ประมง รับมือภัยแล้ง ปี’66 เตือนเกษตรกรเฝ้าระวัง

317

กรมประมง…พร้อมรับมือ “ภัยแล้ง” ปี’66  เตือนเกษตรกรเฝ้าระวังผลกระทบต่อการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ

กรมประมง…พร้อมช่วยเหลือเกษตรกรรับมือสถานการณ์ภัยแล้ง ปี 2566 เร่งลงพื้นที่สร้างการรับรู้ข้อมูลข่าวสารเพื่อป้องกันและลดผลกระทบต่อการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เตือนเกษตรกรเฝ้าระวัง หมั่นดูแลสัตว์น้ำอย่างใกล้ชิด แนะควรปฏิบัติตามคำแนะนำของกรมประมงอย่างเคร่งครัด

นายถาวร ทันใจ รองอธิบดีกรมประมง เปิดเผยในฐานะโฆษกกรมประมงว่าด้วยสภาพอากาศในช่วงฤดูร้อนจะมีลักษณะอากาศร้อนอบอ้าว และร้อนจัดในหลายพื้นที่ ซึ่งได้ส่งผลให้อุณหภูมิน้ำทั้งในแหล่งน้ำธรรมชาติและแหล่งน้ำชลประทานเกิดการเปลี่ยนแปลงสูงขึ้น กระทบต่อการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ซึ่งเป็นสาเหตุให้สัตว์น้ำที่เกษตรกรเลี้ยงไว้เกิดความเครียด อ่อนแอ มีโอกาสติดเชื้อโรคได้ง่าย และอาจตายได้

ดังนั้น เพื่อเป็นการป้องกันและบรรเทาความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น กรมประมงจึงได้จัดทำแผนเตรียมรับสถานการณ์ในช่วงฤดูแล้ง ประจำปี 2566 ไว้ 3 ระยะ คือ 1. การเตรียมรับสถานการณ์ก่อนเกิดภัย 2. การให้ความช่วยเหลือขณะเกิดภัย 3. การให้ความช่วยเหลือหลังเกิดภัย ทั้งนี้ กรมฯ ยังได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคเฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนแก่เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเพื่อเตรียมตัวรับกับสถานการณ์ รวมทั้งหาวิธีการป้องกัน แก้ไข และหลีกเลี่ยงความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น เน้นการเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้ง เช่น การเลี้ยงสัตว์น้ำในกระชัง ในแม่น้ำสายหลักและแม่น้ำสายรอง หรือแหล่งน้ำอื่นๆ รวมถึงเฝ้าระวังสัตว์น้ำในที่รักษาพันธุ์สัตว์น้ำโครงการปลาหน้าวัด นอกจากนี้ ยังให้คำแนะนำทางวิชาการแก่เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเพื่อเตรียมการป้องกันอีกด้วย

โดยกรมประมงมีข้อควรปฏิบัติในช่วงฤดูแล้ง ดังนี้

1. ควรปรับลดขนาดการผลิตหรืองดเว้นการเลี้ยงสัตว์น้ำ โดยทำการตากบ่อและตกแต่งบ่อเลี้ยง/ทำความสะอาดและซ่อมแซมกระชังในช่วงฤดูแล้งแทน เพื่อเตรียมไว้เลี้ยงสัตว์น้ำในรอบต่อไป

2. วางแผนการเลี้ยงสัตว์น้ำให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่และฤดูกาล โดยเฉพาะแหล่งน้ำ ที่ตั้งกระชังควรมีระดับความลึกเพียงพอ เมื่อตั้งกระชังแล้วพื้นกระชังควรสูงจากพื้นน้ำไม่น้อยกว่า 50 เซนติเมตร เพื่อให้น้ำมีการหมุนเวียนถ่ายเทได้สะดวก

3. ทยอยจับสัตว์น้ำที่ได้ขนาดขึ้นมาจำหน่ายหรือบริโภค เพื่อลดปริมาณสัตว์น้ำภายในบ่อ/กระชัง

4. หากจำเป็นต้องเลี้ยงสัตว์น้ำควรคัดเลือกพันธุ์สัตว์น้ำที่มีความแข็งแรง จากฟาร์มผู้ผลิตที่ได้มาตรฐานและเชื่อถือได้

5. ควบคุมการใช้น้ำและรักษาปริมาณน้ำในบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำให้มีการสูญเสียน้อยที่สุด ป้องกันการรั่วซึมหรือจัดทำร่มเงาให้กับบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำ

6. ควรจัดเตรียมหาแหล่งน้ำสำรองไว้ใช้เพิ่มเติม ปล่อยสัตว์น้ำลงเลี้ยงในปริมาณหนาแน่นน้อยกว่าปกติและปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำที่มีขนาดใหญ่เพื่อลดระยะเวลาการเลี้ยงให้น้อยลง

7. ควรเลือกใช้อาหารสัตว์น้ำที่มีคุณภาพดี ให้ในปริมาณที่เหมาะสม และลดปริมาณอาหารสัตว์น้ำลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เป็นอาหารสดเพื่อป้องกันน้ำเน่าเสีย

8. ควรทำความสะอาดกระชังสม่ำเสมอ เพื่อกำจัดตะกอนและเศษอาหาร ซึ่งเป็นการตัดวงจรชีวิตปรสิตและเชื้อโรค นอกจากนี้ช่วยให้กระแสน้ำไหลผ่านกระชังได้ดี มีผลต่อการเจริญเติบโตและสุขภาพสัตว์น้ำ และควรสังเกตอาการต่าง ๆ ของสัตว์น้ำที่เกิดขึ้นอย่างใกล้ชิด หากมีอาการผิดปกติจะได้แก้ไขและให้การรักษาได้ทันท่วงที

9. ควรงดเว้นการขนถ่ายสัตว์น้ำ ถ้าจำเป็นต้องระมัดระวังให้มากเนื่องจากจะมีผลกระทบกับการกินอาหารและการเจริญเติบโตของสัตว์น้ำโดยตรง

10. ควรหมั่นตรวจสุขภาพสัตว์น้ำอย่างสม่ำเสมอ เมื่อพบสิ่งผิดปกติ ให้รีบหาสาเหตุและแก้ไขได้ทันทีในขณะเดียวกันควรแจ้งให้ผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำอื่น ๆ ที่อยู่ใกล้เคียงทราบ เพื่อที่จะได้หามาตรการป้องกันการแพร่กระจายโรค กรณีที่มีสัตว์น้ำป่วยตายควรกำจัดโดยการฝังหรือเผา ไม่ควรทิ้งสัตว์น้ำป่วยในบริเวณบ่อและแหล่งน้ำที่เลี้ยงเป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นการแพร่กระจายเชื้อโรคทำให้การระบาดของโรคเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว

รองอธิบดีกรมประมง กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับโรคสัตว์น้ำที่ควรเฝ้าระวังในฤดูแล้ง ได้แก่

1. โรคที่เกิดจากปรสิต ได้แก่ เห็บระฆัง ปลิงใส เห็บปลา หมัดปลา เป็นต้น โดยสัตว์น้ำที่เป็นโรคที่เกิดจากปรสิตจะมีลักษณะอาการว่ายน้ำผิดปกติ ว่ายน้ำถูตามข้างบ่อ ลอยตัวที่ผิวน้ำ หายใจถี่เร็วกว่าปกติกินอาหารน้อยลง ผอม ขับเมือกมาก มีจุดแดงหรือมีแผลถลอกตามผิวลำตัว โดยโรคจากปรสิตสามารถควบคุมได้โดยการตัดวงจรชีวิตของปรสิต เช่น รักษาความสะอาด กำจัดตะกอน และเศษอาหาร ควบคู่กับการควบคุมคุณภาพน้ำ และการใช้สารเคมี

2. โรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ได้แก่ โรคตัวด่าง โรคแผลตามลำตัว โรคสเตรปโตคอคคัสเป็นต้น ซึ่งมีสาเหตุมาจากเชื้อแบคทีเรีย ที่อาศัยอยู่ในแหล่งน้ำทั่วไป โดยจะเข้าทำอันตรายต่อสัตว์น้ำเมื่อสัตว์น้ำอ่อนแอ

  • 2.1 โรคตัวด่าง มีสาเหตุมาจากเชื้อแบคทีเรีย Flavobacteriumcolumnare ลักษณะอาการที่พบคือ ผิวหนังบวมแดง แผลด่างตามลำตัวและเหงือก มักเกิดกับปลาในช่วงย้ายบ่อ ระหว่างการลำเลียงหรือการขนส่งปลา และช่วงที่อุณหภูมิในรอบวันมีการเปลี่ยนแปลงมาก ถ้าเกิดปลาขนาดเล็กอาจตายภายใน1 – 2 วัน แนวทางการป้องกันรักษา คือ ปรับปรุงคุณภาพให้เหมาะสม ลดปริมาณสารอินทรีย์ ภายในบ่อเลี้ยงลดความเครียดระหว่างการขนส่งโดยใช้เกลือแกง 1 กิโลกรัม ต่อน้ำ 1 ตัน (0.1 เปอร์เซ็นต์) และการรักษาใช้ด่างทับทิม 1 – 3 กรัมต่อน้ำ 1 ตัน แช่นาน 24 ชั่วโมง หรือฟอร์มาลีน 40 – 50 มิลลิเมตร ต่อน้ำ 1 ตันแช่นาน 24 ชั่วโมง หรือใช้ยาต้านจุลชีพตามคำแนะนำของสัตวแพทย์
  • 2.2 โรคแผลตามลำตัว มีสาเหตุมาจากเชื้อแบคทีเรีย Aeromonassp. หรือ Pseudomonas sp. ลักษณะอาการที่พบ คือ ตกเลือดบริเวณลำตัว/ครีบ ผิวตัวเปื่อย ครีบกร่อน เกล็ดตั้ง ท้องบวม มักพบในบ่อที่มีการจัดการเลี้ยงที่ไม่เหมาะสม เลี้ยงสัตว์น้ำที่ความหนาแน่นสูง แนวทางป้องกันรักษา คือ จัดการการเลี้ยงให้เหมาะสม ลดอัตราความหนาแน่นสัตว์น้ำ หรือใช้ยาต้านจุลชีพในการรักษาตามคำแนะนำของสัตวแพทย์
  • 2.3 โรคสเตรปโตคอคคัส มีสาเหตุมาจากเชื้อแบคทีเรีย Streptococcus agalactiaeลักษณะอาการที่พบ คือ ว่ายน้ำควงสว่าน ตาโปน ตาขุ่น ตกเลือดตามลำตัว หากไม่ได้รับการรักษาจะมีอัตราการตาย 50 – 100 เปอร์เซ็นต์ โรคดังกล่าวจะมีความรุนแรงในช่วงฤดูร้อนโดยเฉพาะในปลานิล เกิดกับปลาได้ทุกขนาด แนวทางในการป้องกันรักษา คือ จัดการการเลี้ยงให้เหมาะสม หรือใช้ยาต้านจุลชีพในการรักษาตามคำแนะนำของสัตวแพทย์

รองอธิบดีกรมประมง กล่าวในตอนท้ายว่า เกษตรกรควรติดตามข่าวสารการพยากรณ์อากาศและสถานการณ์น้ำจากทางราชการอย่างใกล้ชิด และหากมีปัญหาในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ สามารถขอรับคำปรึกษาและคำแนะนำได้ที่ สำนักงานประมงอำเภอ สำนักงานประมงจังหวัด ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด /สัตว์น้ำชายฝั่ง ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดทุกแห่งทั่วประเทศ หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ได้ที่ กองโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริและกิจกรรมพิเศษ กลุ่มช่วยเหลือเกษตรกรชาวประมง โทรศัพท์ 0 2558 0218 และ 0 2561 4740 หรือ Facebook Page : กองโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริและกิจกรรมพิเศษ กรมประมง

กรมประมง ข่าว