกอบด้วย

  1. โครงการส่งเสริมการปลูกพืชแซมในสวนกาหยู (สวนมะม่วงหิมพานต์)
  2. โครงการพัฒนาคุณภาพผลผลิตและบรรจุภัณฑ์ให้ได้มาตรฐาน
  3. โครงการส่งเสริมการบริหารจัดการกลุ่มอย่างเข้มแข็ง
  4. โครงการส่งเสริมการขอรับรองพันธุ์กาหยูเกาะพยาม เพื่อขึ้นทะเบียนเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indications : GI)

เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2565 เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องจากสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา กองวิจัยและพัฒนางานส่งเสริมการเกษตร สำนักงานเกษตรจังหวัดระนอง และสำนักงานเกษตรอำเภอเมืองระนอง ลงพื้นที่ติดตามการพัฒนาต่อยอดองค์ความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านการเกษตรเพื่อเสริมสร้างอัตลักษณ์พื้นถิ่น ประจำปี 2566 ณ ที่ทำการกลุ่มเกษตรกร หมู่ 1 ตำบลเกาะพยาม อำเภอเมืองระนอง จังหวัดระนอง ซึ่งเป็นปีที่ 3 ของการดำเนินการโครงการ โดยการจัดเวทีชุมชน กิจกรรมประกอบด้วย

  1. การทบทวนผลการจัดเวทีชุมชนที่ได้ดำเนินการเมื่อปีงบประมาณ 2564-2565
  2. เกษตรกรต้นแบบและประธาน ศพก.จังหวัดระนอง ดาบตำรวจสมนึก โมราศิลป์ ร่วมพูดคุยและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ตลอดจนแนวทางในการส่งเสริมและพัฒนาการเกษตร
  3. การจัดเวทีชุมชนเพื่อระดมความคิดเห็นและความต้องการในการพัฒนาของชุมชน ซึ่งเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบโครงการฯ จะนำความต้องการไปจัดทำเป็นแผนงานโครงการและกิจกรรมต่าง ๆ รวมถึงประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป ในการจัดเวทีครั้งนี้ทางชุมชนให้ความสำคัญและเน้นหนักไปที่การพัฒนาต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่นสู่การขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indications : GI) โดยมีการอธิบายความหมายของ GI ตราสัญลักษณ์ ขั้นตอนการขอขึ้นทะเบียน และประโยชน์ที่จะได้รับจากการขึ้นทะเบียน GI รวมถึงแนวทางการต่อยอดสู่ระบบมรดกทางการเกษตร

นายอนุชา ยาอีด ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า แผนงานโครงการของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวเชิงเกษตรชุมชนเกาะพยาม ที่ได้จากการจัดเวที ในส่วนของกรมส่งเสริมการเกษตร สนับสนุนงบประมาณในการจัดทำบรรจุภัณฑ์และสลากบรรจุภัณฑ์ นอกจากนี้ยังสามารถนำไปเชื่อมโยงกับแผนงานของหน่วยงานภาครัฐ เอกชน หรือหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องเข้ามาช่วยในการพัฒนากลุ่ม อาทิเช่น สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย อำเภอเมืองระนอง และองค์การบริหารส่วนตำบลเกาะพยาม ได้จัดงานวันกาหยูเกาะพยาม ซึ่งเป็นงานประจำปีของเกาะพยาม กิจกรรมต่าง ๆ อาทิเช่น การประกวดเมล็ดกาหยูคุณภาพ การแข่งขันคั่วกาหยูโบราณ การแข่งขันกะเทาะกาหยู และการประกอบอาหารจากผลกาหยู ในส่วนผลิตภัณฑ์ของกลุ่มสามารถติดต่อได้ที่ Facebook : ท่องเที่ยวเชิงเกษตร เกาะพยาม หรือที่กลุ่มวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวเชิงเกษตรชุมชนเกาะพยาม หมู่ที่ 1 ตำบลเกาะพยาม อำเภอเมืองระนอง จังหวัดระนอง 85000 โทรศัพท์ 096-9002072

กรมส่งเสริมการเกษตร ข่าว