เกษตรฯ เร่งต่อยอดภูมิปัญญา “งานหัตถกรรมใยตาลโตนด (โหนดทิ้ง)”

คาบสมุทรสทิงพระ โดยเฉพาะอำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา มีความหนาแน่นของต้นตาลโตนดมากเป็นพิเศษ ทำให้ชาวบ้านโดยทั่วไปรู้จักเอาส่วนต่าง ๆ ของตาลโตนดมาใช้ประโยชน์อย่างกว้างขวางก่อให้เกิดอาชีพหลากหลายในชุมชน ได้แก่ อาชีพทำน้ำตาลโตนด ขายน้ำตาลโตนด อาชีพเกี่ยวกับการแปรรูปผลผลิตจากน้ำตาลโตนด เช่น น้ำผึ้ง น้ำตาลปี๊บ น้ำตาลแว่นหรือขนมต่าง ๆ หัตถกรรมจากใยตาล ใบตาล ไม้ตาล ทำให้มีรายได้สม่ำเสมอผลผลิตและรายได้ไม่ผันผวนมากนักสามารถผลิตและดำรงชีวิตอยู่ได้โดยใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ และสืบต่อกันมาจนกลายมาเป็นวัฒนธรรมชาวบ้าน หรือที่เรียกว่า “วัฒนธรรมตาลโตนด” ในที่นี้จะขอกล่าวถึงเฉพาะการใช้ประโยชน์จากใยตาล และใบตาล ในลักษณะของ “หัตถกรรมใยตาล” ในอดีตใยตาลนำมาทำเชือกสำหรับผูกเรือ และผูกวัว เนื่องจากสมัยก่อนไม่มีเชือกไนลอนมาใช้ จึงได้มีการนำใยตาลซึ่งได้จากพืชท้องถิ่นเส้นใยสีต่าง ๆ ที่ได้จากทางตาลอายุต่างกัน นอกจากนี้ยังนำใยตาลมาทำเครื่องมือใช้สำหรับประกอบอาชีพ เช่น เครื่องมือจับปลา เป็นต้น ตาลโตนดเป็นไม้ยืนต้นที่มีคุณสมบัติพิเศษโดยทุกส่วนของต้นตาลโตนดสามารถ นำมาใช้ประโยชน์ไม่ว่าจะเป็นผล กิ่ง ก้าน ใบ เปลือก ลำต้น และอื่น ๆ มาทำเป็นของใช้ในรูปแบบต่าง ๆ ตามแนวคิดของภูมิปัญญาชาวบ้าน ผลิตภัณฑ์ใยตาลแปรรูปเป็นส่วนหนึ่งของการนำส่วนของตาลโตนดมาแปรรูป ในรูปแบบของงานหัตถกรรมซึ่งสามารถนำมาทำเป็นของใช้ เช่น หมวก กระเป๋า และเฟอร์นิเจอร์ จุดเด่นของเส้นใยตาลโตนดต่างจากเส้นใยอื่น ๆ เพราะมีความเหนียวไม่ฉีกขาดได้ง่ายผลิตภัณฑ์จากเส้นใยตาลเป็นเสน่ห์งานหัตถกรรมไทยที่สามารถครองใจคนไทยและต่างชาติได้ด้วยรูปลักษณ์และความเป็นธรรมชาติ









นางเสริญศิริ หนูเพชร ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแม่บ้านเกษตรกรบ้านบ่อใหม่ ตำบลจะทิ้งพระ อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา กล่าวว่า จากการนำภูมิปัญญาท้องถิ่นการจักสานใยตาลโตนด มาทำเป็นสินค้าหัตถกรรม มีสมาชิกเริ่มแรก ประมาณ 4-5 คน สามารถร่วมกันผลิตชิ้นงานหัตถกรรมใหม่ ออกมาจนเป็นที่ยอมรับและได้รับความนิยมจากจากผู้บริโภค จึงมีสมาชิกเข้าร่วมกลุ่มมากขึ้น ทั้งหมด 15 คน ต่อมาในปี 2545 ทางกลุ่มฯ เปลี่ยนชื่อเป็นกลุ่มหัตถกรรมใยตาลสทิงพระ (กลุ่มโหนดทิ้ง) และได้ออกแบบเครื่องทอเส้นใย และทำแบบหุ่นออกมาเหมือนกัน แล้วเอามาแปรรูปเป็นกระเป๋า และผลิตภัณฑ์อื่น ๆ อีกมากมายหลายแบบ ซึ่งบางแบบใช้ประกอบด้วย ไม้ หนัง หรือผ้า ต่อมาจึงได้นำใบตาลมาเป็นวัตถุดิบในการผลิตกระเป๋า โคมไฟ ที่รองจาน หมวก และกล่องใส่กระดาษทิชชู ผลิตภัณฑ์จากใยตาลโตนด มีข้อจำกัดอยู่บางประการ คือ ความสามารถในการผลิตทำได้ช้า ราคาค่อนสูง เนื่องจากทำใยตาลโตนดราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 700- 800 บาท ทางกลุ่มจึงได้ออกแบบเครื่องตีเส้นใยตาล ทำให้สามารถผลิตใยตาลได้จำนวนมาก ทำให้ราคาถูกลงเหลือกิโลกรัมละ 300 บาท ทางกลุ่มได้รับคัดเลือกให้เข้าร่วม โครงการฝึกอบรมเพิ่มทักษะเชิงปฏิบัติการ “เทคนิคการทอและการจักสานเส้นใย ใบตาลโตนดเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้า” ภายใต้โครงการจัดตั้งเครือข่ายองค์ความรู้ชุมชนมุ่งสู่การเป็น (Knowledge-Based OTOP : KBO) นำร่องของภาคใต้ เป็นโครงการที่จัดทำขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาผลิตภัณฑ์จากการทอเส้นใย และใบตาลโตนด ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมชุมชนที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของอำเภอสทิงพระ ในปี พ.ศ. 2552 ทางกลุ่มได้ผลิตเครื่องทอใยตาล จากการที่กลุ่มเปลี่ยนวิธีการผลิตจากงานจักสานงานถัก มาเป็นงานทอทำให้สามารถผลิตงานได้ซ้ำ ๆ และผลิตชิ้นงานได้มากขึ้น และรูปแบบหลากหลายมากขึ้น เมื่อก่อนการทำกระเป๋า 1 ใบใช้เวลา 5-6 วันต่อ 1 ใบ ต่อ 1 คน ปัจจุบัน 1 คนสามารถผลิตได้ถึง 10 ใบต่อ 1 วัน ทำให้สินค้าราคาถูกลงอย่างมาก และยังคงเอกลักษณ์ และอัตลักษณ์ของใยตาลไว้เหมือนเดิม






นางเสริญศิริ หนูเพชร ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า จุดเด่นของเส้นใยตาลโตนดต่างจากเส้นใยอื่น ๆ เพราะมีความเหนียวไม่ฉีกขาดได้ง่าย ซึ่งมีวิธีการและขั้นตอน ดังนี้
1) ขั้นตอนการผลิตเส้นใย ในการตัดกาบตาล จะต้องเลือกเอากาบของต้นตาลหนุ่มที่มีความสมบูรณ์เต็มที่ ต้นตาลหนุ่มจะมีอายุประมาณ 5 ถึง 15 ปี และต้องดูลักษณะของเส้นให้มีความเรียบเนียน โดยใยตาลมีคุณสมบัติพิเศษ คือมีความเหนียว ไม่ขาดง่าย อีกทั้งมอดไม่กิน ต้นสูงประมาณ 15 เมตร ต้นตาลหนุ่มที่มีความสมบูรณ์จะให้เส้นใยได้มาก เป็นเส้นใยที่มีความยาว ไม่แก่ และไม่อ่อนจนเกินไป และมีสีถึง 3 สี คือ
– เส้นใยสีดำ อยู่บริเวณส่วนหลังของกาบ ด้านที่กาบโค้งลงซึ่งผิวกาบเป็นสีดำหรือสีน้ำตาล
– เส้นใยที่มีสีน้ำตาล อยู่ถัดลงมา บริเวณส่วนกลางกาบ
– เส้นใยสีขาวอยู่บริเวณด้านหน้ากาบด้านที่กาบโค้งขึ้น ซึ่งผิวกาบเป็นสีขาว หรือ ขาวแกมเหลืองอ่อน
นอกจากจะดูอายุและความสมบูรณ์ของต้นตาลแล้ว เมื่อตัดเอากาบก็ต้องดูความสมบูรณ์ของแต่ละกาบเป็นพิเศษด้วย โดยพิจารณาถึงความใหญ่และยาวของกาบเป็นสำคัญ ต้นตาลโตนดต้นหนึ่งจะตัดกาบที่สวยและเหมาะจะเอาเส้นใยได้ประมาณ 1.5 ถึง 2.5 ฟุต ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ของกาบดังกล่าว ใยตาลก็คือการเอากาบของใบตาลมาตีจนเป็นเส้นเหนียวมาก ๆ พอตีได้เป็นเส้นแล้วก็จะเอามาทอ เสร็จแล้วก็เอามาประกอบต่อยอด ออกแบบและดีไซน์เพื่อให้เข้ากับคนรุ่นใหม่มากขึ้น ผลิตภัณฑ์หลักจะเป็นกระเป๋า เป็นโครงไม้ตาล ซึ่งจัดว่าเป็น signature ของโหนดทิ้ง “NODETHING”
2) ขั้นตอนการผลิต การออกแบบผลิตภัณฑ์ ทางกลุ่มฯ ให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก ทำให้กลุ่มฯ ต้องปรับเปลี่ยนและพัฒนาการออกแบบผลิตภัณฑ์ให้ตรงกับลูกค้าวัยทำงานมากขึ้น เน้นที่ทันสมัย Modern เพื่อสร้างกลุ่มลูกค้าใหม่ๆ ทั้งนี้เพราะกลุ่มลูกค้าวัยรุ่น วัยทำงานแล้ว เป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อมาก การแปรรูปจากผลิตภัณฑ์ใยตาลของอำเภอสทิงพระ ถึงแม้ว่าหัตถกรรมใยตาลจะผลิตอยู่เจ้าเดียว แต่กลุ่มยังพัฒนาต่อไม่หยุด รูปแบบสินค้าของกลุ่มฯ มีรูปแบบหลากหลายมาก เช่น กระเป๋าใยตาลถัก หมวกใยตาล กระเป๋าใยตาลประกอบไม้ตาล กระเป๋าใยตาลประกอบหนัง กระเป๋าใยตาลประกอบโลหะ เป็นต้น “กลุ่มโหนดทิ้ง” เป็นกลุ่มที่โดดเด่นที่สุดและเป็นกลุ่มเดียวในประเทศที่ยังคงรักษาภูมิปัญญาใยตาลโตนดให้คงอยู่
นายอนุชา ยาอีด ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ภูมิปัญญาท้องถิ่นมีส่วนสำคัญในวิถีชีวิตของเกษตรกรและการประกอบอาชีพการเกษตรมาตั้งแต่อดีต และยังคงมีการใช้ประโยชน์จนถึงทุกวันนี้ ปัจจุบันเริ่มสูญหายตามกาลเวลา เนื่องจากขาดผู้สืบทอด ไม่มีผู้นำกลับมาใช้ประโยชน์ และมีเทคโนโลยีใหม่เข้ามาทดแทน กรมส่งเสริมการเกษตรได้เล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านการเกษตร จึงได้กำหนดแนวทางการส่งเสริมการใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นและนวัตกรรมในการผลิตทางการเกษตร รวมทั้งอนุรักษ์พันธุ์พืชพื้นถิ่นและฟื้นฟูวิถีชีวิตที่เป็นเอกลักษณ์ของชุมชนเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร โดยกองวิจัยและพัฒนางานส่งเสริมการเกษตร สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา สำนักงานเกษตรจังหวัดสงขลา และสำนักงานเกษตรอำเภอสทิงพระ ได้ดำเนินการพัฒนาและต่อยอดองค์ความรู้ภูมิปัญญาเรื่อง “งานหัตถกรรมใยตาลโตนด (โหนดทิ้ง)” ของวิสาหกิจชุมชนแม่บ้านเกษตรกรบ้านบ่อใหม่ ตำบลจะทิ้งพระ อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา โดยการจัดเวทีชุมชนเพื่อค้นหาแนวทางการพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่นแบบมีส่วนร่วม ซึ่งจะมีการดำเนินการและติดตามผลในระยะเวลา 3 ปี ในปีแรกมีการจัดเวที จำนวน 4 ครั้ง และปีที่ 2 ปีที่ 3 จะดำเนินการจัดเวทีพัฒนาต่อยอดปีละ 1 ครั้ง ร่วมกับหน่วยงานทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง
ในส่วนผลิตภัณฑ์ของกลุ่มสามารถติดต่อได้ที่ วิสาหกิจชุมชนแม่บ้านเกษตรบ้านบ่อใหม่ เลขที่ 115/30 หมู่ที่ 3 ตำบลจะทิ้งพระ อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา โทรศัพท์ 0867411667








กรมส่งเสริมการเกษตร ข่าว