ศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 9 จังหวัดสุพรรณบุรี เปิดจุดเรียนรู้วิธีการผลิตและขยายพันธุ์สับปะรดสีพันธุ์ดี พร้อมจำหน่ายในราคาพิเศษ ทั้งถูกและมีคุณภาพ กรมส่งเสริมการเกษตรรับรอง
นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ปัจจัยสำคัญปัจจัยหนึ่งในการเพาะปลูกพืชให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพดีและได้ปริมาณตามที่ต้องการนั้น คือ การเลือกใช้พืชพันธุ์ดี มีคุณภาพ ซึ่งที่ผ่านมา พืชเศรษฐกิจหลายชนิดเกษตรกรส่วนใหญ่ยังไม่สามารถเข้าถึงพืชพันธุ์ดีได้ หรือมีปริมาณพืชพันธุ์ดีไม่เพียงพอกับความต้องการของเกษตรกร กรมส่งเสริมการเกษตร โดยกองขยายพันธุ์พืชจึงได้ดำเนินการผลิตและขยายพืชพันธุ์ดีครบทั้ง 4 วิธี ทั้งด้านการผลิตเมล็ดพันธุ์ ต้นพันธุ์ ท่อนพันธุ์ และการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ เพื่อให้ได้ต้นพันธุ์พืชคุณภาพดี หลากหลายชนิด ราคาย่อมเยา พร้อมให้บริการแก่เกษตรกรในพื้นที่ ผ่านศูนย์ขยายพันธุ์พืช ทั้ง 10 ศูนย์ ซึ่งตั้งกระจายอยู่ทั่วประเทศ ประกอบด้วย ศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 1 จังหวัดชลบุรี ศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 2 จังหวัดตรัง ศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 3 จังหวัดนครราชสีมา ศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 4 จังหวัดนครศรีธรรมราช ศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 5 จังหวัดบุรีรัมย์ ศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 6 จังหวัดพิษณุโลก ศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 7 จังหวัดมหาสารคาม ศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 8 จังหวัดลำพูน ศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 9 จังหวัดสุพรรณบุรี และศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 10 จังหวัดอุดรธานี
สำหรับ ศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 9 จังหวัดสุพรรณบุรี มีพืชเด่นที่ดำเนินการเพาะพันธุ์และเปิดจำหน่ายอยู่หลายชนิด อาทิ อ้อยคั้นน้ำสุพรรณ 50 มะขามเทศสีชมพู มะนาวแป้นพวง กล้วย หน่อไม้ฝรั่ง พริกหอมสุพรรณ ฯลฯ รวมทั้งสับปะรดสีซึ่งทางศูนย์ฯ ได้เน้นส่งเสริมการผลิตและขยายพันธุ์สับปะรดสีพันธุ์ดี โดยจัดทำเป็นจุดเรียนรู้การผลิตและขยายพันธุ์สับปะรดสี เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของสับปะรดสี สายพันธุ์สับปะรดสี การปลูก การดูแล การขยายพันธุ์ และปัจจัยที่มีผลต่อการเจริญเติบโตของสับปะรดสีให้แก่ผู้ที่สนใจ รวมทั้งยังเป็นแหล่งรวบรวมสับปะรดสีหลากหลายสายพันธุ์ถึง 7 สกุล ทั้งสกุล Aechmea (แอคเมียร์) ที่มีจุดเด่นคือ มีลำต้นขนาดใหญ่ ใบใหญ่ และแข็ง ลักษณะใบตั้งขึ้น บางสายพันธุ์มีลวดลายบนใบ หรือสกุล Ananas (อแนนัส) ซึ่งเป็นสับปะรดสีสกุลที่ปลูกเพื่อรับประทานผล ขอบใบมีหนาม สายพันธุ์ที่นำมาใช้เป็นไม้ประดับจะมีขนาดของผลที่เล็กกว่า และมีหลากหลายสีสัน สกุล Billbergia (บิลเบิร์กเกีย) กาบใบมีลักษณะซ้อนกันเป็นทรงกระบอกสูงดูคล้ายกรวย สามารถเก็บกักน้ำและทนแล้งได้ดี สกุล Cryptanthus (คริพแทนทัส) ใบมีลักษณะยาว โคนใบกว้าง ขอบใบหงิก ปลายใบแหลมเมื่อมองจากด้านบนของต้นจะมีลักษณะเป็นรูปดาว สามารถแตกหน่อที่โคนต้น และกาบใบ มีดอกสีขาวซ้อนภายในกาบใบ สกุล Neoregelia (นีโอรีจีเลีย) เป็นพืชอิงอาศัย ลำต้นสั้น กาบใบแผ่โอบรอบต้นเป็นรัศมี ปลายใบมน มีติ่งแหลม ขอบใบมีหนามแหลม มีสีสันหลากหลาย ดอกเป็นช่อกระจุกออกจากกึ่งกลางต้น สกุล Portea (พอรเทีย) ลำต้นสูงใหญ่ ใบยาวมีหนาม ชอบแสงแดดจัด ก้านดอกชูช่อตรง ดอกสีชมพูลาเวนเดอร์ ผลมีลักษณะคล้ายลูกเบอร์รี่ และ สกุล Tillandsia (ทิวแลนด์เซีย) ลักษณะทั่วทั้งต้นและแผ่นใบมีเกล็ดสีขาวที่เรียกว่า ไทรโคม (Trichome) ปกคลุมทำหน้าที่ดูดซับ
สำหรับเทคนิคการขยายพันธุ์สับปะรดสี ด้วยวิธีการแยกหน่อ (budding) ซึ่งเป็นวิธีขยายพันธุ์สับปะรดสีที่สะดวกและรวดเร็วที่สุด โดยมีขั้นตอน ดังนี้
ขั้นตอนที่ 1 : คัดเลือกต้นที่มีหน่อโตขนาดประมาณ 2 ใน 3 ส่วนของต้นแม่
ขั้นตอนที่ 2 : ใช้กรรไกรตัดกิ่งหรือมีดตัดแยกหน่อออกมาโดยตัดให้ชิดโคน จากนั้นทาปูนแดงหรือยากันเชื้อราบริเวณรอยตัด ทิ้งไว้ให้แห้ง
ขั้นตอนที่ 3 : นำหน่อสับปะรดสีไปปลูกในวัสดุปลูก ซึ่งวัสดุปลูกที่เหมาะสมคือ กาบมะพร้าวสับเล็ก โดยกาบมะพร้าวสับควรแช่น้ำไว้ 3 วันก่อนนำไปใช้เพื่อละลายสารแทนนิน (Tannin) ออกจากขุยมะพร้าวให้ได้มากที่สุด และควรเลือกใช้กระถางปลูกที่มีขนาดเล็กกว่าขนาดของต้น ซึ่งหากขนาดของกระถางใหญ่เกินไป วัสดุปลูกจะมีความชื้นมากและระบายน้ำช้า ทั้งนี้ เกษตรกรที่มีความสนใจจะเข้าเรียนรู้วิธีการผลิตและขยายพันธุ์สับปะรดสีพันธุ์ดี หรือสนใจสั่งซื้อต้นสับปะรดสีพันธุ์ดี สามารถแวะเข้าไปเยี่ยมชมความงามของสายพันธุ์สับปะรดสีพันธุ์ต่างๆ โดยติดต่อสอบถามได้ที่ ศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 9 จังหวัดสุพรรณบุรี โทร. 035- 440-360 หรือ Facebook ศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 9 จังหวัดสุพรรณบุรี
กรมส่งเสริมการเกษตร ข่าว