เกษตรฯ หนุนยกระดับทุเรียนถิ่นถ่านหินเคียนซาเป็นสินค้า GI

267

กรมส่งเสริมการเกษตรหนุนยกระดับทุเรียนถิ่นถ่านหินเคียนซาเป็นสินค้า GI

กลุ่มแปลงใหญ่ทุเรียนถิ่นถ่านหิน อำเภอเคียนซา จังหวัดสุราษฎร์ธานี เร่งขึ้นทะเบียนเป็นสินค้าบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ด้วยรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ ด้านกรมส่งเสริมการเกษตร ปูพรมให้ความรู้เกษตรกรลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต พัฒนาคุณภาพสินค้าสู่มาตรฐานสากล

นายรพีทัศน์ อุ่นจิตตพันธ์
รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร

นายรพีทัศน์ อุ่นจิตตพันธ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวถึงจุดเด่นและผลการดำเนินงานของแปลงใหญ่ทุเรียนถิ่นถ่านหิน หมู่ที่ 2 ตำบลพ่วงพรมคร อำเภอเคียนซา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ว่าเป็นทุเรียนถิ่นถ่านหิน
พันธุ์หมอนทอง ที่มีรสชาติหวาน มัน กรอบ อร่อย และกลิ่นไม่ฉุนมากเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว เนื่องจากบริเวณพื้นที่ปลูกมีถ่านหินจำนวนมาก ทำให้ทุเรียนได้รับธาตุซัลเฟอร์ หรือกำมะถัน ที่ปะปนอยู่ในถ่านหิน ประกอบกับได้รับไนโตรเจนสูง จึงส่งผลต่อรสชาติของทุเรียนเป็นลักษณะเฉพาะ จนได้รับการยอมรับจากผู้บริโภคที่ชื่นชอบอย่างแพร่หลาย โดยพื้นที่การปลูกทุเรียนหมอนทองถิ่นถ่านหิน ครอบคลุมพื้นที่ในอำเภอเคียนชา ประกอบด้วยตำบลเขาตอก ตำบลเคียนซา ตำบลพ่วงพรมคร ตำบลอรัญคามวารี และตำบลบ้านเสด็จ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการขอขึ้นทะเบียนเป็นสินค้าบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ของจังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยใช้ชื่อว่า ทุเรียนหมอนทองถิ่นถ่านหิน@เคียนชา

นายชัยพร นุภักดิ์ เกษตรจังหวัดสุราษฎร์ธานี  กล่าวว่า ปี 2566 สำนักงานเกษตรจังหวัดได้ดำเนินงานโครงการส่งเสริมและพัฒนาสินค้าเกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่น กิจกรรมส่งเสริมสินค้าเกษตรตามอัตลักษณ์และภูมิปัญญาท้องถิ่น
โดยเลือกสินค้าทุเรียนของอำเภอเคียนซา และได้ดำเนินการฝึกอบรมถ่ายทอดความรู้ในการจัดการสวนอย่างมีคุณภาพ รวมถึงอบรมกระบวนการในการจัดทำสินค้าบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) โดยได้เชิญสำนักงานพาณิชย์จังหวัดมาให้ข้อมูล และขณะนี้อยู่ระหว่างจัดทำคำขอขึ้นทะเบียน GI ของจังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยสำนักงานเกษตรจังหวัดร่วมกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตสุราษฎร์ธานี ใช้ชื่อว่า ทุเรียนหมอนทองถิ่นถ่านหิน@เคียนชา เพื่อให้สอดรับกับการได้รับการรับรองมาตรฐาน GAP สามารถยกระดับนำทุเรียนส่งออกไปขายยังต่างประเทศได้ อย่างไรก็ตามยังมีสิ่งที่ต้องดำเนินการก่อนเสนอขอ GI คือ การวิเคราะห์ธาตุอาหารและสารตกค้างในดินและผลผลิตที่เกี่ยวกับถ่านหินเพื่อรับรองความปลอดภัยให้แก่ผู้บริโภค ซึ่งสำนักงานเกษตรจังหวัดจะดำเนินการในลำดับต่อไป

ด้านนายณที นุ่นมา ประธานแปลงใหญ่ทุเรียนถิ่นถ่านหิน กล่าวว่า เริ่มจัดตั้งเป็นแปลงใหญ่เมื่อปี 2565 มีสมาชิก 66 คน พื้นที่ปลูก 699 ไร่ สมาชิกส่วนใหญ่ได้รับรับรองมาตรฐาน GAP เนื่องจากทางสำนักงานเกษตรจังหวัดสุราษฎร์ธานี และสำนักงานเกษตรอำเภอเคียนซา ได้เข้ามาสนับสนุนองค์ความรู้ต่าง ๆ เพื่อให้ทุเรียนมีคุณภาพ และปลอดภัย ส่วนการขอขึ้นทะเบียน GI อยู่ระหว่างดำเนินการในเรื่องเอกสาร ซึ่งจะต้องยื่นเรื่องไปที่กรมทรัพย์สินทางปัญญาเป็นผู้พิจารณา โดยทุเรียนถิ่นถ่านหิน มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว มีรสชาติหวาน มัน กรอบ และกลิ่นไม่ฉุนมาก ไม่เหมือนทุเรียนที่อื่นที่เวลาสุกจะมีกลิ่นฟุ้งกระจาย เหมาะสำหรับคนไม่ชอบกลิ่นฉุน ทำให้มีลูกค้าชอบรับประทานจำนวนมาก

“นอกจากนี้ทางสำนักงานเกษตรจังหวัดสุราษฎร์ธานี และสำนักงานเกษตรอำเภอเคียนซา ยังเข้ามาส่งเสริมในเรื่องการดูแลและบำรุงต้นทุเรียน โดยให้เน้นการใช้ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยอินทรีย์ และน้ำหมักชีวภาพแทนการใช้ปุ๋ยเคมี เพื่อลดต้นทุนการผลิต รวมไปถึงการแนะนำให้เกษตรกรใช้สารชีวภัณฑ์ต่าง ๆ ในการกำจัดศัตรูพืช และแนะนำการใช้ระบบน้ำเพื่อลดการใช้แรงงานคน เพื่อให้เกิดการลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต พัฒนาคุณภาพสินค้า และเป็นเกษตรกรสมัยใหม่ หรือ Smart Farmer ปัจจุบันสมาชิกในกลุ่มส่วนใหญ่ได้ขายทุเรียนให้กับล้ง (ผู้ประกอบการรับซื้อทุเรียน) ราคาหน้าสวนอยู่ที่กิโลกรัมละ 120-150 บาท ถือเป็นราคาที่ดีทำให้เกษตรกรมีรายได้เพียงพอและยั่งยืน”

สำหรับทุเรียนถิ่นถ่านหิน หมู่ที่ 2 ตำบลพ่วงพรมคร อำเภอเคียนซา มีลักษณะผลใหญ่ ทรงกลม น้ำหนักประมาณ 2.5 – 5 กิโลกรัม  เปลือกบาง หนามเป็นรูปพีรมิด เนื้อสีเหลืองนวล เนื้อแน่นแห้งไม่ติดมือ เส้นใยเหนียวนุ่ม รสชาติ หวานมัน กลมกล่อม กลิ่นไม่ฉุนมาก เมล็ดเล็ก และมีค่าความหวานประมาณ 12 องศาบริกซ์ขึ้นไป โดยเกษตรกรจะเก็บเกี่ยวในช่วงเดือนมิถุนายน – สิงหาคมของทุกปี

กรมส่งเสริมการเกษตร ข่าว