เตรียมพร้อมชิมลิ้นจี่ค่อม ของดีเมืองสมุทรสงคราม

352

เตรียมพร้อมชิมลิ้นจี่ค่อม ของดีเมืองสมุทรสงคราม เกษตรแนะชาวสวนเน้นดูแลผลิตช่วงแทงช่อดอก หลังประสานกลุ่มผู้เลี้ยงผึ้งช่วยผสมเกสร

นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ลิ้นจี่ค่อมเป็นพืชเศรษฐกิจหลักของจังหวัดสมุทรสงคราม ได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) มีเกษตรกรผู้ปลูกลิ้นจี่ จำนวน 1,954 ครัวเรือน พื้นที่ปลูก จำนวน 5,160 ไร่ โดยในปี 2566 นี้ คาดว่าผลผลิตจะออกสู่ตลาดในช่วงกลางเดือนเมษายน 2566 เนื่องจากสภาพอากาศหนาวเย็นต่ำกว่า 20 องศาเซลเซียสต่อเนื่องกันในช่วงเดือนธันวาคม 2565 – 20 มกราคม 2566 จึงส่งผลให้ต้นลิ้นจี่มีการแทงช่อดอกในหลายพื้นที่ กรมส่งเสริมการเกษตร โดยสำนักงานเกษตรจังหวัดสมุทรสงคราม ได้มีการสำรวจสถานการณ์การออกดอกลิ้นจี่ค่อมจังหวัดสมุทรสงคราม ปี 2566 แล้ว พบว่าลิ้นจี่มีการออกดอกประมาณร้อยละ 90 ของพื้นที่ปลูกทั้งหมด หรือประมาณ 4,644 ไร่ และคาดว่าดอกลิ้นจี่เริ่มบานตั้งแต่ปลายเดือนมกราคม 2566 เป็นต้นไป ขึ้นอยู่กับสภาพภูมิอากาศ หากเกิดฝนตกหรือหมอกลงจัดในช่วงดอกลิ้นจี่บานก็จะทำให้ปริมาณผลผลิตลดลง ซึ่งในแต่ละปีจะมีผลผลิตลิ้นจี่สมุทรสงครามออกสู่ตลาดจำนวนไม่มาก ถือเป็นผลไม้ที่หารับประทานยากชนิดหนึ่ง ดังนั้น เพื่อช่วยเพิ่มอัตราการติดผลของลิ้นจี่ สำนักงานเกษตรจังหวัดสมุทรสงครามจึงได้ประสานงานกับกลุ่มผู้เลี้ยงผึ้งจากจังหวัดต่าง ๆ เช่น ชุมพร สุราษฎร์ธานี เชียงใหม่ เป็นต้น ให้นำผึ้งเข้ามาเลี้ยงในพื้นที่สวนลิ้นจี่ เพื่อช่วยผสมเกสร โดยกลุ่มผู้เลี้ยงผึ้งได้เริ่มวางรังผึ้งไปแล้วในหลายพื้นที่ ตั้งแต่วันที่ 21 มกราคม ที่ผ่านมา เช่น ตำบลแควอ้อม ตำบลสวนหลวง ตำบลเหมืองใหม่ อำเภออัมพวา และตำบลบางสะแก อำเภอบางคนที เป็นต้น

นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง
อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร

อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า ลิ้นจี่ค่อมสมุทรสงครามมีจุดเด่น เมื่อแก่จัดจะมีสีแดงเข้ม เปลือก มีหนามตั้งหรือหนามแหลมห่างเสมอกันทั้งลูกและไม่เป็นกระจุก หนังตึงหรือเปลือกหนังตึง กรอบ เมื่ออยู่บนต้นจะมีสีแดงเข้ม เมื่อเก็บแล้วจะมีสีคล้ายน้ำหมาก เนื้อเต่ง หรือมีเนื้อหนากรอบ สีขาวอมชมพูเรื่อ ๆ เนื้อแห้ง ไม่แฉะ รสชาติ หวาน หวานอมฝาด กลิ่นหอม แต่ผลผลิตลิ้นจี่จะมีออกสู่ตลาดไม่มาก ขึ้นอยู่กับสภาพภูมิอากาศ ซึ่งในปีนี้อากาศเย็นนาน จึงเหมาะที่ต้นลิ้นจี่จะออกดอกในระดับดี ทำให้ชาวสวนส่วนใหญ่มีความหวัง เนื่องจากว่าลิ้นจี่สมุทรสงคราม เป็นผลไม้ที่ทำให้เกษตรกรมีรายได้เป็นกอบเป็นกำ ทางสำนักงานเกษตรจังหวัดสมุทรสงคราม จึงได้ลงพื้นที่ไปให้คำแนะนำในการดูแลต้นลิ้นจี่ช่วงออกดอกจนถึงการเก็บเกี่ยวผลผลิต พร้อมทั้งได้สร้างความเข้าใจร่วมกับเกษตรกรเกี่ยวกับข้อปฏิบัติในระหว่างที่กลุ่มผู้เลี้ยงผึ้งนำผึ้งมาช่วยผสมเกสรลิ้นจี่ในพื้นที่ โดยได้ขอความร่วมมือให้เกษตรกรผู้ปลูกลิ้นจี่ฉีดพ่นสารเคมีป้องกันและกำจัดแมลงศัตรูลิ้นจี่ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 20 มกราคม 2566  หรือหากมีความจำเป็นที่จะฉีดพ่นสารเคมีป้องกัน และกำจัดแมลงศัตรูลิ้นจี่หลังวันที่ 20 มกราคม 2566 ให้เลือกใช้กลุ่มสารเคมีที่ไม่เป็นพิษแก่ผึ้ง เช่น อะมิทราซ (สารกำจัดไรศัตรูพืช) กำมะถันผง (สารกำจัดไรศัตรูพืช) ฯลฯ

ทั้งนี้ กรมส่งเสริมการเกษตรมีคำแนะนำเกษตรกรชาวสวนลิ้นจี่ในการดูแลลิ้นจี่ช่วงระยะออกดอก ดังนี้ 1) เมื่อเริ่มเห็นตาดอกถึงก่อนดอกบาน 7 วัน ให้ฉีดพ่นสารป้องกันกำจัดไรกำมะหยี่และแมลงศัตรูพืช ผสมฮอร์โมน จิบเบอร์ลาริน อัตรา 2 – 3 หยด/น้ำ 20 ลิตร (1 ปี๊บ) ผสมธาตุอาหารเสริมแคลเซียม – โบร่อน (ตามคำแนะนำ) เพื่อช่วยให้แทงช่อดอกได้เร็วขึ้น และช่วยให้เกสรสมบรูณ์ขึ้น จำนวน 1 – 2 ครั้ง 2) ฉีดพ่นปุ๋ยทางใบ สูตร 10-52-17 อัตรา 100 กรัม/น้ำ 20 ลิตร (ช่วยบำรุงดอก) 3) ออกดอกร้อยละ 50 เริ่มรดน้ำจากปริมาณน้อยไปมาก หยุดให้น้ำช่วงดอกบาน ส่วนการดูแลลิ้นจี่หลังดอกบาน 1) ออกดอกร้อยละ 50 เริ่มรดน้ำจากปริมาณน้อยไปมาก หยุดให้น้ำช่วงดอกบาน 2) ช่วงดอกบาน ห้ามฉีดพ่นสารเคมี 3) หลังดอกโรยให้เริ่มรดน้ำอย่างสม่ำเสมอ โดยรดจากปลายทรงพุ่มลิ้นจี่ ปริมาณน้ำจากน้อยไปหามาก 4)  หลังดอกโรยขนาดผลเท่าเม็ดถั่วเขียว ให้สำรวจแมลงศัตรูพืช ถ้าพบให้ฉีดพ่น (ล้างช่อดอก) ด้วยสาร ป้องกันกำจัดแมลง(หนอน)  เช่น บิวเวอร์เรีย และ สารกำจัดเชื้อรา 5) ขนาดผลเท่าเม็ดถั่วเขียว ใส่ปุ๋ยอินทรีย์อัตรา 20-50  กก./ต้น และใส่ปุ๋ยทางดินสูตร 25-7-7 หรือสูตรเสมอ เช่น 16-16-16 อัตรา 1-3 กก./ต้น (ปุ๋ยเคมีแนะนำให้แบ่งใส่ 2-3 ครั้ง ห่างกัน 7-10 วัน) 6) เพื่อให้ผลขนาดใหญ่ควรฉีดพ่นปุ๋ยทางใบสูตร 30-20-10 ผสมคลิเลทที่มีแคลเซียม -โบร่อน และ ผสมฮอร์โมน NAA (ช่วยให้ขั้วเหนียว) 3 หยด/น้ำ 20 ลิตร (1 ปี๊บ) 7) รดน้ำสม่ำเสมอ ควรคลุมโคนลิ้นจี่ด้วยใบไม้แห้งหรือวัชพืช เพื่อรักษาความชื้นในดิน 8) หมั่นสำรวจแมลงศัตรูพืชอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะหนอนเจาะขั้วลิ้นจี่ ถ้าพบให้ป้องกันกำจัด เช่น ใช้เชื้อราบิวเวอร์เรีย หรือใช้สารเคมีในอัตราที่แนะนำ 9) ช่วงก่อนเข้าสี ควรฉีดพ่นสารป้องกันหนอนเจาะขั้ว (ช่วงการระบาดของหนอนเจาะขั้ว) 10) เพื่อเพิ่มคุณภาพ (ความหวาน) ควรใส่ปุ๋ยสูตร13-13-21 อัตรา 1-3 กก.ต่อต้น และควรฉีดพ่นปุ๋ยทางใบสูตร 10-20-30  ผสมคลิเลทที่มีแคลเซียม-โบร่อน 11) ห่อผล เมื่อลิ้นจี่เข้าสีเต็มที่ ก่อนเก็บเกี่ยวประมาณ 20 วัน และ 12) เก็บเกี่ยวลิ้นจี่ เมื่อลิ้นจี่อายุ 110 วัน หลังแทงช่อดอก และลิ้นจี่มีร่องชาติเต็ม 

กรมส่งเสริมการเกษตร ข่าว