50 ปี กรมวิชาการเกษตร

388

กรมวิชาการเกษตรฉลองครบรอบ 50 ปี จัดงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยีภาคตะวันออกเฉียงเหนือ “วิชาการนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้การผลิตพืช” เปิดปฐมฤกษ์ สร้างคนบินโดรนเพื่อการเกษตรรุ่นแรกของประเทศไทย

นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มอบหมายให้ นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เป็นประธานในพิธีเปิดงาน “วันถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตพืชภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ”ภายใต้แนวคิด “วิชาการนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้การผลิตพืช” ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 8 – 9 มีนาคม 2566  พร้อมมอบประกาศนียบัตรผู้ผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรการพ่นวัตถุอันตรายทางการเกษตรด้วยอากาศยาน ณ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรร้อยเอ็ด อำเภอเมือง จังหวัดร้อยเอ็ด โดยกรมวิชาการเกษตรร่วมกับสมาคมการค้านวัตกรรมเพื่อการเกษตรไทย (TAITA) สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ และภาคเอกชน Kick Off หลักสูตรแรกในประเทศไทย จัดอบรมหลักสูตรการพ่นวัตถุอันตรายทางการเกษตรด้วยอากาศยาน (โดรน) 

นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร

“โดรน” ถือว่าเป็นเทคโนโลยีที่ได้รับความนิยม และยังเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาการผลิตทางการเกษตรด้านการพัฒนาเทคโนโลยีมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน เพิ่มผลผลิต เพิ่มผลงาน โดยใช้เวลาและทรัพยากรน้อยลง แต่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการมากขึ้น ปัจจุบันเกษตรกรมีความสนใจใช้โดรนทางการเกษตรในการพ่นวัตถุอันตรายทางการเกษตร พ่นชีวภัณฑ์ หว่านเมล็ดพันธุ์ หว่านปุ๋ยเม็ด โดรนเพื่อการเกษตรจะต้องใช้อย่างระมัดระวัง หากใช้ไม่ถูกวิธีอาจทำให้เกิดอันตราย โดยเฉพาะการนำไปใช้กับการพ่นวัตถุอันตราย โดยการอบรมครั้งนี้มุ่งเน้นพัฒนาผู้ประกอบการ ผู้พ่นวัตถุอันตรายทางการเกษตรและผู้สนใจ ให้มีความรู้ ความเข้าใจ และมีจรรยาบรรณที่ดีเพื่อก่อประโยชน์ต่อสังคมโดยรวม โดยมีผู้ผ่านการอบรม 85 คน ทั้งผู้ประกอบการ เกษตรกร และผู้สนใจ ซึ่งผู้ผ่านการอบรมได้รับเกียรติบัตรเพื่อสามารถนำไปใช้ประกอบอาชีพการเกษตร หรือรับจ้างในการพ่นวัตถุอันตรายด้วยอากาศยานไร้คนขับได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ในส่วนของนิทรรศการการถ่ายทอดเทคโนโลยี สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 3 สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 4 หน่วยงานในเครือข่าย กรมวิชาการเกษตรในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเอกชนร่วมกันจัดนิทรรศการต่าง ๆ โดยแบ่งออกเป็น 10 กิจกรรมดังนี้

  • กิจกรรมที่ 1 แปลงสาธิต
  • กิจกรรมที่ 2 แปลงพันธุ์พืชอินทรีย์หลังนา
  • กิจกรรมที่ 3 นิทรรศการ เทคโนโลยีการเกษตรครบวงจรสู่ตลาด ได้แก่ พืชเศรษฐกิจในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แบ่งเป็น อ้อย ถั่วลิสง มันสำปะหลัง พืชเศรษฐกิจใหม่ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ ทุเรียน อโวกาโด้ กาแฟ การแสดงนิทรรศการรบภาคเอกชน อ้อย โรงงานน้ำตาลวังขนาย ถั่วลิสง บริษัทแม่รวย มันสำปะหลัง อุบลเกษตรพลังงาน อุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์ บริษัทจำหน่ายเครื่องจักรกลการเกษตร
  • กิจกรรมที่ 4 จับคู่ธุรกิจเกษตร ได้แก่ จับคู่ธุรกิจการผลิตพืชเพื่อการผลิตอุตสาหกรรมเครื่องแกง จับคู่ธุรกิจการผลิตสมุนไพรสู่อุตสาหกรรมแพทย์แผนไทย จับคู่ธุรกิจกาแฟ จับคู่ธุรกิจการผลิตงาเพื่อการแปรรูป
  • กิจกรรมที่ 5 เสวนาการผลิตพืชเศรษฐกิจในพื้นที่
  • กิจกรรมที่ 6 การสาธิตแปรรูปผลิตภัณฑ์จากงานวิจัย มันสำปะหลัง เบเกอรี่จากแป้งมันสำปะหลัง การแปรรูปถั่วลิสงสู่ผลิตภัณฑ์ ถั่วงอก ทานตะวันคอนโด
  • กิจกรรมที่ 7 การจำหน่ายผลผลิตทางการเกษตรจากเกษตรกร
  • กิจกรรมที่ 8 การแจกเมล็ดพันธุ์พืช
  • กิจกรรมที่ 9 โชว์นวัตกรรมเกษตรอัจฉริยะ ได้แก่ โดรนเพื่อการเกษตร โรงเรือนผลิตเห็ดอัจฉริยะ โรงเรือนผลิตผักอัจฉริยะ
  • กิจกรรมที่ 10 งานบริการวิชาการและคลินิกเกษตร

“สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 3 และเขตที่ 4 และหน่วยงานกรมวิชาการเกษตร ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมทั้งหน่วยงานสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในจังหวัดร้อยเอ็ด ได้ร่วมกันจัดงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตพืชเพื่อร่วมเฉลิมฉลองเนื่องในโอกาสที่กรมวิชาการเกษตรได้รับการสถาปนาครบรอบ 50 ปี  โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมากรมวิชาการเกษตรได้ผลิตผลงานวิจัย ด้านพันธุ์พืช และเทคโนโลยีการเกษตรที่มีคุณค่า และเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาการเกษตรของประเทศไทยเป็นจำนวนมาก ดังนั้นจึงได้จัดงานในครั้งนี้ขึ้นเพื่อเผยแพร่ผลงานวิชาการ ตลอดจนบทบาทหน้าที่ของหน่วยงานกรมวิชาการเกษตรให้สาธารณชนได้รับทราบอย่างกว้างขวาง โดยมีเกษตรกร นักเรียน นักศึกษา และผู้สนใจ เข้าร่วมชมงานประมาณ 1,000 คน  ณ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรร้อยเอ็ด อำเภอเมือง จังหวัดร้อยเอ็ด” อธิบดีกรมวิชาการเกษตร  กล่าว

กรมวิชาการเกษตร ข่าว