ชริมพ์บอร์ดเคาะ!!! แผนเร่งฟื้นฟูกุ้งทะเล 4 แสนตัน ปี 66

283

ประธานและคณะกรรมการชริมพ์บอร์ดทำแผนฟื้นฟูผลผลิตกุ้งทะเลเร่งด่วน ตอบรับนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์…มั่นใจปีนี้ได้แน่ 4 แสนตัน!!

          เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 12 มกราคม 2566 เวลา 13.30 น. ณ ห้องประชุมพะยูน อาคารจุฬาภรณ์ ชั้น 7 กรมประมง นายเฉลิมชัย  สุวรรณรักษ์ อธิบดีกรมประมง พร้อมด้วย นายประพันธ์  ลีปายะคุณ รองอธิบดีกรมประมง คณะกรรมการชริมพ์บอร์ด ผู้แทนกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ และผู้เกี่ยวข้อง ได้ร่วมประชุมคณะกรรมการฯ ครั้งที่ 1/2566 โดยประเด็นพิจารณาหลัก คือ (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านกุ้งทะเล ปี พ.ศ. 2566 ซึ่งยกร่างโดยคณะทำงานจัดทำแผนปฏิบัติการด้านกุ้งทะเล ปี พ.ศ. 2566 ภายใต้การกำกับดูแลของชริมพ์บอร์ดให้สอดคล้องและเป็นไปตามนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยมีเป้าหมายในการฟื้นฟูผลผลิตกุ้งทะเลของประเทศไทยให้ได้ 400,000 ตัน ภายในปีนี้

นายเฉลิมชัย  สุวรรณรักษ์
อธิบดีกรมประมง

          นายเฉลิมชัย  สุวรรณรักษ์ อธิบดีกรมประมง ประธานชริมพ์บอร์ด เปิดเผยว่า แผนปฏิบัติการด้านกุ้งทะเลฉบับนี้ เป็นแผนเร่งด่วนที่จะดำเนินการในปี 2566 โดยมีวัตถุประสงค์ในการฟื้นฟูผลผลิตกุ้งทะเลให้ได้ 400,000 ตัน ซึ่งชริมพ์บอร์ดได้เห็นชอบ (ร่าง) แผนปฏิบัติการฯ ตามที่คณะทำงานฯ ยกร่างเสนอ และได้มีข้อเสนอแนะเพิ่มเติมเพื่อให้แผนปฏิบัติการฯ มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น โดยแผนปฏิบัติการฯ ประกอบด้วยกลยุทธ์หลัก 3 กลยุทธ์ ได้แก่ กลยุทธ์การส่งเสริมด้านการตลาด กลยุทธ์การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตกุ้งทะเล และกลยุทธ์แนวทางป้องกันแก้ไขปัญหาด้านโรคกุ้งทะเล ซึ่งมีกิจกรรมที่ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมกุ้งทะเลตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ภายใต้นโยบาย “ตลาดนำการผลิต” อาทิ การส่งเสริมการบริโภคกุ้งภายในประเทศและต่างประเทศ การประกันราคารับซื้อ การส่งเสริมความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับหลักเกณฑ์และกฎระเบียบของการส่งออกกุ้งทะเล การส่งเสริมการใช้ลูกพันธุ์ที่มีคุณภาพและเหมาะสมกับศักยภาพการผลิตการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการเพาะเลี้ยงกุ้งทะเล การสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งทุนการแก้ไขปัญหาโรคกุ้งทะเลในระดับโรงเพาะฟัก/ โรงอนุบาลและฟาร์มเลี้ยง การอบรม/ ให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคกุ้งทะเล คลินิกเคลื่อนที่ และการส่งเสริมให้มีห้องปฏิบัติการเอกชนเพื่อให้บริการตรวจโรคสัตว์น้ำ เป็นต้น ซึ่งชริมพ์บอร์ดได้แต่งตั้งคณะทำงานเพิ่มเติม 2 คณะ ได้แก่ คณะทำงานแก้ไขปัญหาโรคกุ้งทะเล และคณะทำงานคัดเลือกสายพันธุ์กุ้งทะเลให้เหมาะสมในแต่ละพื้นที่ เพื่อร่วมขับเคลื่อนการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการฯ ข้างต้น ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

อธิบดีกรมประมง กล่าวทิ้งท้ายว่า การฟื้นฟูผลผลิตกุ้งทะเลของประเทศไทยในครั้งนี้ มีจุดเริ่มต้นที่ดี โดยมีแผนงานที่เกิดจากผู้มีส่วนได้เสียร่วมกันยกร่างและให้ความคิดเห็น แต่แผนงานดังกล่าวยากที่จะสำเร็จหากขาดการขับเคลื่อนงานจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง จึงหวังว่าเราคนกุ้งจะร่วมมือกันฟื้นฟูผลผลิตกุ้งไทยได้สำเร็จในปีนี้

กรมประมง ข่าว