เเล้งนี้ เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลระบาดในนาข้าว

1,012

กรมส่งเสริมการเกษตร เตือนเพลี้ยกระโดด สีน้ำตาลระบาดในนาข้าวช่วงแล้ง

นายอาชว์ชัยชาญ เลี้ยงประยูร รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ในฐานะประธานศูนย์ติดตามและแก้ไขปัญหาภัยแล้งด้านการเกษตร ปี 2563 กรมส่งเสริมการเกษตร เผยว่า ในช่วงอากาศร้อนและแห้งแล้งนี้ เกษตรกรผู้ปลูกข้าวในเขตภาคกลางและภาคเหนือ ซึ่งข้าวส่วนใหญ่จะอยู่ในระยะตั้งท้องถึงออกรวง ขอให้ระมัดระวังการระบาดทำลายของ เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล (Brown Plant hopper) โดยรูปร่างลักษณะตัวเต็มวัยจะมีลำตัวสีน้ำตาลถึงสีน้ำตาลปนดำ มีชนิดปีกยาว (บินได้) และชนิดปีกสั้น (บินไม่ได้) สามารถเคลื่อนย้ายและอพยพไปในระยะทางใกล้และไกล โดยอาศัยกระแสลม ตัวเต็มวัยเพศเมียจะวางไข่เป็นกลุ่ม ส่วนใหญ่วางไข่ที่กาบใบข้าว บริเวณที่วางไข่จะมีรอยช้ำเป็นสีน้ำตาล ไข่มีลักษณะรูปกระสวยโค้งคล้ายกล้วยหอม มีสีขาวขุ่น ระยะตัวอ่อน 16 – 17 วัน ตัวเต็มวัยเพศเมียชนิดปีกยาวมีขนาด 4.0-4.5 มิลลิเมตร วางไข่ประมาณ 100 ฟอง เพศผู้มีขนาด 3.5-4.0 มิลลิเมตร เพศเมียชนิดปีกสั้นวางไข่ประมาณ 300 ฟอง ตัวเต็มวัยมีชีวิตประมาณ 2 สัปดาห์ ในหนึ่งฤดูปลูกข้าว เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลสามารถเพิ่มปริมาณได้ 2-3 รุ่น

ลักษณะการทำลายทั้งตัวอ่อนและตัวเต็มวัยทำลายข้าว โดยการดูดกินน้ำเลี้ยงบริเวณโคนต้นข้าวระดับเหนือผิวน้ำ ทำให้ต้นข้าวมีอาการใบเหลืองแห้งคล้ายถูกน้ำร้อนลวก แห้งตายเป็นหย่อมๆ เรียก ‘อาการไหม้ hopper burn’ โดยทั่วไปมักพบในระยะข้าวแตกกอถึงระยะออกรวง นาข้าวที่ขาดน้ำตัวอ่อนจะลงมาอยู่ที่บริเวณโคนกอข้าวหรือบนพื้นดินที่มีความชื้น นอกจากนี้ เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลยังเป็นแมลงพาหะนำเชื้อไวรัสสาเหตุของโรคใบหงิกข้าว หรือที่เรียกว่า โรคจู๋ โดยจะทำให้ข้าวต้นเตี้ยแคระแกรน ไม่ออกรวง หรือมีรวงแต่สั้น และยังเป็นเป็นแมลงพาหะนำเชื้อไมโครพลาสมา สาเหตุของโรคเขียวเตี้ยด้วย

กรมส่งเสริมการเกษตร ขอแนะนำให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวปฏิบัติดังนี้ หมั่นสำรวจแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอทุกสัปดาห์ ในแหล่งที่มีการระบาดโดยเฉพาะอย่างยิ่งในระยะข้าวตั้งท้องขอให้ควบคุมระดับน้ำในนา ให้พอดินเปียก หรือมีน้ำเรี่ยผิวดินนาน 7-10 วัน แล้วปล่อยน้ำขังทิ้งไว้ให้แห้งเองสลับกันไปจะช่วยลดการระบาดได้ หากจำเป็นต้องใช้สารเคมีขอแนะนำให้ใช้ไทอะมิโทแซม ไดโนทีฟูเรน หรือไดทีโนฟูแรน อัตราตามคำแนะนำในฉลากสารเคมี สำหรับในฤดูปลูกถัดไปแนะนำให้ใช้พันธุ์ต้านทาน เช่น สุพรรณบุรี 1 สุพรรณบุรี 2 สุพรรณบุรี 90 สุพรรณบุรี 60 ปทุมธานี 1 พิษณุโลก 2 ชัยนาท 1 ชัยนาท 2 กข29 และ กข31 และไม่ควรปลูกพันธุ์เดียวติดต่อกันเกิน 4 ฤดูปลูก ควรปลูกสลับกันระหว่างพันธุ์ต้านทานสูงกับพันธุ์ทนทานหรือพันธุ์อ่อนแอ ปานกลาง โดยพิจารณาอายุเก็บเกี่ยวให้ใกล้เคียงกัน เพื่อลดความเสียหายเมื่อเกิดการระบาดรุนแรง และไม่ควรหว่านข้าวแน่นเกินไป ให้ใช้อัตราประมาณ 15 กก./ไร่ หรือปลูกแบบนาดำ เพื่อให้ต้นข้าวแข็งแรง และพ่นสารทั่วถึง ไม่ใส่ปุ๋ยไนโตรเจนมากเกินไป (ไม่ควรเกิน 50 กก./ไร่) เนื่องจากทำให้ใบข้าวเขียว หนาแน่น ต้นข้าวมีสภาพอวบน้ำซึ่งเหมาะแก่การเข้าดูดกินและขยายพันธุ์ของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล รวมทั้งเหมาะแก่การระบาดโรคพืชหลายชนิดอีกด้วย หากมีข้อสงสัย ให้ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้จากเจ้าหน้าที่ตำบลและเกษตรอำเภอ ใกล้บ้านท่าน