เกษตรฯชู ศจช. ตะกุกใต้แหล่งเรียนรู้ฯจัดการศัตรูพืช

297

กรมส่งเสริมการเกษตรชู ศจช. ตะกุกใต้ผลงานเด่นด้านจัดการศัตรูพืช

กรมส่งเสริมการเกษตร หนุนศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชนตำบลตะกุกใต้ จังหวัดสุราษฎร์ธานี เดินหน้าเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านอารักขาพืชและจัดการศัตรูพืชครบวงจร การันตีผลงานด้วยรางวัลดีเด่นระดับจังหวัด และระดับเขต

นายรพีทัศน์ อุ่นจิตตพันธ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวถึงบทบาทของศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชน (ศจช.) ตำบลตะกุกใต้ อำเภอวิภาวดี จังหวัดสุราษฎร์ธานี ในการอารักขาพืชและช่วยแก้ไขปัญหาให้เกษตรกรจากศัตรูพืชว่า บทบาทและหน้าที่หลักของศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชน คือเป็นศูนย์กลางในการพัฒนาเกษตรกรและชุมชนให้มีความรู้ความสามารถในการจัดการศัตรูพืชได้ด้วยตนเองอย่างยั่งยืน พร้อมทำหน้าที่สำรวจ ติดตาม และประชาสัมพันธ์เตือนการระบาดของศัตรูพืชให้แก่ชุมชน และให้เกษตรกรสามารถผลิตสารชีวภัณฑ์ และศัตรูธรรมชาติใช้ควบคุมศัตรูพืชได้ด้วยตนเอง

ปัจจุบันสมาชิกของศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชนตำบลตะกุกใต้ มีจำนวน 40 ราย โดยมีนายธีระวัฒน์ สงเกื้อ เป็นประธานศูนย์ฯ มีการผลิตสารชีวภัณฑ์ต่าง ๆ หมุนเวียนไปตามฤดูกาล ได้แก่ เชื้อราไตรโคเดอร์มา เชื้อบิวเวอเรีย เชื้อราเมธาไรเซียม และเห็ดเรืองแสงสิรินรัศมี ส่วนแมลงศัตรูธรรมชาติ จะเน้นผลิตแมลงหางหนีบ, มวนพิฆาต, มวนเพชฌฆาต และสารสกัดธรรมชาติ จะผลิตน้ำหมักสมุนไพรไล่แมลงเป็นหลักโดยผลงานที่ผ่านมาของศูนย์จัดการศัตรูพืชตำบลตะกุกใต้ ประสบความสำเร็จมาก ในการอารักขาพืช เช่น การใช้เชื้อไตรโคเดอร์มาฉีดพ่นและผสมในปุ๋ยหมักในการป้องกันโรครากเน่าโคนเน่า และยังใช้ผสมกับดินเหนียว หรือดินจอมปลวกทารักษาแผลจากโรครากเน่าโคนเน่าในทุเรียน การผลิตและใช้ไส้เดือนฝอยสไตน์เนอร์นีมา กำจัดหนอนชอนเปลือกต้นลองกอง และการผลิตก้อนเชื้อและน้ำเห็ดเรืองแสงสิรินรัศมี ในการรักษาโรครากเน่าโคนเน่าในทุเรียน และมอดเจาะต้นทุเรียน

นายรพีทัศน์ อุ่นจิตตพันธ์
รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร

รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวอีกว่า ศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชนตำบลตะกุกใต้ จัดตั้งปี 2558 มีการดำเนินงานที่เกิดผลลัพธ์ในชุมชนอย่างน้อย 5 ประการ ประกอบด้วย 1.ให้ความรู้และฝึกปฏิบัติให้แก่เกษตรกร จนสามารถผลิตใช้เองได้ 2.เป็นแหล่งเรียนรู้ ผลิตขยายสารชีวภัณฑ์ และศัตรูธรรมชาติให้แก่ชุมชน และบริการชีวภัณฑ์ให้แก่สมาชิกและเกษตรกรทั่วไป 3.ดำเนินการจัดตั้งกลุ่มแปลงใหญ่ทุเรียนในพื้นที่เพื่อผลิตสินค้าเกษตรที่ได้รับมาตรฐาน GAP 4.พัฒนาคุณภาพสารชีวภัณฑ์ให้ได้ตามมาตรฐานของหน่วยงานราชการ ดังนั้นจากผลงานที่ผ่านมาจึงถือว่าศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชนตำบลตะกุกใต้ เป็นตัวอย่างที่ดี และเป็นต้นแบบในการดำเนินงานให้กับศูนย์ฯ อื่น ๆ

สำหรับศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชนตำบลตะกุกใต้ เริ่มแรกมีสมาชิกจำนวน 30 คน เป็นการรวมตัวของเกษตรกรที่มีความต้องการใช้สารชีวภัณฑ์ในการผลิตสินค้าเกษตร ซึ่งในปี 2559 ทุเรียนเริ่มเป็นผลไม้ที่ได้รับความนิยมบริโภคมากขึ้น และจำหน่ายได้ราคาสูง แต่การปลูกทุเรียนมีปัญหาด้านผลผลิตต่ำ เนื่องจากโรครากเน่าโคนเน่าระบาดรุนแรงในพื้นที่ เกษตรกรจึงมีความสนใจและต้องการองค์ความรู้ในการปลูกทุเรียนโดยลดการใช้สารเคมี และเน้นการใช้สารชีวภัณฑ์ เพื่อจัดการศัตรูพืชโดยวิธีผสมผสาน (IPM) จึงเริ่มหันมาสนใจศึกษาวิธีการป้องกันกำจัดเชื้อราสาเหตุโรคพืชดังกล่าวด้วยวิธีที่ปลอดภัย ลดการใช้สารเคมี โดยการใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มา และได้ผลมาจนถึงปัจจุบัน

ที่ผ่านมาศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชนตำบลตะกุกใต้ได้รับรางวัลชนะเลิศ ศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชนดีเด่นระดับจังหวัด และระดับเขต ในปี 2562   และรางวัลชนะเลิศ ศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชนดีเด่นระดับจังหวัดและระดับเขต ในปี 2565

กรมส่งเสริมการเกษตร ข่าว