เกษตรฯ จับมือปกครอง สำรวจโรคใบด่าง 54 จังหวัด

370

กรมส่งเสริมการเกษตรจับมือกรมการปกครอง ระดมกำลังสำรวจโรคใบด่างในพื้นที่ปลูกมันสำปะหลัง 54 จังหวัด พร้อมดำเนิน 6 มาตรการเข้มข้น

นายรพีทัศน์ อุ่นจิตตพันธ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่าจากการรายงานสถานการณ์การระบาดของโรคใบด่างมันสำปะหลังที่มีแนวโน้มกลับมาระบาดอีกครั้ง กรมส่งเสริมการเกษตรจึงได้สั่งการให้สำนักงานเกษตรจังหวัดที่มีพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังเร่งดำเนินการควบคุมการระบาดอย่างต่อเนื่อง ดังนี้ 1) ร่วมกับกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ประสานขอความร่วมมือ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และกรรมการหมู่บ้าน เร่งสำรวจพื้นที่ระบาดโรคใบด่างมันสำปะหลังร่วมกับเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตร เพื่อทราบสถานการณ์การระบาด 2) เตรียมแนวทางคัดเลือกแหล่งพันธุ์สะอาดเพื่อใช้สำหรับฤดูการปลูกถัดไป โดยอาจคัดเลือกจากพื้นที่ปลูกที่ยังไม่มีรายงานการระบาดในโซนภาคเหนือ หรือในแปลงใหญ่มันสำปะหลังเป็นหลัก และ 3) จัดทำคู่มือบริหารจัดการโรคใบด่างมันสำปะหลัง และจัดประชุมสร้างความเข้าใจให้กับผู้ปฏิบัติงาน สำหรับพื้นที่ที่พบการระบาดรุนแรง เกษตรกรควรเว้นช่วงการปลูกมันสำปะหลัง 1 ฤดูการปลูก เพื่อหยุดวงจรการระบาด โดยเปลี่ยนไปปลูกพืชไร่อื่นที่เหมาะสมกับพื้นที่และสถานการณ์การผลิต อาทิ พืชตระกูลถั่ว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ซึ่งปัจจุบันมีราคาดี ตลาดมีความต้องการสูง

นายรพีทัศน์ อุ่นจิตตพันธ์
รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร

รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวอีกว่า สำหรับแนวทางการบริหารจัดการในภาพรวม กรมส่งเสริมการเกษตรยังยึดมาตรการจัดการโรคใบด่าง 6 มาตรการ ประกอบด้วย 1) สร้างการรับรู้ โดยการผลิตสื่อถ่ายทอดความรู้ที่ทันสมัย เข้าถึงง่าย รวมถึงการสร้างภาคีเครือข่ายในการประชาสัมพันธ์ และได้สั่งการและเน้นย้ำให้เจ้าหน้าที่ด้านอารักขาพืช เกษตรอำเภอ เกษตรตำบล ชี้แจงทำความเข้าใจให้เกษตรกรมีความรู้ความเข้าใจ และตระหนักถึงผลกระทบของโรคในทุกโอกาส  2) การเฝ้าระวัง และป้องกันการระบาด โดยให้ความรู้แก่เกษตรกรถึงวิธีการสำรวจ เน้นให้มีการสำรวจแปลงสม่ำเสมอ การจัดทำแปลงพยากรณ์เตือนการระบาด และส่งเสริมการใช้พันธุ์สะอาดและทนทานต่อโรคใบด่าง ได้แก่ ระยอง 72 เกษตรศาสตร์ 50 และห้วยบง 60 งดใช้พันธุ์อ่อนแอ ได้แก่ พันธุ์ CMR 43-08-89 และพันธุ์ระยอง 11  3) การควบคุมการระบาด โดยการทำลายต้นเป็นโรค ควบคุมแมลงหวี่ขาวยาสูบ และสร้างข้อตกลงร่วมของชุมชน 4) การให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยพิบัติด้านการเกษตรที่ได้รับความเดือดร้อนจากโรคใบด่างมันสำปะหลังตามระเบียบกระทรวงการคลัง และระเบียบที่เกี่ยวข้อง 5) การวิจัยและพัฒนาเพื่อการจัดการในระยะยาว โดยการพัฒนาพันธุ์ต้านทาน ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการวิจัยพัฒนา โดยคาดการณ์ว่าจะได้พันธุ์ต้านทานโรคใบด่างมันสำปะหลังในปี 2572 รวมถึงการใช้เทคโนโลยีเพื่อลดการระบาดของโรค และ 6) การติดตามและประเมินผล โดยการสร้างกลไกการติดตามในระดับต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ กรมส่งเสริมการเกษตรได้เน้นย้ำให้เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรในจังหวัดที่มีพื้นที่ปลูกมันสำปะหลัง ทั้ง 54 จังหวัด ดำเนินการตามมาตรการที่กำหนดอย่างเคร่งครัด สำหรับเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังทั่วประเทศ ขอความร่วมมือสำรวจแปลงปลูกมันสำปะหลังของตนเอง โดยสำรวจทุกต้นอย่างต่อเนื่องทุก 2 สัปดาห์ ด้วยการเดินสำรวจแบบตัวยูคือเดิน 1 แถวปลูก เว้น 3 แถวปลูก กรณีมันสำปะหลังอายุมาก ต้นสูง และเดิน 1 แถวปลูก เว้น 5 แถว กรณีมันสำปะหลังอายุน้อย ต้นไม่สูงมาก พร้อมสังเกตอาการบริเวณยอดมันสำปะหลัง หากพบอาการของโรคใบด่างให้เร่งทำลายต้นเป็นโรคก่อนที่แมลงหวี่ขาวยาสูบจะนำไปแพร่ยังต้นอื่นๆ ต่อ ด้วยการบดสับต้นเป็นโรคใส่ถุงดำมัดปากให้แน่นแล้วนำไปตากแดดจนกว่าต้นมันสำปะหลังจะตาย หรือแจ้งเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรในพื้นที่ทราบทันที

กรมส่งเสริมการเกษตร ข่าว