กรมประมง ลงนาม MOA บ.โซลารินน์ จำกัด ร่วมพัฒนาระบบกักเก็บพลังงานไฟฟ้าเพื่อใช้ในกิจกรรมประมง
วันที่ 26 มิถุนายน 2566 เวลา 14.00 น. ณ บริษัท โซลารินน์ จำกัด แขวงคลองเตย เขตคลองเตย กรุงเทพฯ กรมประมง โดย นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ อธิบดีกรมประมง และ บริษัท โซลารินน์ จำกัด โดย นายยุพธัช ยิบอินซอย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โซลารินน์ จำกัด ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “การพัฒนาระบบการกักเก็บพลังงานไฟฟ้าเพื่อใช้ในกิจกรรมการประมง” มุ่งลดต้นทุนการผลิตสัตว์น้ำด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม พร้อมเล็งขยายผลให้เกษตรกรนำไปต่อยอดใช้ประโยชน์จริง
นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า กรมประมงให้ความสำคัญกับการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในการลดต้นทุนการผลิต เนื่องจากการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจำเป็นต้องใช้ไฟฟ้าเป็นพลังงานหลักในกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การใช้เครื่องตีน้ำหรือเครื่องเติมอากาศเพื่อเพิ่มปริมาณออกซิเจน การสูบน้ำหรือการเปลี่ยนถ่ายน้ำ รวมถึงการให้แสงสว่างภายในฟาร์ม จึงมีความจำเป็นต้องใช้ไฟฟ้าในปริมาณมากและต่อเนื่องตลอดทั้งปี ทำให้เกษตรกรต้องแบกรับต้นทุนการผลิตด้านพลังงานไฟฟ้าเป็นจำนวนมาก
กรมประมงได้เล็งเห็นถึงปัญหาดังกล่าวจึงร่วมมือกับ บริษัท โซลารินน์ จำกัด นำร่องดำเนินโครงการต้นแบบ “การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำด้วยระบบชลประทานน้ำเค็มที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลดต้นทุนในกิจกรรมเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำด้วยการนำพลังงานทางเลือกมาใช้ประโยชน์ เช่น พลังงานจากแสงอาทิตย์ หรือ โซลาร์เซลล์ ควบคู่ไปกับการศึกษา วิจัย และพัฒนาระบบกักเก็บพลังงานไฟฟ้า BSS (Battery Storage System) ที่ผลิตจาก Sodium ion และเทคโนโลยีอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำมาปรับใช้ภายในศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดจันทบุรีเป็นแห่งแรก และวางแผนการจัดตั้งเป็นศูนย์กลางในการเผยแพร่องค์ความรู้ให้แก่เกษตรกรในพื้นที่และประชาชนทั่วไป พร้อมขยายผลต่อยอดการใช้ประโยชน์จริงในพื้นที่ของเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งจังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งคาดว่าจะสามารถลดต้นทุนด้านพลังงานไฟฟ้าให้เกษตรกรได้เป็นอย่างดี
อธิบดีฯ กล่าวในตอนท้ายว่า จากความร่วมมือในครั้งนี้ นับเป็นโอกาสอันดีที่บุคลากรของทั้ง 2 หน่วยงาน จะได้รับการพัฒนาองค์ความรู้ในด้านอุตสาหกรรมระบบกักเก็บพลังงานไฟฟ้า BSS เพื่อลดการใช้พลังงานไฟฟ้าและลดต้นทุนการผลิต นำไปสู่การยกระดับขีดความสามารถในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เกษตรกรสามารถประกอบอาชีพด้านการประมงได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนต่อไป
กรมประมง ข่าว