สสก.5 สงขลา พัฒนากาแฟโรบัสต้าสู่ BCG Model

458

สสก.5 สงขลา ดันการพัฒนาคุณภาพกาแฟโรบัสต้าภาคใต้ สู่การผลิตรูปแบบ BCG Model

กาแฟเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญชนิดหนึ่งของไทย ที่ทำรายได้ให้เกษตรกรปีละประมาณ 2,000 ล้านบาท โดยข้อมูลทางสถิติ พบว่า คนไทยดื่มกาแฟเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 15% ต่อปี หรือดื่ม 300 แก้วต่อคนต่อปี ขณะที่คนต่างชาติ เช่น ญี่ปุ่นดื่ม 400 แก้วต่อคนต่อปี และยุโรปดื่ม 500 แก้วต่อคนต่อปี รวมทั้งพฤติกรรมการดื่มกาแฟของคนไทยเปลี่ยนไปค่อนข้างมาก จะเห็นได้ว่าความต้องการบริโภคกาแฟมีแนวโน้มเติบโตมากขึ้น สอดคล้องกับปริมาณการนำเข้ากาแฟที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เพราะการผลิตในประเทศยังไม่เพียงพอต่อความต้องการบริโภค 

นายอนุชา ยาอีด ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา กล่าวว่า ประเทศไทย มีแหล่งปลูกกาแฟที่เป็นเอกลักษณ์ในหลายพื้นที่ ทั้งสายพันธุ์อะราบิกาที่นิยมปลูกในพื้นที่ภาคเหนือ และพันธุ์โรบัสตาที่ปลูกมากในพื้นที่ภาคใต้ โดยมีพื้นที่ปลูก 96,087 ไร่ ให้ผลผลิตแล้ว 85,777 ไร่ ผลผลิตรวม 7,922 ตัน และผลผลิตเฉลี่ย 92 กิโลกรัม/ไร่ (ข้อมูลปี 2565) ซึ่งกระจายอยู่ในพื้นที่ 14 จังหวัด โดยจังหวัดที่มีพื้นที่ปลูกมากที่สุด ได้แก่ จังหวัดชุมพร รองลงมาคือ ระนอง และจังหวัดสุราษฎร์ธานี ตามลำดับ ทั้งนี้แนวทางในการส่งเสริมและพัฒนากาแฟพันธุ์โรบัสต้าในภาคใต้ โดยสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา เน้นให้เกษตรกรผู้ปลูกกาแฟซึ่งเป็นกระบวนการต้นน้ำให้มีการผลิตผลผลิตกาแฟที่มีคุณภาพและได้รับการรับรองมาตรฐาน ดังนี้

1) อนุรักษ์พื้นที่ปลูกเดิมไว้ เนื่องจากในระยะหลังทุเรียนมีราคาสูงและเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคมากขึ้นทำให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนไปพื้นที่จากการปลูกกาแฟไปปลูกทุเรียนแทน แต่กาแฟก็ยังมีมูลค่าและความต้องการทางตลาดอีกมาก

2) ส่งเสริมการขยายพื้นที่ปลูกเพิ่ม

3) จัดทำแปลงต้นพันธุ์กาแฟพันธุ์ดี โดยศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาชีพการเกษตร จังหวัดกระบี่ ซึ่งบูรณาการงบประมาณกับจังหวัดกระบี่ จัดทำแปลงต้นพันธุ์เพื่อรองรับการผลิตต้นพันธุ์กาแฟคุณภาพให้เกษตรกรในภาคใต้ นำไปปลูก

4) พัฒนาคุณภาพไปสู่การรับรองมาตรฐาน GAP และ เกษตรอินทรีย์

5) เน้นการทำเกษตรแบบปราณีต สร้างอัตลักษณ์เฉพาะถิ่น เพื่อนำไปสู่การรับรองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) มีการสร้าง Story และการสร้างแบรนด์สินค้าเฉพาะถิ่น

6) ลดต้นทุนการผลิต

7) เพิ่มมูลค่าสินค้าและการแปรรูปผลิตภัณฑ์ โดยสร้างทางเลือกหลากหลายให้กับผู้บริโภค พัฒนา Packaging ตลอดจนพัฒนาเกษตรกรให้เป็นผู้ประกอบการมืออาชีพ สร้างเกษตรกรต้นแบบ โดยการมีส่วนร่วมของ Smart Farmer YSF อกม. และทายาทเกษตรกร เน้นการผลิตแบบ BCG Model ตั้งต้นน้ำถึงปลายน้ำ มีการจัดการวัสดุเหลือใช้จากการผลิตอย่างคุ้มค่า อาทิเช่น ใบ และเปลือกเมล็ดกาแฟ นำไปใช้เป็นส่วนผสมในการทำปุ๋ยหมัก กิ่งกาแฟจากการตัดแต่ง นำไปผลิตถ่านชีวภาพ (Bio-Char) เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีการสนับสนุนการนำงานวิจัย เทคโนโลยี นวัตกรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เกี่ยวกับการจัดการวัสดุเหลือใช้มาใช้ประโยชน์ทางการเกษตร รวมถึงการบริหารจัดการแบบครบวงจร (Value Chain) บนพื้นฐานของศักยภาพ (Potential) และอัตลักษณ์ของกาแฟของภาคใต้ รวมถึงการปลูกจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแก่เกษตรกร

นายอนุชา ยาอีด กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากวิธีการดังกล่าวแล้ว ทางหน่วยงานได้ส่งเสริมเรื่องของการรวมกลุ่มและการสร้างความเข้มแข็งในรูปแบบแปลงใหญ่ และวิสาหกิจชุมชน โดยทั่วประเทศมีแปลงใหญ่กาแฟ จำนวน 64 แปลง ในส่วนภาคใต้มีแปลงใหญ่กาแฟ จำนวน 15 แปลง สมาชิกรวม 605 ราย พื้นที่ปลูก 6,605 ไร่ โดยจังหวัดระนองมีมากที่สุด จำนวน 8 แปลง รองลงมา คือ ชุมพร 3 แปลง และ กระบี่ ตรัง นครศรีธรรมราช สงขลา สตูล และสุราษฎร์ธานี จังหวัดละ 1 แปลง การผลิตกาแฟในรูปแบบแปลงใหญ่ ทำให้มีเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรมีโอกาสเข้าไปส่งเสริมถ่ายทอดความรู้แก่เกษตรกรได้อย่างใกล้ชิดทั้งกระบวนการผลิต การประสานหน่วยงานภาคีเครือข่ายต่อยอดการแปรรูป การตลาดตลอดจนการมีอำนาจต่อรองสูงกว่าเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟรายย่อย ทั้งยังสร้างความน่าเชื่อถือในผลิตภัณฑ์แก่ผู้บริโภค และสามารถเพิ่มช่องทางการกระจายสินค้าได้มากขึ้น  และสร้างเครือข่ายทั้งด้านการผลิต และด้านการตลาดแบบครบวงจร

สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา ข่าว