กรมส่งเสริมสหกรณ์ ติวเข้มสมาชิกสู่การแก้หนี้สหกรณ์ทั้งระบบ

396

“วิศิษฐ์” มอบนโยบาย สกจ. ติวเข้มอาชีพสมาชิก หวังสร้างรายได้เพิ่ม สู่การแก้หนี้สหกรณ์ทั้งระบบ

อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์รุกนโยบายปีกระต่าย เดินหน้าส่งเสริมอาชีพสมาชิกสหกรณ์ทั่วไทย หวังมีรายได้เพิ่ม สู่การแก้ปัญหาหนี้สินสหกรณ์ทั้งระบบ พร้อมนำร่องสหกรณ์ในพื้นที่นิคมฯ เป็นต้นแบบ

นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวในที่ประชุมผู้บริหารกรมตอนหนึ่ง โดยหยิบยกประเด็นการแก้ไขปัญหาหนี้สินของสมาชิกสหกรณ์ด้วยการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพแก่สมาชิกให้มีรายได้เพิ่ม อันจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาหนี้สินของสหกรณ์ทั้งระบบ ซึ่งได้มอบแนวทางในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้สำนักงานสหกรณ์แต่ละจังหวัดไปดำเนินการอย่างเร่งด่วนทั้งสหกรณ์ภาคการเกษตรและสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน 

“เราได้เห็นถึงภาวะหนี้สินครัวเรือนของสมาชิกสหกรณ์ทั้งสองกลุ่มที่จะมีปัญหาและจะมีผลกระทบต่อการชำระหนี้ของสหกรณ์ โดยเฉพาะสหกรณ์ภาคการเกษตร ซึ่งเราจะไปทำเรื่องการเร่งรัดชำระหนี้เพียงอย่างเดียวไม่ได้ มีโอกาสที่จะประสบผลสำเร็จค่อนข้างน้อยมาก”

อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวต่อว่า สำหรับการขับเคลื่อนแนวทางดังกล่าวในเบื้องต้นจะมุ่งเน้นพื้นที่นิคมสหกรณ์แต่ละแห่งในการส่งเสริมอาชีพให้แก่สมาชิกสหกรณ์นิคมฯ โดยการฝึกอบรมในหลักสูตรต่าง ๆ เน้นไปที่เกษตรกรรุ่นใหม่ในโครงการนำลูกหลานกลับบ้าน สานต่ออาชีพการเกษตร ซึ่งจะทำให้เกษตรกรกลุ่มนี้มีการต่อยอดอาชีพไปสู่การทำเกษตรสมัยใหม่ได้เป็นอย่างดี

“เท่าที่ดูมีหลายหลักสูตรน่าสนใจ เช่น การปลูกข้าว การปรับปรุงดิน การเลี้ยงปลา การเลี้ยงโคนม การเลี้ยงแพะ ที่ผ่านมาเราจัดแบบออนไลน์ใช้เงินแค่ 5 หมื่นกว่าบาท เกษตรกรกลุ่มนี้ อาจจะหัวก้าวหน้านิดนึงใช้เทคโนโลยีได้ แต่ถ้าทำกับเกษตรกรหรือสมาชิกสหกรณ์อาจต้องใช้การอบรมในชั้นเรียนมากกว่า”

นายวิศิษฐ์ เผยอีกว่า สำหรับในส่วนของงบประมาณที่ใช้ดำเนินการนั้น ระยะแรกใช้งบของทางราชการหรือเงินรายได้ของนิคมสหกรณ์ฯ ในการดำเนินการ แต่ในระยะต่อไปก็จะต้องให้สหกรณ์เข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น โดยนำเงินงบประมาณในส่วนการศึกษาอบรมของสหกรณ์ฯ มาใช้ประโยชน์ในเรื่องเหล่านี้ให้มากขึ้น

“ทุกปีสหกรณ์จะจัดงบการศึกษาดูงานก็เอาเฉพาะแต่กรรมการ ประธานกลุ่มไป ซึ่งผมว่าการแก้ไขปัญหาของสหกรณ์ตรงนี้มันไม่ตอบโจทย์เท่าไหร่นัก เพราะไม่ได้ลงถึงตัวสมาชิก”

อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวถึงการแก้ปัญหาหนี้สินของสมาชิกสหกรณ์ว่า ขณะนี้ได้มอบหมายให้สำนักงานสหกรณ์จังหวัดแต่ละจังหวัดดูแลรับผิดชอบ รวมถึงการแก้ไขปัญหาหนี้สินของสหกรณ์ด้วย โดยมีมาตรการสำคัญ 2 มาตรการ ประกอบด้วย มาตรการแรกการช่วยเหลือสมาชิกเรื่องปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ขยายระยะเวลาการชำระหนี้ การไกล่เกลี่ยหนี้ มาตรการที่สองมีการเติมสินเชื่อใหม่เข้าไปให้กับสมาชิกสหกรณ์ โดยมีกองทุนพัฒนาสหกรณ์เป็นตัวช่วยให้การสนับสนุน เพื่อให้สมาชิกนำเงินส่วนนี้ไปประกอบอาชีพสร้างรายได้ ในขณะที่กรมฯ ก็จะมีเจ้าหน้าที่ส่งเสริมฯ คอยเป็นพี่เลี้ยงด้านการประกอบอาชีพของสมาชิกให้ด้วย

“สมาชิกส่วนใหญ่เขาจะทำการเกษตรเชิงเดี่ยวเป็นหลัก เช่น ทำนาก็ได้แค่ครั้งเดียว ในสินเชื่อใหม่ที่เราให้ไป ก็จะเป็นในเรื่องของการขุดสระน้ำหรือการสร้างโรงเรือนอะไรต่าง ๆ เหล่านี้ เพื่อให้เขาเอานำไปประกอบอาชีพให้เขามีรายได้เป็นรายวัน รายเดือน รายปี ไม่ใช่ว่ารอเฉพาะฤดูกาลเดียว”

นายวิศิษฐ์ยังชี้ให้เห็นความสำคัญของโครงการสร้างสระน้ำในไร่นาให้กับเกษตรกร โดยใช้เงินกองทุนพัฒนาสหกรณ์ ซึ่งปัจจุบันมีสมาชิกสหกรณ์เข้ามาร่วมโครงการประมาณ 5,800 คน และมีสหกรณ์เข้าร่วมโครงการจำนวน 1,100 แห่ง จากนี้ไปพยายามจะขยายผลต่อไปให้ครอบคลุมทั่วประเทศเพื่อที่จะให้สามารถแก้ไขปัญหาหนี้ของสมาชิกได้อย่างยั่งยืน   

“ถ้าทำแล้ว ไม่ว่าผลลัพธ์จะเป็นอย่างไร ทั้งเรื่องของหนี้ลดลงหรือรายได้ของสมาชิกเพิ่มขึ้น ถ้าสองเรื่องนี้สามารถทำได้สำเร็จมันจะตอบโจทย์ในเรื่องของการแก้ไขปัญหาการดำเนินงานของสหกรณ์ทั้งระบบได้เป็นอย่างดี” อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ ย้ำทิ้งท้าย 

กรมส่งเสริมสหกรณ์ ข่าว