กรมส่งเสริมการเกษตร พัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่ (Young Smart Farmer) ภายใต้กรอบความร่วมมือ IMT-GT
นายอนุชา ยาอีด ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา กล่าวว่า แผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่ายอินโดนีเซีย – มาเลเซีย – ไทย (Indonesia-Malaysia-Thailand Growth Triangle : IMT-GT) เป็นโครงการความร่วมมือระหว่างสาธารรัฐอินโดนีเซีย สหพันธรัฐมาเลเซีย และประเทศไทย เริ่มต้นขึ้นในช่วงปี พ.ศ. 2536 โดยผู้นำทั้ง 3 ประเทศได้เห็นชอบการผลักดันการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจในลักษณะไตรภาคีเพื่อเร่งรัดการปฏิรูปทางเศรษฐกิจในพื้นที่ส่วนภูมิภาคที่ยังด้อยพัฒนา ซึ่งธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (Asian Development Bank : ADB) ได้ทำการศึกษาความเป็นไปได้และกำหนดแนวทางการดำเนินงานในการพัฒนาเขตเศรษฐกิจดังกล่าวก่อนที่ที่ประชุมระดับรัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่อาวุโสของทั้ง 3 ประเทศจะให้ความเห็นชอบในปี พ.ศ. 2537 พื้นที่ ความร่วมมือประกอบด้วย เกาะสุมาตราของอินโดนีเซีย จำนวน 10 จังหวัด ได้แก่ อาเจะฮ์, สุมาตราเหนือ, สุมาตราตะวันตก, เรียว, จัมบี, สุมาตราใต้, เบิงกูลู, บังกา-เบลีตัง, เกาะเรียว, ลัมปุง ภาคเหนือของมาเลเซีย จำนวน 8 รัฐในคาบสมุทรมลายู ได้แก่ ปะลิส, เคดาห์, ปูลัวปีนัง, เปรัค, เซลังกอร์, กลันตัน, มะละกา, เนอเกอรีเซมบีลัน และภาคใต้ของไทย จำนวน 14 จังหวัด ครอบคลุมประชากรจำนวนกว่า 70 ล้านคน ในพื้นที่ที่มีความใกล้ชิดกันทางภูมิศาสตร์ มีประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และภาษาที่คล้ายคลึงกัน
แผนงาน IMT-GT เน้นความร่วมมือในหลากหลายสาขา ได้แก่ ด้านการค้าและการลงทุน, ด้านการเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร, ด้านการท่องเที่ยว, ด้านระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานและการเชื่อมต่อการขนส่ง, ด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และด้านการผลิตและให้บริการฮาลาล โดยมีจุดมุ่งหมายที่สำคัญ คือ การพัฒนาในเขตจังหวัดพื้นที่ภาคใต้ เน้นบทบาทของภาคเอกชนให้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนา
กรมส่งเสริมการเกษตรได้ดำเนินโครงการภายใต้กรอบ IMT-GT จำนวน 3 โครงการ ได้แก่ 1) การฝึกอบรมเกษตรกรรุ่นใหม่และเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตร (Regional Training for Agriculture Young Farmers in the Framework of IMT-GT) 2) โครงการบริหารจัดการการผลิตและขยายพันธุ์พืชสมุนไพรเชิงเศรษฐกิจตลอดห่วงโซ่มูลค่า (Project on Economic Herb Production and Propagation Management Throughout Value Chain) และ 3) โครงการฟาร์มอัจฉริยะทางเลือกเกษตรกรรุ่นใหม่ (Smart Farm Technologies Smart Choice of Young Farmer)
ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ในการดำเนินงานภายใต้ความร่วมมือดังกล่าว กรมส่งเสริมการเกษตรโดยสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา ได้เป็นเจ้าภาพจัดประชุมเชิงปฏิบัติการและศึกษาดูงานโครงการฟาร์มอัจฉริยะทางเลือกเกษตรกรรุ่นใหม่ขึ้น ระหว่างวันที่ 12 – 16 มิถุนายน 2566 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ ทักษะ รวมทั้งประสบการณ์ด้านการจัดการฟาร์มอัจฉริยะ จัดทำแผนปฏิบัติงานด้านการพัฒนาเกษตรอัจฉริยะของแต่ละประเทศสมาชิก IMT-GT และเพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการระหว่างเจ้าหน้าที่และเกษตรกรรุ่นใหม่ของประเทศสมาชิก IMT-GT สำหรับผู้เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ มีจำนวนทั้งสิ้น 65 คน ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่และเกษตรกรรุ่นใหม่จากสาธารณรัฐอินโดนีเซีย สหพันธรัฐมาเลเซีย และประเทศไทย รวม 55 คน และเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง จำนวน 10 คน กิจกรรมประกอบด้วย
- การประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อนำเสนอและแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับระบบการบริหารจัดการฟาร์มอัจฉริยะ ระหว่างผู้เข้าร่วมกิจกรรมและวิทยากรจากภาคส่วนต่าง ๆ ของประเทศไทย ได้แก่ บริษัท เอ.ที.ซี.ซัพพลาย และ Young Smart Farmer ของประเทศไทยจากจังหวัดพังงา
- การศึกษาดูงานต้นแบบฟาร์มอัจฉริยะที่ประสบความสำเร็จ จำนวน 5 แห่ง ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้แก่ บุนนาคฟาร์ม อำเภอไชยา, เซนต์ฟาร์ม อำเภอพุนพิน, ไร่พ่อเฒ่า อำเภอพุนพิน, สวนสละอาทิตย์ อำเภอบ้านนาสาร และการบริหารจัดแปลงยางพารา อำเภอเคียนซา ซึ่งได้ประยุกต์ใช้เทคโนโลยี smart farm ไปใช้เพื่อพัฒนาศักยภาพและแก้ปัญหาการผลิตเกษตรกรในพื้นที่
- การจัดทำแผนปฏิบัติงานด้านการพัฒนาเกษตรอัจฉริยะของประเทศสมาชิก สำหรับแผนการดำเนินกิจกรรมโครงการในระยะต่อไป คือ สาธารณรัฐอินโดนีเซียและสหพันธรัฐมาเลเซียจะเป็นเจ้าภาพในการศึกษาดูงาน ในเดือนกันยายน ปี 2566 และเดือนมกราคม ปี 2567 ตามลำดับ ซึ่งหลังจากกิจกรรมดังกล่าวจะเป็นการสรุปผลและรายงานความก้าวหน้าให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบต่อไป
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกรมส่งเสริมการเกษตร ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของความร่วมมือของทั้งสามประเทศเพื่อให้บรรลุเป้าและวิสัยทัศน์ของ IMT-GT ที่ช่วยสร้างประโยชน์ให้แก่ภูมิภาคและประชาชนของทั้ง 3ประเทศต่อไป
กรมส่งเสริมการเกษตร ข่าว