พัฒนาชีวภัณฑ์เมตาไรเซียมปราบด้วงแรด ปั๊มรูปแบบใหม่อัดเม็ดพร้อมใช้
กรมวิชาการเกษตร ลุยต่อยอดงานวิจัยผลิตชีวภัณฑ์ราเขียวเมตาไรเซียม โชว์แบบใหม่อัดเม็ดพร้อมใช้สะดวก สลายตัวได้ง่าย คุมคุณภาพผลิตภัณฑ์ได้ดีกว่าเชื้อสด ยืดอายุเก็บรักษาผลิตภัณฑ์ได้นานเป็นปี ยันประสิทธิภาพปราบด้วงแรดศัตรูร้ายทำลายมะพร้าวเทียบเท่าใช้เชื้อสด รุดจดอนุสิทธิบัตรแล้ว
นางสาวเสริมสุข สลักเพ็ชร์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ราเขียวเมตาไรเซียมเป็นจุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพในการใช้ควบคุมแมลงศัตรูพืชได้หลายชนิด ปัจจุบันสำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร ได้คัดเลือก ราเขียวเมตาไรเซียมสายพันธุ์ DOA-M5 ที่มีความจำเพาะเจาะจงในการเข้าทำลายด้วงแรด ซึ่งเป็นศัตรูสำคัญในมะพร้าวและพืชตระกูลปาล์ม โดยราเขียวสามารถทำลายด้วงแรดได้ทั้งในระยะตัวหนอน ดักแด้ และตัวเต็มวัย โดยที่ ผ่านมากรมวิชาการเกษตรได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีการใช้ราเขียวเมตาไรเซียมในรูปแบบเชื้อสดที่เลี้ยงในธัญพืช ซึ่งสามารถเลี้ยงขยายได้ง่าย แต่มีข้อเสียเรื่องระยะเวลาในการเก็บรักษาซึ่งไม่สามารถเก็บเชื้อไว้ได้นาน และไม่สามารถควบคุมคุณภาพของเชื้อได้ เนื่องจากการเก็บรักษาเชื้อจำเป็นต้องเก็บในที่เย็นเพื่อรักษาประสิทธิภาพของเชื้อ
ดังนั้นเพื่อแก้ปัญหาและต่อยอดงานวิจัยดังกล่าว สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช จึงได้ศึกษาการผลิตชีวภัณฑ์เชื้อราเขียวเมตาไรเซียม โดยพัฒนาขบวนการผลิตเพื่อให้ได้เชื้อราบริสุทธิ์ในปริมาณมาก ที่สามารถควบคุมคุณภาพและประสิทธิภาพของเชื้อราให้ได้มาตรฐาน รวมทั้งพัฒนารูปแบบของผลิตภัณฑ์เพื่อนำไปผลิตในเชิงอุตสาหกรรมที่สะดวกต่อการนำไปใช้ในรูปแบบอัดเม็ด ซึ่งมีข้อดีกว่าเชื้อสด คือ สามารถควบคุมคุณภาพและประสิทธิภาพของชีวภัณฑ์ราเขียวเมตาไรเซียมที่ผลิตขึ้นได้ ยืดอายุการเก็บรักษาได้นานขึ้น สะดวกในการขนส่ง เกษตรกรนำไปใช้ได้ง่าย และผลิตภัณฑ์ยังมีการสลายตัวได้ง่ายเมื่อได้รับความชื้น โดยสามารถหว่านลงพื้นที่เพื่อลดการระบาดของด้วงแรดในแหล่งขยายพันธุ์ ซึ่งการใช้เชื้อรูปแบบอัดเม็ดสะดวกต่อการหว่านลงในพื้นที่แทนการโรยเชื้อผงลงดิน หรือการผสมน้ำพ่น
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ชีวภัณฑ์เมตาไรเซียมรูปแบบเชื้อสดอัดเม็ดสามารถเก็บรักษาได้นานเป็นปี โดยเก็บในถุงอลูมิเนียมฟอยด์ในระบบสุญญากาศ และเก็บภายใต้อุณหภูมิ 7-8 องศาเซลเซียส ยังคงคุณภาพและมีประสิทธิภาพในการควบคุมด้วงแรดได้เหมือนการใช้เชื้อสด ไม่เปลืองพื้นที่ในการเก็บรักษา สะดวกในการขนส่งและการนำไปใช้ ไม่ต้องระวังในเรื่องการเสื่อมคุณภาพและการฟุ้งกระจายเชื้อในระหว่างขนส่งและการนำไปใช้ และยังสามารถควบคุมคุณภาพเชื้อได้ ทราบปริมาณเชื้อที่ใช้ในพื้นที่ได้แน่นอน ซึ่งกรมวิชาการเกษตรได้ยื่นขอจดอนุสิทธิบัตร “ชีวภัณฑ์เชื้อราเขียวเมตาไรเซียมรูปแบบเชื้อสดอัดเม็ด” และได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตชีวภัณฑ์เชื้อราเขียวเมตาไรเซียมรูปแบบเชื้อสดอัดเม็ดให้ภาคเอกชนนำไปดำเนินการขยายผลผลิตภัณฑ์สู่เกษตรกรแล้ว ผู้ที่สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร โทร 0-2 579-7580 ต่อ 133, 134
กรมวิชาการเกษตร ข่าว