เกษตรฯ เเนะรับมือหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด

1,386

เกษตรฯ เเนะรับมือหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด

  นายอาชว์ชัยชาญ เลี้ยงประยูร รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ในฐานะประธานศูนย์ติดตามและแก้ไขปัญหาภัยแล้งด้านการเกษตร ปี 2563 กรมส่งเสริมการเกษตร เผยว่า ในช่วงสภาพอากาศที่ร้อนและแห้งแล้งนี้ จากการติดตาม รายงานสถานการณ์การระบาดของหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด ของกรมส่งเสริมการเกษตร พบว่าเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดโดยเฉพาะอย่างยิ่งในจังหวัดกาญจนบุรี เชียงราย ตาก แพร่ และลพบุรี อยู่ในระยะการเจริญเติบโตทางลำต้นจนถึงระยะสร้างเมล็ด มักพบการระบาดของหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุดได้ทุกระยะการเจริญเติบโต ซึ่งนอกจากข้าวโพดแล้วหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุดยังมีพืชอาหารมากกว่า 80 ชนิด เช่น ข้าว ข้าวฟ่าง อ้อย ฝ้าย ทานตะวัน และถั่วเหลือง เป็นต้น

                ลักษณะของหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด ตัวเต็มวัยเป็นผีเสื้อกลางคืน มีขนาด 3.2 – 4 เซนติเมตร มีแถบสีขาวที่ขอบปีกคู่หน้า กลางปีกมีแถบลักษณะเป็นวงรีสีน้ำตาล เพศเมียมีสีและลวดลายจางกว่าเพศผู้ เพศเมียจะวางไข่ในเวลากลางคืน โดยวางไข่เป็นกลุ่มใต้ใบพืช แต่ละกลุ่มจะมีไข่ประมาณ 100 – 200 ฟอง และมีขนสีน้ำตาลอ่อนปกคลุม เพศเมียหนึ่งตัววางไข่ได้ประมาณ 1,500 – 2,000 ฟอง ระยะไข่ 2 – 3 วัน ระยะหนอน 14 – 22 วัน หนอนที่โตเต็มที่มีขนาดลำตัวยาวประมาณ 3.2 – 4 เซนติเมตร ส่วนบนของหัวมีแถบสีขาวเป็นรูปตัว Y หัวกลับ ส่วนหลังและด้านข้างมีแถบสีขาวตามยาวลำตัวปล้องท้องก่อนปล้องสุดท้ายมีจุดสีดำ 4 จุด เรียงเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ตัวหนอนจะเข้าดักแด้ในดิน ระยะดักแด้ 7 – 13 วัน จึงออกเป็นตัวเต็มวัยและมีชีวิตอยู่ได้ 10 – 21 วัน วงจรชีวิตของหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด ใช้เวลาประมาณ 30 – 40วัน เมื่อผสมพันธุ์แล้ว

                การเข้าทำลายตัวหนอนจะทำลายข้าวโพดตั้งแต่อายุประมาณ 7 วัน จนกระทั่งออกฝัก โดยกัดกินยอดและใบข้าวโพดแหว่งหรือกัดกินทั้งใบ ช่อดอกตัวผู้ ฝัก เมล็ด ตัวหนอนหลบซ่อนแสงอยู่ที่ยอดหรือโคนกาบใบ หากหนอนทำลายในระยะต้นอ่อนจะทำให้ต้นข้าวโพดตาย หากหนอนทำลายในระยะต้นแก่ข้าวโพดจะไม่เจริญเติบโต หากหนอนทำลายฝัก ฝึกจะลีบเล็กไม่สมบูรณ์

                กรมส่งเสริมการเกษตรขอแนะนำให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดหมั่นสำรวจแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ หากพบกลุ่มไข่หรือตัวหนอนให้เก็บทำลายทิ้ง และในการกำจัดหนอนขนาดเล็กที่เพิ่งฟักออกจากไข่ให้ฉีดพ่นด้วยสารชีวภัณฑ์ เช่น เชื้อบีทีสายพันธุ์ไอซาไว (Bacillus thuringiensis var. aizawai) หรือสายพันธุ์เคอร์สตาร์กี้ (Bacillus thuringiensis var. kurstaki) อัตรา 80 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นทุก 4-7 วัน และควรพ่นในตอนเย็นจะเกิดประสิทธิภาพการทำลายสูงสุด สำหรับในแปลงที่ไม่ใช้สารเคมี ให้ใช้แมลงตัวห้ำ เช่น แมลงหางหนีบ มวนเพชฌฆาต หรือ มวนพิฆาต หากพบการระบาดขอแนะนำให้ใช้สารเคมี เช่น สไปนีโทแรม (กลุ่ม 5) ฟลูเบนไดอะไมด์ คลอแรนทรานิลิโพรล (กลุ่ม 28 )  และอีมาเมกตินเบนโซเอต (กลุ่ม 6)  เป็นต้น อัตราตามคำแนะนำในฉลากสารเคมี และต้องสลับกลุ่มสารเคมีทุก 30 วัน (1 รอบวงจรชีวิต) เพื่อป้องกันไม่ให้หนอนดื้อสารเคมี ในการพ่นสารเคมี ให้เน้นการพ่นละอองสารเคมีลงกรวยยอดมากที่สุด ซึ่งจะเกิดประสิทธิภาพในการทำลายหนอนมากสุด ส่วนในฤดูกาลปลูกต่อไปขอแนะนำให้เกษตรกรกรไถพรวนและตากดินเพื่อกำจัดดักแด้ที่อยู่ในดิน

ทั้งนี้ ก่อนปลูกควรคลุกเมล็ดด้วยสารเคมีไซแอนทรานิลิโพรล 20% เอสซี (กลุ่ม 28) อัตราตามคำแนะนำในฉลากสารเคมี หรือหากมีข้อสงสัยให้ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานเกษตรอำเภอใกล้บ้านท่าน

กรมส่งเสริมการเกษตร ข่าว