กรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเวทีคลินิกแก้หนี้สมาชิก

346

เปิดเวที ”คลินิกแก้หนี้” สมาชิกวิธีสางหนี้สหกรณ์การเกษตรหันคา จำกัด จังหวัดชัยนาท

การเปิดคลินิกแก้หนี้ เป็นเวทีพบปะพูดคุยแลกเลี่ยนข้อมูลระหว่างสหกรณ์กับสมาชิกที่สำนักงานสหกรณ์จังหวัดชัยนาทนำมาใช้ในการปรับโครงสร้างหนี้สหกรณ์การเกษตรหันคา จำกัด ถือเป็นก้าวย่างสำคัญที่สหกรณ์​แห่งนี้ประสบความสำเร็จในการจัดการปัญหาสมาชิกสหกรณ์มีหนี้คงค้างกว่า 50 ล้านบาทในปี 2563 กระทั่งปี 2564 ลดลงเหลือ 24 ล้านบาท จนมาถึงปี 2565 เหลือเพียง 18 ล้านบาท โดยวางเป้าไว้อีก 3 ปีข้างหน้าหรือในปี 2568 สมาชิกสหกรณ์แห่งนี้จะมีหนี้ค้างชำระเป็นศูนย์

“ปัญหาสหกรณ์ที่ผ่านมา สมาชิกมีหนี้ค้างประมาณ 50 ล้านบาท หลังได้ปรึกษากับทางสหกรณ์จังหวัดชัยนาทก็ได้เข้ามาให้คำแนะนำและทำการช่วยเหลือหลายโครงการ เป็นโครงการที่สมาชิกเข้าถึงง่าย ทำง่าย ๆ ไม่ทำแบบสวยหรูแต่สมาขิกเข้าไม่ถึงหรือเข้าถึงยาก ปัจจุบันสหกรณ์มีหนี้ค้างเหลือเพียง 18 ล้านเศษเท่านั้น”นายมานพ โพธิ์สุวรรณประธานกรรมการสหกรณ์การเกษตรหันคา จำกัด อ.หันคา จ.ชัยนาท ย้อนปัญหาหนี้สินของสหกรณ์ ก่อนสมาชิกจะมีเงินส่งชำระทยอยเคลียร์หนี้คงค้างลงกว่าร้อยละ70 โดยใช้เวลาเพียงแค่ 2 ปี

ประธานกรรมการสหกรณ์การเกษตรหันคา จำกัด ยอมรับว่าปัญหาหนึ่งที่ส่งผลทำให้สหกรณ์หนี้สินจำนวนมากจนทุกวันนี้ เหตุมาจากธุรกิจการตลาดที่ไม่สามารถจำหน่ายปุ๋ย ยาและวัสดุการเกษตรได้ เนื่องจากสมาชิกแต่ละรายก็มีหนี้ค้างสหกรณ์จำนวนมากเช่นกัน ส่งผลให้สินค้าค้างสต๊อกในปริมาณมากส่งผลให้สหกรณ์ขาดทุนมาตลอดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ก่อนจะเริ่มมีกำไรขึ้นมาหลังจากได้รับการคำปรึกษาแนะนำจากสหกรณ์จังหวัดชัยนาทให้สหกรณ์แก้ไขกฎระเบียบข้อบังคับให้สมาชิกเข้าถึงเงินทุนได้ง่ายขึ้น

“เมื่อก่อนธุรกิจตลาดขาดทุนมาก สิ่งแรกที่ทำสำรวจสินค้าที่เหลือก็คือส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่ไม่เป็นที่ต้องการของสมาชิก ฉะนั้นก่อนซื้อเราก็มาสำรวจก่อนว่าสมาชิกต้องการอะไรก็ซื้อตามนั้น ส่วนราคาซื้อขายราคาเดียวกับท้องตลาด เมื่อก่อนขายได้ไม่ถึง 10 ล้านบาท ปิดบัญชีปีที่แล้วขายได้ถึง 45 ล้านบาทสำหรับธุรกิจการตลาด” นายมานพกล่าวและยอมรับว่าเหตุที่ธุรกิจการตลาดสหกรณ์ขับเคลื่อนไปได้เป็นผลมาจากการใช้บริการของสมาชิกที่เพิ่มขึ้น

ขณะที่ นายกรกฎ ชยุตรารัตน์ สหกรณ์จังหวัดชัยนาทกล่าวถึงวิธีการแก้หนี้สมาชิกคงค้างของสหกรณ์การเกษตรหันคา จำกัด โดยระบุว่าส่วนหนึ่งมาจากการเปิดเวทีคลินิกการแก้หนี้ เปิดโอกาสให้กับสมาชิกเข้ามามีส่วนร่วมกับสหกรณ์มากขึ้น  

“การเปิดคลินิกแก้หนี้มีส่วนอย่างมากทำให้หนี้คงค้างของสมาชิกลดลง การแก้ปัญหาหนี้ไม่สามารถแก้ในภาพรวมได้ แต่ต้องแก้ปัญหาเป็นรายบุคคลและแก้อย่างต่อเนื่อง อย่าคิดว่าจะสำเร็จภายในเดือนสองเดือน อาจต้องให้โอกาสสมาชิก 2-3 ปี” สหกรณ์จังหวัดชัยนาทกล่าว พร้อมย้ำว่า

ความเข้มแข็งของสหกรณ์ นอกจากการควบคุมภายในและการสร้างธรรมาภิบาลในสหกรณ์แล้ว จะต้องมุ่งการมีส่วนร่วมของสมาชิกเป็นหลักด้วย เพราะเป็นหัวใจสำคัญของการแก้ปัญหาต่าง ๆ ในสหกรณ์  ซึ่งจังหวัดชัยนาทจะใช้สหกรณ์การเกษตรหันคา จำกัด เป็นสหกรณ์นำร่องในการแก้ปัญหาหนี้ของสมาชิก และวางเป้าไว้อีก 3 ปีข้างหน้าสหกรณ์จะไม่มีหนี้คงค้าง

ด้าน นางจิราพร ถมสุวรรณ ผู้จัดการสหกรณ์การเกษตรหันคา จำกัด ยอมรับว่าอดีตที่ผ่านมาเราขาดการติดต่อสื่อสารกับสมาชิกอย่างทั่วถึง ทำให้สมาชิกไม่เข้าใจการชำระหนี้ และการติดตามหนี้กับสมาชิกไม่ต่อเนื่อง ปัจจุบันมีการติดตามหนี้อย่างสม่ำเสมอ ทั้งทำแผ่นพับประชาสัมพันธ์ ตลอดจนส่งทีมงาน พบปะพูดคุยที่บ้านสมาชิกอย่างต่อเนื่องเพื่อรับทราบถึงปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ขณะเดียวกันยังสนับสนุนอาชีพเสริมรายได้แก่สมาชิก เช่น เลี้ยงโค แพะ แกะ ไก่ เป็ดไล่ทุ่ง เนื่องจากสมาชิกส่วนใหญ่มีอาชีพหลักคือการทำนา ทำไร่อ้อย ปลูกมันสำปะหลัง มีรายได้ปีละครั้งเท่านั้น

“ปัจจุบันเรามีกลุ่มไลน์สื่อสารให้สมาชิกทราบ  เราใช้โซเซียลมีเดีย ส่งข่าวสารถึงกัน ถือว่าประสบความสำเร็จพอสมควร  เราช่วยสมาชิกในหลาย ๆ ทาง เช่น มีเงินพิเศษให้ฟื้นฟูอาชีพ เงินกู้ปลอดดอกเบี้ย ไม่ทำโครงการเดียว แต่จะทำหลายโครงการไปพร้อม ๆ กัน ปัจจุบันมีสมาชิกกว่า 1,800 รายได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี” ผู้จัดการสหกรณ์การเกษตรหันคา จำกัดกล่าวทิ้งท้าย

กรมส่งเสริมสหกรณ์ ข่าว