เกษตรฯ ขยายผลปุ๋ยชีวภาพ สารชีวภัณฑ์สู่กลุ่มเกษตรกร

407

กรมวิชาการเกษตร ขยายผลปุ๋ยชีวภาพและสารชีวภัณฑ์ สู่กลุ่มเกษตรกรปลูกผักอินทรีย์สร้างรายได้กว่า 6 แสนบาท/ปี

นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า จากนโยบายนางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ขับเคลื่อนการดำเนินการตามนโยบาย 3S  (Standard – Safety – Sustainability)  เพื่อความปลอดภัยทางอาหาร ความมั่นคงและมั่งคั่งของภาคเกษตรและอาหาร และความยั่งยืนของภาคการเกษตร โดยใช้นวัตกรรมปุ๋ยชีวภาพและชีวภัณฑ์ สนับสนุนส่งเสริมการผลิตระบบเกษตรอินทรีย์และเกษตรปลอดภัย (GAP) ตามนโยบายรัฐบาล กรมวิชาการเกษตรจึงเร่งขยายผลเทคโนโลยีปุ๋ยชีวภาพและชีวภัณฑ์ที่เป็นนวัตกรรมของกรมวิชาการเกษตร ซึ่งเกษตรกรสามารถผลิตเลี้ยงขยายเพิ่มปริมาณเองได้ ช่วยทำให้เกษตรกรลดต้นทุนในการผลิตพืชอินทรีย์ เพิ่มรายได้ อีกทั้งยังไม่มีผลตกค้างทั้งในคน พืช ดิน จึงเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร

นายชัยพิสิษฐ์ สอนศรี ประธานกลุ่มเกษตรอินทรีย์หมู่บ้านเกษตรกรรมหนองหว้า ต.บ้านซ่อง อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็นหนึ่งในเกษตรกรที่เข้ารับการอบรมหลักสูตร “การผลิตและการใช้ปุ๋ยชีวภาพและชีวภัณฑ์ในการผลิตผักอินทรีย์” จากศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.ฉะเชิงเทรา ดำเนินการโดย ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรฉะเชิงเทรา กรมวิชาการเกษตร โดยอาชีพเดิมปลูกพืชเชิงเดี่ยว เช่น ผักบุ้ง ต้นหอม เมื่อประสบปัญหาการระบาดของศัตรูพืช ได้ซื้อสารชีวภัณฑ์ที่จำหน่ายเป็นการค้าเพื่อมาป้องกันกำจัด ทำให้ต้นทุนการผลิตสูง มีรายได้เฉลี่ย 390,000 บาทต่อปี ภายหลังจากเข้ารับการอบรมจึงได้หันมาปลูกผักแบบผสมผสานโดยใช้ปุ๋ยชีวภาพและชีวภัณฑ์ ของกรมวิชาการเกษตร ได้แก่ ปุ๋ยหมักเติมอากาศ พีจีพีอาร์ แหนแดง ไส้เดือนฝอยสายพันธุ์ไทย แมลงหางหนีบ และเห็ดเรืองแสงสิรินรัศมี แล้วนำไปถ่ายทอดต่อให้สมาชิกในกลุ่มจำนวน 11 ราย ปัจจุบันได้รับรองมาตรฐาน Organic Thailand และรวมกลุ่มกับสมาชิกส่งผลผลิตให้กับร้านโกลเด้นเพลส และห้างสรรพสินค้าต่าง ๆ มีรายได้เฉลี่ย 650,000 บาทต่อปี

ปุ๋ยหมักเติมอากาศ เป็นกระบวนการผลิตปุ๋ยหมักรูปแบบหนึ่งที่เน้นการผสมรวมกันระหว่างวัสดุอินทรีย์ที่ให้คาร์บอนและไนโตรเจน จากซากพืช ซากสัตว์ และวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ใช้วิธีเติมอากาศแทนการกลับกองปุ๋ย เพื่อเร่งกระบวนการย่อยสลายวัสดุอินทรีย์ โดยจุลินทรีย์ธรรมชาติในกองปุ๋ย โรงปุ๋ยหมักเติมอากาศสามารถควบคุมปัจจัยที่มีผลต่อคุณภาพปุ๋ยในกระบวนการหมักได้ จึงทำให้ได้ปุ๋ยหมักที่สมบูรณ์ เมื่อย่อยสลายสมบูรณ์แล้ว ธาตุอาหารจะอยู่ในรูปที่พร้อมปลดปล่อยให้ต้นพืชได้ทันทีเช่นเดียวกับกับปุ๋ยเคมี เกษตรกรใช้ผสมดินปลูกอัตรา 1,000-2,000 กิโลกรัมต่อไร่

ปุ๋ยชีวภาพพีจีพีอาร์ เป็นปุ๋ยชีวภาพประกอบด้วยแบคทีเรีย ช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืช เกษตรกรใช้ปุ๋ยชีวภาพพีจีพีอาร์-1 ผสมดินก่อนปลูกอัตรา 1 กิโลกรัมต่อไร่ ช่วยทำให้เพิ่มปริมาณรากร้อยละ 20 ลดการใช้ปุ๋ยเคมีร้อยละ 25 และเพิ่มผลผลิตร้อยละ 20

แหนแดง เป็นเฟิร์นชนิดหนึ่งที่มีขนาดเล็ก เปรียบเสมือนโรงงานผลิตปุ๋ยไนโตรเจนทางชีวภาพ โดยผ่านกระบวนการ ตรึงไนโตรเจนจากอากาศของสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงิน ทำให้แหนแดงมีไนโตรเจนเป็นองค์ประกอบสูง 3–5 เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักแห้ง และสามารถนำมาใช้เป็นปุ๋ยพืชสดได้เป็นอย่างดี เกษตรกรจะใช้แหนแดงสดปริมาณ 800 กิโลกรัมต่อไร่ผสมดินก่อนปลูก

ไส้เดือนฝอยสายพันธุ์ไทย เป็นชีวภัณฑ์ที่มีศักยภาพในการกำจัดแมลงศัตรูพืชได้หลายชนิด มีความปลอดภัยต่อมนุษย์ พืช สัตว์ และสิ่งแวดล้อม มีคุณสมบัติทนร้อน โดยทนต่ออุณหภูมิได้ 35 องศาเซลเซียส ไส้เดือนฝอยทำให้แมลงตายโดยไส้เดือนฝอยจะมีเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เลือดแมลงเป็นพิษ หนอนที่ตายจะมีลำตัวสีดำไม่เละ เกษตรกรสามารถเลี้ยงเพิ่มปริมาณเองได้ ต้นทุนอาหาร 150-180 บาทต่อชุด 1 ชุดสามารถใช้ได้ในพื้นที่ 1 ไร่ เกษตรกรจะใช้เมื่อสำรวจพบศัตรูพืช เช่น หนอนใยผัก หนอนกระทู้ผัก

แมลงหางหนีบ แมลงหางหนีบเป็นตัวห้ำที่ใช้ควบคุมแมลงศัตรูพืชได้หลายชนิด เช่น หนอนกระทู้ผัก หนอนใยผัก และเพลี้ยอ่อน เป็นต้น เกษตรกรปล่อยอัตรา 1,000 ตัวต่อไร่เมื่อสำรวจพบเพลี้ยอ่อน หนอนใยผัก หรือหนอนกระทู้ผัก

เห็ดเรืองแสงสิรินรัศมี เกษตรกรใช้รองก้นหลุมก่อนปลูก อัตรา 10 กรัมต่อต้น เพื่อป้องกันกำจัดไส้เดือนฝอยที่ทำให้เกิดรากปม เห็ดเรืองแสงสามารถเจริญและสร้างสารในดินได้เป็นเวลานาน มีประสิทธิภาพสูง ทดแทนการใช้สารเคมีได้ “ปัจจุบันศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรฉะเชิงเทราได้จัดทำแปลงต้นแบบการผลิตพืชอินทรีย์ในพื้นที่เกษตรกรจำนวน 3 ราย โดยปลูกผักสลัดอินทรีย์ เปรียบเทียบ 2 กรรมวิธี คือ วิธีของกรมวิชาการเกษตรโดยใช้ปุ๋ยชีวภาพและชีวภัณฑ์ทั้ง 6 เทคโนโลยีดังกล่าวเปรียบเทียบกับวิธีเกษตรกร พบว่า วิธีของกรมวิชาการเกษตรให้ผลผลิตสูงกว่าวิธีเกษตรกรเฉลี่ย 232 กิโลกรัมต่อไร่  และมีต้นทุนน้อยกว่าเฉลี่ย 18,838 บาทต่อไร่ สามารถลดต้นทุนได้ร้อยละ 35.77 ทำให้มีรายได้สุทธิมากกว่าเฉลี่ย 37,398 บาทต่อไร่” เกษตรกรที่สนใจเทคโนโลยีดังกล่าวของกรมวิชาการเกษตร  สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรฉะเชิงเทรา โทรศัพท์ 038 136 259” อธิบดีกรมวิชาการเกษตร  กล่าว

กรมวิชาการเกษตร ข่าว