สหกรณ์ฯ ติวเข้มรองนายทะเบียน หวังลดข้อบกพร่อง

235

“กรมส่งเสริมสหกรณ์ ติวเข้มผู้ปฏิบัติหน้าที่รองนายทะเบียนสหกรณ์ หวังลดข้อบกพร่องสหกรณ์ ดำเนินงานตามหลักธรรมาภิบาล ยกระดับชั้นสหกรณ์สูงขึ้น”

กรมส่งเสริมสหกรณ์ ติวเข้มผู้ปฏิบัติหน้าที่รองนายทะเบียนสหกรณ์ เพิ่มพูนความเข้าใจ เสริมสร้างทักษะ เพิ่มศักยภาพการปฏิบัติหน้าที่ให้ ถูกต้องเหมาะสม พร้อมผลักดันสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกรบริหารงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีความเข้มแข็ง สมาชิกมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นศรัทธาในระบบสหกรณ์มากขึ้น

นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์
อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์

นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการฝึกอบรม หลักสูตร “ผู้ปฏิบัติหน้าที่รองนายทะเบียนสหกรณ์” พร้อมบรรยายพิเศษ หัวข้อ “นโยบายด้านการกำกับแนะนำส่งเสริมสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร” โดยมี ผู้ตรวจราชการกรม สหกรณ์จังหวัด ผู้อำนวยการกอง/สำนัก ผู้อำนวยการกลุ่ม และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมฝึกอบรม ณ โรงแรมอมารี ดอนเมือง แอร์พอร์ต กรุงเทพมหานคร

นายวิศิษฐ์ กล่าวว่า การปฏิบัติหน้าที่รองนายทะเบียนสหกรณ์ มีหน้าที่ความรับผิดชอบค่อนข้างมาก และมีความจำเป็นต้องใช้อำนาจหน้าที่เพื่อให้สหกรณ์สามารถดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะต้องดูแลตั้งแต่การรับจดทะเบียนสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร การรับจดทะเบียนข้อบังคับ เห็นชอบการถือใช้ระเบียบ การสั่งให้ระงับการดำเนินการของสหกรณ์ การสั่งให้ผู้ตรวจการสหกรณ์หรือพนักงานเจ้าหน้าที่เข้าช่วยเหลือกิจการของสหกรณ์ จนกระทั่งการสั่งเลิก การชำระบัญชี การกำกับผู้ชำระบัญชี และการถอนชื่อสหกรณ์และกลุ่มสหกรณ์ เน้นย้ำการจัดตั้งสหกรณ์อย่างมีคุณภาพ ต้องเกิดจากความต้องการของชาวบ้านอย่างแท้จริง พร้อมทั้งพัฒนาสหกรณ์ที่มีอยู่ในปัจจุบันให้เติบโตมีเงินทุน มีความเข้มแข็ง และในบางพื้นที่มีสหกรณ์หลายแห่ง ขอให้ควบรวมเป็นหนึ่งสหกรณ์ ให้มีสาขาอยู่ในพื้นที่ ลดจำนวนสหกรณ์ เพิ่มจำนวนสมาชิก มีความหลากหลายด้านอาชีพ เพิ่มและขยายธุรกิจ ส่งเสริมอาชีพและให้บริการสมาชิกอย่างเต็มที่ทั่วถึง ให้สินเชื่อที่ดีเหมาะสมกับสมาชิก ทำให้ง่ายต่อการบริหารจัดการ ดำเนินงานมีประสิทธิภาพดีขึ้น สหกรณ์ในประเทศไทยเข้มแข็ง เจริญขึ้น และเติบโตขึ้น นอกจากนี้ ขอให้เร่งดำเนินการชำระบัญชี เลิกสหกรณ์ที่ไม่สามารถปิดบัญชี ดำเนินงานขาดทุนสะสม เป็นสหกรณ์เทียมที่จัดตั้งขึ้นเฉพาะกิจ และไม่สามารถดำเนินงานได้ รวมทั้งมีปัญหาการทุจริตในสหกรณ์

“ทั้งนี้ กรมฯ มีระเบียบนายทะเบียนสหกรณ์ ว่าด้วยการช่วยเหลือดำเนินกิจการของสหกรณ์ พ.ศ. 2543 ที่สามารถนำไปใช้ช่วยเหลือการดำเนินงานสหกรณ์ในด้านบริหาร กำกับดูแล และสั่งการดำเนินงานตามแผนสหกรณ์ พิจารณาแก้ไขปัญหา อุปสรรค ปกครองบังคับบัญชาเจ้าหน้าที่สหกรณ์ ด้านการจัดการ เข้าไปกำกับดูแล แนะนำสั่งการด้านธุรกิจ การเงิน บัญชี และการประชุม รวมทั้งขอมอบหมายให้ไปช่วยเหลือสหกรณ์ตามบทบาทหน้าที่ ดำเนินการหาสหกรณ์เป้าหมายอย่างน้อย 1 แห่งในจังหวัดที่รับผิดชอบ และมอบหมายผู้ตรวจการสหกรณ์เข้าไปดำเนินการแก้ไขปัญหาตามระเบียบฯ วัดผลสำเร็จ 1 ปี พร้อมกันนี้ต้องให้ขวัญกำลังใจแก่ผู้ตรวจการสหกรณ์ด้วย และขอให้ผู้ปฏิบัติหน้าที่รองนายทะเบียนสหกรณ์ทุกท่านทำงานไปในทิศทางเดียวกัน ไม่ให้เกิดการทุจริตขึ้นในสหกรณ์ ดำเนินมาตรการตรวจสอบ สอบทานตามมาตรฐาน ประสานงานกับผู้สอบบัญชีอย่างใกล้ชิด สหกรณ์ต้องไม่ขาดทุน สมาชิกไม่มีหนี้สินล้นพ้นตัว ขอให้ปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มความสามารถ พึงระมัดระวังการปฏิบัติหน้าที่ของตนเอง มีความตระหนัก รอบรอบ มีกระบวนการ เทคนิคการตรวจสอบข้อเท็จจริง หาหลักฐานเอกสารประกอบการพิจารณาสั่งการ และที่สำคัญต้องปฏิบัติตามกฎหมายสหกรณ์ ระเบียน ข้อบังคับของสหกรณ์ รวมถึงกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง คำนึงถึงผลประโยชน์ของสหกรณ์และสมาชิกสหกรณ์ และขอให้นำความรู้ ทักษะ เทคนิค ประสบการณ์ที่ได้รับจากการฝึกอบรมไปใช้ในการปฏิบัติหน้าที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด” นายวิศิษฐ์ กล่าว

โครงการฝึกอบรม หลักสูตร “ผู้ปฏิบัติหน้าที่รองนายทะเบียนสหกรณ์” จัดขึ้นระหว่างวันที่ 19 – 21 กรกฎาคม 2566 กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ สหกรณ์จังหวัดทุกจังหวัด ผู้อำนวยการส่งเสริมสหกรณ์กรุงเทพมหานคร พื้นที่ 1 – 2 ผู้ตรวจราชการกรม วิทยากร ผู้สังเกตการณ์ และเจ้าหน้าที่ จำนวน 110 คน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มทักษะและความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยสหกรณ์และกฎหมายว่าด้วยกลุ่มเกษตรกร ตลอดจนกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง และสร้างความรู้ความเข้าใจในการใช้อำนาจรองนายทะเบียนสหกรณ์ตามที่ได้รับมอบหมาย แลกเปลี่ยนเรียนรู้ให้สามารถปฏิบัติงานตามที่ได้รับมอบหมายจากนายทะเบียนสหกรณ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถใช้ดุลยพินิจของรองนายทะเบียนสหกรณ์ได้อย่างถูกต้องเหมาะสม เป็นไปตามหลักกฎหมาย มีประสิทธิภาพ รวมทั้งป้องกันการเกิดข้อบกพร่องต่าง ๆ ในอนาคตได้ ทำให้สหกรณ์เกิดประสิทธิภาพในการบริหารงานเป็นไปตามหลักธรรมาภิบาลที่ดี ส่งผลต่อการยกระดับชั้นของสหกรณ์ให้สูงขึ้นต่อไป

กรมส่งเสริมสหกรณ์ ข่าว