ปราชญ์ชาวบ้าน อาจารย์ชุมพจน์ ศรีโสภา

410

จากสอนวิชาสังคม มาเป็นสอนวิชาทุเรียน

เพราะคำว่า “ทุเรียนพันธุ์ทับทิมทอง” จึงทำให้อยากรู้ว่า ปราชญ์ชาวบ้านอย่างอาจารย์ชุมพจน์ ศรีโสภา ผสมอย่างไรจึงได้ทุเรียนพันธุ์นี้ออกมา ทำให้ทีมงานของสถานีวิทยุกระจายเสียงเพื่อการเกษตรดั้นด้นมาถึงสวนทุเรียนอาจารย์ชุมพจน์ ศรีโสภา จังหวัดปราจีนบุรี

คำตอบที่ได้คือ ธรรมชาติจัดสรร เค้าผสมกันเองตามธรรมชาติ

ทุเรียนพันธุ์ทับทิมทอง เป็นการผสมระหว่างชะนี และ ก้านยาว ผลออกมา หนามคล้ายชะนี แต่ตัวก้านยาว เนื้อสีเหลืองเข้มแบบชะนี แต่เหนียวกว่า กลิ่นน้อยกว่าชะนี

การดูแลทุเรียนไม่ว่าจะเป็นพันธุ์ไหนสิ่งที่สำคัญ คือ น้ำ ก่อนเริ่มการปลูก จะต้องวางระบบน้ำให้ดี เพราะทุเรียนต้องการน้ำตลอดระยะเวลาที่ปลูก น้ำไม่มาก และไม่น้อยจนเกินไป ถ้าไม่มีน้ำ ทุเรียนจะยืนต้นตาย แต่ถ้ามากไป ก็จะเกิดโรครากเน่า โคนเน่าได้

นอกจากเรื่องน้ำ ในส่วนของดินก็สำคัญ ทุเรียนชอบดินร่วนปนทราย สภาพดินต้องระบายน้ำได้ดี ถ้าปนลูกรังต้องไม่ผสมดินเหนียว เมื่อโดนน้ำแล้วต้องไม่จับตัวเป็นก้อน เพื่อให้ระบายน้ำได้ง่าย

ในส่วนของแมลงศัตรูพืชที่คอยกวนใจเกษตรกรชาวสวนทุเรียน จะมีเพลี้ยจักจั่นฝอย เพลี้ยไก่แจ้ เพลี้ยแป้ง และเพลี้ยหอย ที่เป็นศัตรูพืช

อีกทั้งยังมีโรคราใบติด ราสนิม ราจุดสาหร่าย หนอนด้วง ซึ่งอาจารย์ชุมพจน์บอกว่า เกษตรกรเข้าสวนตอนเช้า จะต้องมองยอด มองต้น ใบเหลืองไหม ใบต้องเขียวเป็นมัน ต้นจึงจะสมบูรณ์ ถ้าเกษตรกรไม่ชำนาญจะแยกไม่ค่อยออก เกษตรกรต้องคอยสอดส่องระวังหนอนด้วงเจาะผล

ในมุมมองของอาจารย์ชุมพจน์ ศรีโสภา ตลาดทุเรียนของไทยยังไปได้อีกไกล เพราะนอกจากจีน ยังมีตะวันออกกลางที่ชอบทุเรียนของไทย ซึ่งตลาดแต่ละประเทศก็จะมีความชอบเนื้อสัมผัสที่แตกต่างกัน  ประเทศไทยควรมีการขยายตลาดไปตะวันออกกลางด้วย

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นการเกษตรของประเทศเรา จะไปรอดได้ เราจะต้องรักษาคุณภาพ และซื้อสัตย์

“อยู่ที่ปราจีนบุรีมาห้าสิบกว่าปี ที่บ้านทำสวนทุเรียนมาตั้งแต่รุ่นเตี่ย รุ่นแม่  ไม่ได้เรียนจบเกษตรมา จบ มศ.๕ ก็ไปเป็นครู สอนวิชาสังคม แต่รากเหง้าของเราเป็นเกษตรกร อยากให้การเกษตรของปราจีนบุรีพัฒนาเหมือนกับจันทบุรี” อาจารย์ชุมพจน์ ศรีโสภา กล่าวทิ้งท้าย

ใครสนใจอยากกินทุเรียนปราจีนบุรีแท้ๆ สามารถมาที่สวนทุเรียนอาจารย์ชุมพจน์ ศรีโสภา โทร.๐๘๕-๑๕๔-๔๒๐๖, ๐๘๕-๒๗๘-๘๑๕๓

วิทยุกระจายเสียงเพื่อการเกษตร บทความ