เกษตรฯ เตือน! ระวังด้วงงวงเจาะเมล็ดมะม่วง

510

กรมส่งเสริมการเกษตร แนะ “ชาวสวนมะม่วง” หมั่นสำรวจดูแลแปลงปลูกระยะออกดอก-ติดผล ป้องกันด้วงงวงเจาะเมล็ดมะม่วงสร้างความเสียหายแก่ผลผลิต

นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ช่วงนี้เป็นช่วงที่ต้นมะม่วงในหลายพื้นที่อยู่ในระยะออกดอกและติดผลอ่อน โดยจะพร้อมเก็บเกี่ยวเพื่อจำหน่ายได้ในช่วงเดือนเมษายนที่จะถึงนี้ กรมส่งเสริมการเกษตรขอแนะนำให้เกษตรกรหมั่นสำรวจแปลงบริเวณใต้ต้น ลำต้น และช่อดอก เนื่องจากเป็นช่วงที่ตัวเต็มวัยของด้วงงวงเจาะเมล็ดมะม่วงจะออกจากแหล่งหลบซ่อนมายังช่อดอกมะม่วงเพื่อหาอาหารและผสมพันธุ์ในรอบปี โดยหลังจากผสมพันธุ์ ประมาณ 3-4 วัน จะเริ่มวางไข่ที่ผลอ่อนของมะม่วง ซึ่งตัวเต็มวัยเพศเมียจะกัดผิวมะม่วงเป็นแผลขนาดเล็กและวางไข่ หลังจากนั้นจะขับถ่ายของเหลวออกมาเพื่อปิดผิวมะม่วงบริเวณที่วางไข่แล้ว เมื่อไข่ฟักเป็นตัวหนอนจะชอนไชเข้าไปกัดกินเมล็ดมะม่วงและเจริญเติบโตอยู่ภายในเมล็ดจนกระทั่งเป็นตัวเต็มวัย ทั้งนี้ ร่องรอยการเข้าทำลายของด้วงงวงเจาะเมล็ดมะม่วงจะสังเกตได้ยากขึ้นเมื่อผลมะม่วงมีขนาดใหญ่ ช่องแผล หรือร่องรอยการทำลายจะปิดสนิทและเชื่อมติดกัน จนกระทั่งไม่สามารถมองเห็นได้ ซึ่งผลมะม่วงที่ร่วงหล่นใต้ต้นจนแห้ง เศษใบมะม่วงที่ทับถมใต้ต้นและในดินจะกลายเป็นแหล่งหลบซ่อนอาศัยของตัวเต็มวัยของด้วงงวงเจาะเมล็ดมะม่วงได้นานข้ามปี ดังนั้น เกษตรกรจึงควรหมั่นทำความสะอาดแปลงปลูกเพื่อไม่ให้มีแหล่งบ่มเพาะศัตรูทำลายผลผลิตคุณภาพของมะม่วง

นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง
อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร

อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของแนวทางการป้องกันและแก้ไข เกษตรกรควรหมั่นสำรวจสวนมะม่วงอย่างสม่ำเสมอ ในกรณีที่ต้นมะม่วงอายุมากกว่า 15 ปี ต้องหมั่นตรวจดูด้วงงวงเจาะเมล็ดมะม่วงที่หลบซ่อนอยู่ตามรอยแตกของเปลือก หมั่นทำความสะอาดสวน โดยตัดแต่งกิ่ง กำจัดวัชพืช เศษซากพืช และเก็บผลมะม่วงที่ร่วงหล่นหรือเศษซากเมล็ดไปทำลายนอกแปลง และควรใช้ชีวภัณฑ์ คือ เชื้อราเมตตาไรเซียม ป้องกันกำจัดศัตรูพืชในดิน หรือหากพบการทำลายปริมาณมาก ให้ใช้สารเคมีตามคำแนะนำบนฉลาก คือ อิมิดาคลอพริด แบบน้ำ อัตรา 15-20 ซีซี/น้ำ 20 ลิตร แบบผง อัตรา 5 – 10 กรัม/ น้ำ 20 ลิตร หรือแลมป์ดาไซฮาโลทริน อัตรา 20 ซีซี/น้ำ 20 ลิตร หรือคาร์บาริล 80 % อัตรา 60 กรัม/น้ำ 20 ลิตร ผสมสารจับใบ แล้วราดสารเคมีบนดินในรัศมีทรงพุ่มและพ่นบริเวณลำต้นของมะม่วงหลังจากตัดแต่งกิ่ง และให้พ่นสารเคมีบริเวณช่อมะม่วงที่ติดผลอ่อนผลทุก 7 วัน จนถึงระยะห่อผลมะม่วงหรือถ้าไม่ห่อผลมะม่วง เกษตรกรต้องพ่นสารจนผลมะม่วงเจริญเติบโตในระยะเข้าไคล รวมทั้งควรสลับชนิดของสารเคมีเพื่อป้องกันแมลงดื้อยา

ทั้งนี้ เกษตรกรไม่ควรเคลื่อนย้ายผลผลิตที่มีแมลงไปแหล่งอื่น ๆ หรือทิ้งเมล็ดที่มีแมลงไว้โดยไม่มีการควบคุมและกำจัด ตลอดจนกรณีของโรงงานแปรรูปมะม่วง ควรเก็บเมล็ดไว้ในมุ้งลวดและนำไปเผาทำลาย หากต้องการนำเมล็ดไปผลิตเป็นต้นพันธุ์มะม่วง ควรใช้เมล็ดจากแหล่งที่ไม่มีการระบาดและแช่สารเคมีตามคำแนะนำข้างต้น ประมาณ 25 นาที ก่อนนำไปเพาะปลูกทุกครั้ง อย่างไรก็ตาม สวนมะม่วงที่ดำเนินการตามกรรมวิธี GAP จะไม่มีการทำลายของด้วงงวงเจาะเมล็ดมะม่วง แต่มักพบด้วงงวงเจาะเมล็ดมะม่วงในแปลงที่ไม่ดำเนินการทำเขตกรรม เช่น สวนมะม่วงที่ปลูกรับประทานในครัวเรือน เป็นต้น เกษตรกรจึงควรเฝ้าระวังไม่ให้ด้วงงวงเจาะเมล็ดมะม่วงแพร่กระจายสร้างความเสียหายในพื้นที่ปลูก

กรมส่งเสริมการเกษตร ข่าว