บ้านควนโท๊ะ จังหวัดสตูลลุ้นรางวัลเลิศรัฐ

506

กรมส่งเสริมการเกษตร เดินหน้านำเสนอผลงาน “สร้างเงิน สร้างคน วิถีแก้จน แบบคนควนโท๊ะ” จังหวัดสตูล ในการตรวจประเมินขั้นตอนที่ 2 ลุ้นรางวัลเลิศรัฐ ดีเด่น สาขาการบริหารราชการแบบมีส่วน ประเภทร่วมใจแก้จน ประจำปี พ.ศ. 2566

นางอัญชลี สุวจิตตานนท์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เข้าร่วมการตรวจประเมินรางวัลเลิศรัฐ สาขาการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ประเภทร่วมใจแก้จน ประจำปี พ.ศ. 2566 ขั้นตอนที่ 2 การตรวจประเมิน ณ พื้นที่ปฏิบัติงาน โดยคณะกรรมการฯ จากสำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (สำนักงาน ป.ย.ป.) เพื่อคัดเลือกผลงานในระดับดีเด่น ในผลงาน “สร้างเงิน สร้างคน วิถีแก้จน แบบคนควนโท๊ะ” จังหวัดสตูล  ณ องค์การบริหารส่วนตำบลแป-ระ และที่ทำการวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแปลงเรียนรู้ควบคู่การผลิตเพื่อยังชีพบ้านควนโท๊ะ ตำบลแป-ระ อำเภอท่าแพ จังหวัดสตูล ซึ่งเป็นผลงานที่ผ่านการตรวจประเมินจากเอกสารในขั้นตอนที่ 1 อยู่ในระดับดีมาแล้ว

รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า  ผลงาน “สร้างเงิน สร้างคน วิถีแก้จน แบบคนควนโท๊ะ” จังหวัดสตูล ของวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแปลงเรียนรู้ควบคู่การผลิตเพื่อยังชีพบ้านควนโท๊ะ ตำบลแป-ระ อำเภอท่าแพ จังหวัดสตูล มีจุดเริ่มต้นมาจากสถานการณ์ราคาผลผลิตของยางพาราและปาล์มน้ำมัน ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจหลักในพื้นที่ มีความผันผวนและราคาตกต่ำ เกษตรกรจึงมีรายได้ที่น้อยลง ส่งผลให้รายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่ายในครัวเรือน สำนักงานเกษตรอำเภอท่าแพได้ชักชวนเข้าร่วมโครงการแก้ไขปัญหาความยากจน และได้รับการสนับสนุนและส่งเสริมให้ปลูกข้าวโพดหวานและแตงโม เพื่อเป็นอาชีพเสริมเพิ่มรายได้จากพืชเศรษฐกิจหลัก ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากเกษตรกรในพื้นที่ เนื่องจากข้าวโพดหวานเป็นพืชที่ปลูกง่าย คนนิยมรับประทาน อายุเก็บเกี่ยวสั้น และปัจจุบันเป็นสินค้าที่สร้างชื่อเสียงของอำเภอท่าแพ ต่อมาสำนักงานเกษตรจังหวัดสตูลและสำนักงานเกษตรอำเภอท่าแพ ได้ดำเนินการส่งเสริมให้เกิดการรวมกลุ่มเกษตรกร และได้จดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชน ในชื่อ “กลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแปลงเรียนรู้ควบคู่การผลิตเพื่อยังชีพบ้านควนโท๊ะ” กิจกรรมที่จดทะเบียน คือ ผลิตและจำหน่ายข้าวโพดหวานและแตงโม หลังจากการรวมกลุ่มและมีการดำเนินกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง กลุ่มมีการเพิ่มเติมกิจกรรมคือปลูกฟักทอง กระเจี๊ยบเขียว ข้าวเหนียวดำ ต่อมากลุ่มมีการเพิ่มเติมกิจกรรมโดยการปรับพื้นที่บริเวณหน้าแปลงเพาะปลูกสร้างเป็นตลาดเกษตรกร เพื่อจำหน่ายสินค้าและผลผลิตต่าง ๆ ของเกษตรกรสมาชิก กลุ่มได้รับการสนับสนุนระบบน้ำเพื่อใช้ในแปลงข้าวโพดภายใต้โครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อภายใต้ร่มพระบารมีเพื่อการพัฒนาการเกษตรอย่างยั่งยืนจากสำนักงานเกษตรอำเภอท่าแพ นอกจากนี้กลุ่มยังได้รับการสนับสนุนโรงเรือนปลูกผักบนกระเบื้องพร้อมวัสดุปลูกจากสถานีพัฒนาที่ดินจังหวัดสตูล ปัจจุบันกลุ่มมีสมาชิกทั้งสิ้น 30 ราย มีคณะกรรมการบริหารจัดการกลุ่มขับเคลื่อนการดำเนินงาน มีการประชุม เพื่อติดตามสถานการณ์ปลูกและจำหน่าย มีการเพิ่มพูนความรู้ตามสถานการณ์ มีการแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบให้กับสมาชิกอย่างชัดเจน ร่วมกันวางแผนการผลิตเพื่อให้ผลผลิตออกสู่ตลาดได้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค ร่วมกันคิดร่วมกันทำ ร่วมกันแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น ผลิตภัณฑ์หลักที่สร้างรายได้ให้กลุ่ม คือ ข้าวโพดหวาน ผักสลัด ผักกาดขาว ผักกวางตุ้ง ไข่เป็ด และพืชผักสวนครัวต่าง ๆ ผลิตภัณฑ์ของกลุ่มได้รับรองมาตรฐาน GAP และอยู่ในระหว่างการขอรับรองมาตรฐาน GAP แบบกลุ่ม การดำเนินกิจกรรมของกลุ่มเกิดเป็นแปลงเรียนรู้ที่มีคนสนใจเข้ามาเรียนรู้อย่างต่อเนื่องปีละไม่ต่ำกว่า 200 – 300 ราย กลุ่มมีรายได้จากการจำหน่ายผักปลอดภัย ปี 2562 จำนวน 300,000 บาท ปี 2563 จำนวน 450,000 บาท และปี 2564 จำนวน 550,000 บาท ซึ่งแนวโน้มรายได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้สมาชิกกลุ่มมีรายได้อย่างยั่งยืน ปัจจุบันกลุ่มเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการเกษตร โดยเป็นวิสาหกิจชุมชนต้นแบบระดับตำบลและระดับอำเภอ เป็นแหล่งเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงของตำบล/อำเภอ และเป็นศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.เครือข่าย) ด้านเศรษฐกิจพอเพียง เกษตรทฤษฎีใหม่ เกษตรผสมผสาน ของอำเภอท่าแพ มีการเชื่อมโยงขับเคลื่อนการทำงานร่วมกับเกษตรกรรุ่นใหม่ จากเวทีประชุมขับเคลื่อน ศพก. แปลงใหญ่ เกิดเครือข่ายแลกเปลี่ยนความรู้ความรู้ใหม่ๆ เกิดการพัฒนาตนเอง พัฒนากลุ่ม สร้างผลผลิตที่มีคุณภาพ และเกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ มีรายได้ที่มั่นคง สามารถพึ่งตนเองได้ และกลุ่มได้เตรียมสืบทอดอาชีพทำการเกษตรและสร้างจิตสำนึกในการรักอาชีพให้แก่ลูกหลานของสมาชิก

กรมส่งเสริมการเกษตร ข่าว