ประกาศผล โครงการคัดเลือกเกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิด ประจำปี พ.ศ. 2565 ครั้งที่ 14 ภายใต้แนวคิด “เกษตรนวัตกรรม เพื่อความสุขยั่งยืน“
มูลนิธิร่วมด้วยช่วยกันสำนึกรักบ้านเกิด ผนึกกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และดีแทค (dtac) จัดโครงการคัดเลือกเกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิด ประจำปี พ.ศ. 2565 ครั้งที่ 14 ภายใต้แนวคิด “เกษตรนวัตกรรม เพื่อความสุขยั่งยืน” พร้อมประกาศผลรางวัลเกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิดดีเด่น ตามเป้าหมายอุดมการณ์สำนึกรักบ้านเกิด มุ่งมั่นตอบแทนคุณแผ่นดิน เป็นต้นแบบของเกษตรกร รวมถึงผู้ที่ต้องการประกอบอาชีพเกษตรกร
คุณบุญชัย เบญจรงคกุล ประธานกรรมการมูลนิธิร่วมด้วยช่วยกันสำนึกรักบ้านเกิด กล่าวในฐานะผู้ริเริ่มโครงการว่า มูลนิธิร่วมด้วยช่วยกันสำนึกรักบ้านเกิด ได้สร้างกิจกรรมที่มีประโยชน์ต่อสังคมและประเทศไทยมากว่า 23 ปี ภายใต้ 3 กิจกรรมหลัก ได้แก่ โครงการสำนึกรักบ้านเกิดที่ช่วยสนับสนุนด้านการศึกษาให้แก่บัณฑิตต้นกล้าสำนึกรักบ้านเกิดกว่า 1,000 คน และกิจกรรมร่วมด้วยช่วยกัน กิจกรรมเพื่อสังคม ผ่านเจ้าหน้าที่อาสาสมัครกว่า 4,000 คน ทั่วประเทศ และโครงการคัดเลือกเกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิด ซึ่งปีนี้เป็นปีที่ 14 ซึ่งปัจจุบันมีเครือข่ายเกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิดประสบความสำเร็จในอาชีพเกษตรกรจำนวนมาก
โดยมูลนิธิร่วมด้วยช่วยกันสำนึกรักบ้านเกิด มุ่งมั่นที่จะสร้างเมล็ดพันธุ์ที่ดีให้กับแผ่นดินไทย จึงน้อมนำและดำเนินตามรอยพระราชดำริของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ตามหลัก “เศรษฐกิจพอเพียง” ผสมผสานกับ “เกษตรทฤษฎีใหม่” มาเป็นหลักในโครงการคัดเลือกเกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิดทุกปี เพื่อยกย่องประกาศเกียรติคุณเกษตรกรต้นแบบต่อสาธารณชน ให้ได้เป็นที่รู้จักและเป็นแบบอย่างที่ดี ส่งเสริมให้เกษตรกรสามารถพึ่งพาตนเองได้ และก้าวเดินต่อไปข้างหน้าอย่างมั่นคง
ในปี 2565 นี้ โครงการประกวดเกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิด ได้ดำเนินการภายใต้แนวคิด “เกษตรนวัตกรรม เพื่อความสุขยั่งยืน” เพื่อสนับสนุนเกษตรกรที่มีแนวความคิดการปฏิบัติด้านนวัตกรรมเกษตร และการใช้องค์ความรู้ต่างๆ มาพัฒนาต่อยอดเพื่อเพิ่มมูลค่าให้ผลผลิต รวมไปถึงการพึ่งพาตนเอง สู่การสร้างความมั่นคงและยั่งยืนแก่คุณภาพชีวิตของตนเอง ชุมชน และสังคม
นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลักภาคการเกษตรของประเทศ มีจุดมุ่งหมายสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร เพื่อบรรลุวิสัยทัศน์ “เกษตรกรมั่นคง ภาคการเกษตรมั่งคั่ง ทรัพยากรการเกษตรยั่งยืน” มีเป้าประสงค์ให้เกษตรกรหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง มีคุณภาพชีวิตที่ดี เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ต่อปี โดยมีกรมส่งเสริมการเกษตร เป็นหน่วยงานร่วมขับเคลื่อนการดำเนินงานในภาพรวมตามแผนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ใน 3 เป้าหมายหลัก ได้แก่
เกษตรกรมั่นคง พัฒนาองค์ความรู้ให้แก่เกษตรกรสู่ความเป็น Smart Farmers
ภาคการเกษตรมั่งคั่ง ส่งเสริมและสนับสนุนภาคการเกษตรในการเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน โดยขับเคลื่อนการวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าเกษตร มุ่งสู่เกษตร 4.0
ทรัพยากรการเกษตรยั่งยืน การบริหารจัดการทรัพยากรการเกษตรอย่างยั่งยืน สอดคล้องกับ SDGs (Sustainable Development Goals) และส่งเสริมการทำการเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมการทำเกษตรกรรมยั่งยืน อาทิ เกษตรอินทรีย์ เกษตรทฤษฎีใหม่ เกษตรผสมผสาน
โดยการดำเนินงานของกรมส่งเสริมการเกษตรต้องมี “ภาคีเครือข่าย” ในการบูรณาการ การดำเนินงานส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกรกับทุกภาคส่วน รวมถึงการจัดกิจกรรม ภายใต้แนวคิด “เกษตรนวัตกรรม เพื่อความสุขยั่งยืน” นี้ เป็นบทบาทที่สำคัญในการส่งเสริม สนับสนุน พัฒนาองค์ความรู้ เทคโนโลยีเกษตรสมัยใหม่ และเชิดชูเกษตรกรที่มีศักยภาพในการเป็นเกษตรกรต้นแบบ สร้างแรงจูงใจให้กับคนรุ่นใหม่ที่สนใจในอาชีพเกษตรยุคใหม่ ทำให้เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดี สามารถพึ่งพาตนเอง และสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน
คุณชารัด เมห์โรทรา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ลแอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค กล่าวว่า ผมได้มีโอกาสเข้าร่วมเป็นผู้แทนจากดีแทค 2 ครั้ง ในงานประกาศรางวัลเกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิดที่จัดต่อเนื่องกันว่าเป็นปีที่ 14 ดีแทคเราเชื่อว่า Without farmers, no country can progress. ซึ่งสุขภาพของภาคการเกษตรสามารถบอกถึงสุขภาพของระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย ตลาดอาหารสุขภาพ และพืชผลเกษตรอินทรีย์เพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่าร้อยละ 44.46 ต่อปี และมีมูลค่าการส่งออกถึง 5,345.33 ล้านบาท ได้แก่ ข้าว ทุเรียน มังคุด มะพร้าวอ่อน น้ำกะทิ และใบชาเขียว และตลาดส่งออกสินค้าเกษตรอินทรีย์ที่สำคัญ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา อิตาลี จีน และสวิตเซอร์แลนด์
“ดีแทค ในฐานะ corporate citizenship ที่มุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ ยังยืนยันในเจตนารมย์ดังกล่าว ที่จะช่วยส่งเสริมภาคการเกษตรด้วยทรัพยากรที่เรามี ให้คนไทย และโดยเฉพาะผู้ประกอบการในภาคการเกษตร โดยใช้ดิจิทัลเทคโนโลยีและการเชื่อมต่อเพื่อสร้างโอกาสและแสวงหาความเป็นไปได้ใหม่ๆ ในการดำเนินชีวิต” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ดีแทค กล่าว
นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า กรมส่งเสริมการเกษตรได้ดำเนินการขับเคลื่อนการดำเนินงานในภาพรวมตามแผนปฏิบัติราชการ ระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2566 – 2570) ตามวิสัยทัศน์ที่ว่า “เกษตรกรมีความเข้มแข็ง มีคุณภาพชีวิตที่ดี และมีรายได้เพิ่มขึ้น”
โดยโครงการคัดเลือกเกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิด ในปี พ.ศ. 2565 เป็นการจัดประกวดครั้งที่ 14 ภายใต้แนวคิด “เกษตรสร้างสรรค์ สุขยั่งยืน” เพื่อสนับสนุนเกษตรกรที่มีศักยภาพในการเป็นต้นแบบ มีแนวคิดและการปฏิบัติด้านนวัตกรรมและการใช้องค์ความรู้ต่างๆ มาพัฒนาต่อยอด เพื่อเพิ่มมูลค่าให้ผลผลิต รวมถึงการพึ่งพาตนเอง สู่การสร้างความมั่นคงและยั่งยืนแก่คุณภาพชีวิตของตนเอง สังคม และชุมชน และที่สำคัญที่สุด เกษตรกรต้องมีจิตสำนึกรักบ้านเกิด
ทั้งนี้เกษตรกรทั้ง 10 ท่าน ที่ได้รับการคัดเลือกเข้ามาปีนี้ มีผลงานที่สร้างสรรค์ มีประโยชน์ สามารถเป็นแนวทางให้กับผู้ประกอบอาชีพเกษตรกร พัฒนาต่อยอด และยังเป็นแรงขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงของภาคการเกษตร ในอนาคตต่อไปได้ อีกทั้งยังมีความสำคัญยิ่งในการเป็นต้นแบบ สร้างแรงบันดาลใจให้กับเกษตรกรรุ่นใหม่ ที่ยึดแนวทางวิถีเกษตรอินทรีย์ เพื่อเกษตรกรรมที่ยั่งยืนส่งต่อสุขภาพที่ดีให้กับผู้บริโภค
เกษตรกรที่ได้รับรางวัลในปี 2565 ประกอบด้วย
รางวัลชนะเลิศ คุณประเสริฐ ไกนอก เกษตรกรจากโกโก้นางั่ว จังหวัดเพชรบูรณ์ เกษตรกรผู้ใช้นวัตกรรมทางความคิด ปรับ Mind set เพื่อสร้างระบบนิเวศ ให้ทั้งคนและต้นไม้ อยู่ในสิ่งแวดล้อมได้ด้วยตัวเอง ทำการเกษตรที่ลดต้นทุนและยั่งยืน
“จากแนวคิดที่ไม่อยากให้รุ่นลูกรุ่นหลานที่ทำเกษตร ต้องเจอสภาวะเหมือนอดีต ไม่หลุดพ้นจากวงจรหนี้สิน ที่ผูกพันไปเรื่อยๆ จากการปลูกพืชเลื่อนลอย จึงนำไปสู่การใช้นวัตกรรมทางความคิด ปรับ Mind set เพื่อสร้างระบบนิเวศ ให้ทั้งคนและต้นไม้ อยู่ในสิ่งแวดล้อมได้ด้วยตัวเอง ทำการเกษตรที่ลดต้นทุนและยั่งยืน เกิดการรวมกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่กลับมาอยู่บ้านเกิด ก่อตั้งเป็น “วิสาหกิจชุมชนกลุ่มโกโก้นางั่ว” ปลูกและรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกร มาทำเป็น “คราฟท์ช็อกโกแลต ออริจิ้น เพชรบูรณ์” นำเทคโนโลยีมาใช้ทำการตลาด เช่น การจำหน่ายสินค้าผ่านระบบออนไลน์ การประชาสัมพันธ์กลุ่มผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย และช่องทางการให้ความรู้ผ่าน YouTube ในชื่อช่อง Cacao Hub”
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 คุณจตุรงค์ จันมา เกษตรกรจากสวนนำฮอย จังหวัดยโสธร เกษตรกรนักคิดค้น พัฒนา นำไปสู่การทำเกษตรอินทรีย์โดยใช้นวัตกรรมเครื่องจักรกลทางการเกษตร ในกระบวนการผลิตข้าวตั้งแต่เริ่มปลูกจนเก็บเกี่ยวผลผลิต
“จากปัญหาสุขภาพ ที่เกิดจากการรับประทานข้าว ผัก ผลไม้ ที่ใส่ปุ๋ยเคมี และยาฆ่าแมลงมาอย่างยาวนาน จึงเกิดความคิดที่อยากจะชักชวนพ่อแม่ พี่น้อง หันมาทำเกษตรอินทรีย์ เหมือนในสมัยก่อน จนกลายเป็น “กลุ่มเกษตรอินทรีย์ดงแคนใหญ่” ปลูกข้าวไร้สารพิษ เน้นปฏิบัติในแปลงตั้งแต่ต้นปี โดยการไถกลบต่อฟางข้าว หว่านหรือปลูกพืชปุ๋ยสด เพิ่มแร่ธาตุสารอาหารในดิน รวมถึงการนำนวัตกรรมในการคัดทำความสะอาดเมล็ดพันธุ์ข้าว ใช้แทรกเตอร์ในการไถเตรียมดิน นำเทคโนโลยีการดำนากลีบเดียว และส่งเสริมให้สมาชิกในกลุ่มผลิตน้ำหมักชีวภาพ และสารชีวภัณฑ์ เพื่อใช้ในการบำรุง และเร่งการเจริญเติบโต ช่วยลดต้นทุนการผลิต เพิ่มผลผลิต ตลอดจนได้ผลผลิตที่สะอาด ปลอดภัย และเป็นมิตรต่อพื้นที่ปลูก”
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 คุณธนาสิทธิ์ สอนสุภา สวนลุงไข่ เกษตรอินทรีย์ จังหวัดชุมพร หนุ่มไอทีผู้ผันตัวเองเป็นเกษตรกรเต็มตัว สานต่อสวนกาแฟจากคุณพ่อ นำนวัตกรรมเทคโนโลยีมาปรับใช้ พร้อมแบ่งปันความรู้สู่ชุมชน พึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน
“จากการประกอบอาชีพด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) สู่การกลับบ้านเพื่อไปอยู่กับพ่อแม่ ผันตัวเองเป็นเกษตรกรเต็มตัว สานต่อจากคุณพ่อที่ปลูกกาแฟสายพันธุ์โรบัสต้า พัฒนาผลผลิตให้มีคุณภาพ ใช้เครื่องซักผ้าในการปั่นล้างผลกาแฟ รวมถึงใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่ อย่างเครื่องสีกาแฟสด เครื่องล้างขัดเมือก เครื่องสีกะลา ตู้อบพลังงานแสงอาทิตย์ พร้อมนำความรู้ที่มีมาแบ่งปันคนในชุมชน และสามารถกำหนดราคากาแฟเองได้ ไม่ต้องผ่านคนกลาง เพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกกาแฟให้มีรายได้เพิ่มขึ้น สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างมั่นคง มีความสุข และยั่งยืนต่อไป”
เกษตรกรดีเด่น
1. ธวัชชัย สุริยะธรรม เกษตรกรจากสยามทรัส (Siam Trust) จังหวัดเลย
2. จักรภพ แสงแก้ว เกษตรกรจากพรานพอเพียง ออร์แกนิค ไลฟ์สไตล์ แอนด์ ฟาร์ม จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
3. นที โดดสูงเนิน เกษตรกรจากอำพันฟาร์ม จังหวัดนครราชสีมา
4. ชัยพิสิษฐ์ สอนศรี เกษตรกรจากมายโฮม@41 จังหวัดฉะเชิงเทรา
5. พิธาน ไพโรจน์ เกษตรกรจากไร่นาปภาวรินทร์ จังหวัดสุรินทร์
6. วาริส แก้วภักดี เกษตรกรจากกรีนวิลล์ฟาร์ม จังหวัดฉะเชิงเทรา
7. อมลวรรณ ปริดตา เกษตรกรจากอิมม์ฟาร์ม จังหวัดลำพูน