เกษตรฯ รุกงานส่งเสริมการเกษตรพื้นที่ชายแดนใต้

343

กรมส่งเสริมการเกษตร รุกงานส่งเสริมการเกษตรพื้นที่ชายแดนใต้

พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งประกอบไปด้วยจังหวัดนราธิวาส ปัตตานี ยะลา และจังหวัดสงขลา 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอจะนะ เทพา นาทวี  และอำเภอสะบ้าย้อย เป็นพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีการบูรณาการภารกิจของหน่วยงานต่าง ๆ โดยมีกระทรวงมหาดไทยเป็นหน่วยงานเจ้าภาพหลัก กำหนดกรอบ ทิศทางและเป้าหมายการพัฒนาและการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ซึ่งเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่และอาชีพของประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ ด้วยความห่างไกล ทุรกันดาร จึงทำให้มีความรู้สึกเหลื่อมล้ำ เช่น การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการเข้าถึงบริการของภาครัฐไม่ทั่วถึง มีปัญหาความยากจน มีการปลูกพืชเชิงเดี่ยว อาศัยพึ่งพารายได้จากทางเดียว เกิดปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำ อีกทั้งมีภัยพิบัติซ้ำซาก ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของประชาชน และการแก้ไขปัญหาและการพัฒนาชายแดนภาคใต้มีความซับซ้อนและเปราะบาง จากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ชายแดนภาคใต้

กรมส่งเสริมการเกษตร ร่วมขับเคลื่อนการดำเนินงานการแก้ไขปัญหาในมิติการพัฒนา โดยมีเป้าหมายเพื่อแก้ไขปัญหาด้านการพัฒนาอาชีพ สร้างรายได้เพิ่มจากภาคการเกษตรในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้มีรายได้เพิ่มขึ้นและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ผ่านโครงการส่งเสริมการเกษตรในพื้นที่ บูรณาการงบประมาณจากงบปกติของกรมส่งเสริมการเกษตร งบพัฒนาจังหวัดและงบกลุ่มจังหวัด ร่วมกับงบบูรณาการแก้ไชปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เป็นหน่วยงานหลักในการประสานขับเคลื่อนการดำเนินงาน โดยน้อมนำแนวทางพระราชทาน “เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา” และศาสตร์ของพระราชาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มาเป็นแนวทางการดำเนินงาน ทั้งนี้ เพื่อยกระดับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรชายแดนใต้ให้ดีขึ้น มีความมั่นคง และร่มเย็นเป็นปกติสุข การส่งเสริมด้านต่าง ๆ ในภาคการเกษตรในจังหวัดชายแดนภาคใต้ การขับเคลื่อนนอกจากพัฒนาให้ความรู้ เพิ่มทักษะวิชาชีพแก่เกษตรกรแล้วยังมองไปถึงการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ ความหวาดระแวง โดยสร้างความเข้าใจอันดีและการยอมรับต่อภาครัฐด้วย

กรมส่งเสริมการเกษตร โดยสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา เน้นย้ำให้ทุกจังหวัดชายแดนภาคใต้ การดำเนินงานพัฒนาและแก้ไขปัญหาในพื้นที่แบบองค์รวม โดยการพัฒนาคนหรือเกษตรกร พร้อมๆ ไปกับการพัฒนาพื้นที่และสินค้าเกษตร ขับเคลื่อนผ่านนโยบายหลักของกรมส่งเสริมการเกษตร คือ แนวทางการส่งเสริมการเกษตรเชิงพื้นที่ ซึ่งยึดหลักการพัฒนาเชิงพื้นที่ (Area Approach) เริ่มต้นจากการวิเคราะห์พื้นที่เป้าหมายให้ครอบคลุมทั้งในมิติของคน พื้นที่และสินค้า ในระดับพื้นที่ชุมชน ให้เกิดผลสำเร็จในภาพรวม ประกอบด้วย

  1. Area หรือ พื้นที่ เป็นการจัดพื้นที่ให้เหมาะสม วิเคราะห์ผ่านเวทีชุมชน ให้ชุมชนได้ร่วมคิด วิเคราะห์ ตัดสินใจและลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง
  2. Commodity เป็นการจัดสินค้าให้เหมาะสมกับพื้นที่ โดยการกำหนดแนวทางการบริหารจัดการ กำหนดทางเลือกอย่างชัดเจน ปรับเปลี่ยนชนิดพืชในเขตพื้นที่ที่ไม่เหมาะสม และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตในเขตที่เหมาะสม ให้เกิดผลสัมฤทธิ์ตามหลักบริหารจัดการพื้นที่ (Zoning) คือพื้นที่เพิ่มประสิทธิภาพ พื้นที่ปรับเปลี่ยน พื้นที่ไร่นาสวนผสม การส่งเสริมให้เกษตรกรผลิตพืชผักปลอดภัยจากสารพิษ ตามหลักปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืชอาหาร (Good Agricultural Practice : GAP) ที่เป็นมาตรฐานการผลิตที่ครอบคลุม ตั้งแต่การใช้ปัจจัยการผลิต ขั้นตอนการผลิต การเก็บเกี่ยวผลผลิต และการปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยว ด้วยการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพมาตรฐาน
  3. Farmer คือคนหรือเกษตรกร ซึ่งเป็นผู้ผลิตสินค้า ให้เกษตรกรมีความรู้ความสามารถและมีทักษะในการทำการเกษตรอย่างถูกต้อง ช่วยแก้ปัญหาในการทำการเกษตรที่มีศักยภาพ สามารถลงมือปฏิบัติจนประสบความสำเร็จได้ จึงจะสามารถพัฒนาและยกระดับด้านเศรษฐกิจการเกษตรไปพร้อมกันด้วย

การขับเคลื่อนโครงการส่งเสริมด้านการเกษตรในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ สำคัญๆ ได้แก่ โครงการส่งเสริมการดำเนินงานโครงการอันเนื่องมาจากพราชดำริ โครงการพัฒนาอาสาสมัครเกษตรหมู่บ้าน โครงการพัฒนาเกษตรกรปราดเปรื่อง เกษตรกรรุ่นใหม่ เกษตรกรสูงวัย และโครงการเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพกลุ่มยุวเกษตรกร โครงการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืน โครงการระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร โครงการศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร โครงการยกระดับคุณภาพมาตรฐานสินค้าเกษตร เพื่อเพิ่มศักยภาพสินค้าให้มีคุณภาพ ได้รับการรับรองมาตรฐาน เป็นที่ยอมรับ สร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภค ทำให้ผลผลิตและผลิตภัณฑ์มีราคาที่สูงขึ้น มีแปลงเกษตรที่ได้รับมาตรฐาน GAP มาตรฐานอินทรีย์ และการรับรองเป็นสินค้า GI โครงการขึ้นทะเบียนและปรับปรุงทะเบียนเกษตรกร เพื่อจัดการข้อมูลด้านการเกษตร และเพื่อให้เกษตรกรได้รับการสนับสนุนหรือช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงทีหากเกิดภัยพิบัติ โครงการส่งเสริมและพัฒนาวิสาหกิจชุมชน ซึ่งช่วยสร้างความเข้มแข็งให้แก่กลุ่มและชุมชน

โครงการพัฒนาตามศักยภาพของพื้นที่ ที่มุ่งสร้างแปลงต้นแบบเกษตรผสมผสาน ครอบคลุมทั้ง 37 อำเภอ และยังสร้างอย่างต่อเนื่องให้ครบครอบคลุมทุกตำบล 282 ตำบลในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อให้มีเกษตรกรที่เชี่ยวชาญงานเกษตร เป็นแปลงตัวอย่างให้ชุมชนได้เรียนรู้ เป็นแหล่งผลิตอาหารของครัวเรือน สร้างภูมคุ้มกันด้านอาหาร เพราะมีผลผลิตหลากหลายตลอดปี มีอาหารปลอดภัยและรายได้ที่มั่นคง มีความเอื้อเฟื้อเกื้อกูล และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน นอกจากนี้ ยังมีการส่งเสริมด้านการตลาดสินค้าเกษตร ผ่านโครงการตลาดเกษตรกร และตลาดเกษตรกรออนไลน์ ซึ่งในปี 2565 มีสินค้าของเกษตรกรชายแดนภาตใต้จำหน่ายบนเว็บไซต์ตลาดเกษตรกรออนไลน์ ของกรมส่งเสริมการเกษตร มูลค่ารวม 5,178,156 บาท คิดเป็น 16% ของยอดขายรวมทั้งประเทศ  และยังมียอดสั่งซื้อ/สั่งจองที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นด้วยโดยเฉพาะผลไม้ ซึ่งเป็นที่ชื่นชอบของผู้บริโภค

กรมส่งเสริมการเกษตร โดยสำนักส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา ยังคงขับเคลื่อนการดำเนินงานส่งเสริมการเกษตรในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ โดยมุ่งพัฒนาทุกมิติอย่างต่อเนื่อง ผ่านสำนักงานเกษตรจังหวัดทั้ง 4 จังหวัด และสำนักงานเกษตรอำเภอทั้ง 37 อำเภอ มีเจ้าหน้าที่รับผิดชอบดูแลประจำตำบลทุกตำบล ร่วมกับอาสาสมัครเกษตรประจำตำบลและอาสาสมัครเกษตรประจำหมู่บ้าน เพื่อให้เข้าถึงพื้นที่ เข้าถึงชุมชน อย่างเข้าใจ และเกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไป

กรมส่งเสริมการเกษตร ข่าว