การยางฯ สัมมนาบริหารจัดการคาร์บอนเครดิต

309

กยท. เปิดสัมมนาบริหารจัดการคาร์บอนเครดิตครั้งแรกที่ จ.จันทบุรี หวังจุดประกายแนวคิดการจัดการสวนยางยั่งยืน เพิ่มรายได้ ลดโลกร้อน

วันนี้ (15 ส.ค. 66) การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) จัดประชุมสัมมนาการบริหารจัดการคาร์บอนเครดิตภายใต้แนวคิดการจัดการสวนยางอย่างยั่งยืนให้แก่เกษตรกรชาวสวนยาง โดยมี นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการ กยท. เป็นประธานในพิธีเปิด มีที่ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการคาร์บอนเครดิตร่วมให้ข้อมูล ณ ห้องประชุม กยท.จังหวัดจันทบุรี มุ่งสร้างความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์การพัฒนาสู่อาชีพสวนยางยั่งยืน ลดการปล่อยปริมาณก๊าซเรือนกระจก หวังสร้างความเข้มแข็งและเพิ่มรายได้ มีชาวสวนยางที่สมัครเข้าร่วมโครงการบริหารจัดการคาร์บอนเครดิตของการยางแห่งประเทศไทย พนักงาน กยท. และผู้เกี่ยวข้อง เข้าร่วมงานกว่า 100 คน

นายณกรณ์ กล่าวว่า ความยั่งยืนในอาชีพการทำสวนยางพาราเป็นสิ่งที่เกษตรกรชาวสวนยางต้องการ แต่ในวันนี้โลกเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เกิดวิกฤตปัญหาต่าง ๆ กับอาชีพการทำสวนยางมากมาย อาทิ ราคายางไม่มีเสถียรภาพ โรคใบร่วงชนิดใหม่ การกีดกันทางการค้า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (ภาวะโลกร้อน) เป็นต้น ส่งผลกระทบต่อการประกอบอาชีพการทำสวนยางอย่างมาก การยางแห่งประเทศไทยในฐานะองค์กรที่รับผิดชอบดูแลเกษตรกรชาวสวนยาง จึงได้ปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ต่าง ๆ เพื่อรับมือกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ด้วยการเพิ่มและปรับปรุงโครงการใหม่ ๆ หลายโครงการ เช่น ปรับเปลี่ยนการสนับสนุนการปลูกแทนจากสวนยางเชิงเดี่ยว เป็นสวนยางยั่งยืน โครงการบริหารจัดการคาร์บอนเครดิตสวนยาง โครงการส่งเสริมพัฒนาอาชีพ  โครงการปลูกพืชร่วมยางเพื่อยกระดับรายได้ให้แก่เกษตรกรชาวสวนยาง เป็นต้น เพื่อสร้างความมั่นคงเข้มแข็งให้กับการประกอบอาชีพการทำสวนยางของประเทศไทย

การจัดประชุมสัมมนาครั้งนี้ มีที่มาจากกระแสการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกที่เกิดจากการปล่อยปริมาณก๊าซเรือนกระจกจำนวนมาก ทำให้นานาประเทศร่วมมือลดการปล่อยปริมาณก๊าซเรือนกระจก เพื่อควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลก ซึ่งประเทศไทยได้ลงนามข้อตกลงแสดงเจตนารมย์เข้าร่วมเป็นภาคีความตกลงปารีส มีเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงร้อยละ 20 ภายในปี 2573 จึงดำเนินการ 2 แนวทาง คือ 1. ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคพลังงาน ภาคอุตสาหกรรม ภาคเกษตรกรรม ขยะและของเสีย 2. ใช้ต้นไม้ในการดูดซับปริมาณก๊าซเรือนกระจก ซึ่ง กยท. ได้รับนโยบายจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้รับผิดชอบส่งเสริมการปลูกสร้างสวนยางพารา จึงเริ่มนำร่องศึกษาในพื้นที่สวนยางบางส่วนของ กยท. ที่ อ.ช้างกลาง จ.นครศรีธรรมราช ราว 6,009 ไร่ เมื่อปี 2565 ได้รับคำแนะนำจากทีมที่ปรึกษาโครงการ เมื่อได้ผลจึงขยายโครงการออกไปใน 3 ภูมิภาค ในปี 2566  คือ ภาคกลางและภาคตะวันออก (จ.จันทบุรี) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (จ.เลย) แห่งละ 10,000 ไร่ และภาคใต้ที่ จ.สุราษฎร์ธานี 20,000 ไร่ รวม 40,000 ไร่ เพื่อให้การบริหารจัดการคาร์บอนเครดิตจากสวนยางพาราเกิดประโยชน์แก่เกษตรกรชาวสวนยาง มีช่องทางหารายได้เพิ่มขึ้น และสร้างความยั่งยืนในอาชีพการทำสวนยางในอนาคต

การยางแห่งประเทศไทย ข่าว