กยท. เดินหน้าประมูลยางผ่าน Thai Rubber Trade ต่อเนื่อง

341

ตอบรับดี! กยท. เดินหน้าประมูลยางผ่าน Thai Rubber Trade ต่อเนื่อง หนุนเชื่อมโยงข้อมูลผู้ซื้อ/ผู้ขาย รองรับการตรวจสอบย้อนกลับ

นายศุภชัย แข่งขัน ผู้อำนวยการ สำนักงานตลาดกลางยางพารา จ.เชียงราย กล่าวว่า สำนักงานตลาดกลางยางพาราจังหวัดเชียงราย ดำเนินการนำผลผลิตของเกษตรกรชาวสวนยางเข้ามาประมูลซื้อขายผ่านระบบ TRT ที่ผู้ซื้อจะสามารถเข้าดูรายละเอียดสินค้า ปริมาณ ราคากลาง รวมถึงภาพถ่ายสินค้า ก่อนตัดสินใจเริ่มประมูลได้ และภายหลังการประมูลผู้ซื้อยังสามารถตรวจสอบได้ว่ายางที่ซื้อไปนั้นมาจากกลุ่มผู้ขายรายใด โดยปัจจุบัน ระบบ TRT ของ สำนักงานตลาดกลางฯ มีข้อมูลสมาชิกผู้ขาย (ตลาดเครือข่าย) 253 กลุ่ม จำนวน 22,910 ราย และผู้ซื้อ (ผู้ประกอบกิจการ) จำนวน 66 ราย ครอบคลุมพื้นที่รับผิดชอบ 15 จังหวัด และในปี 2566 ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2565 – สิงหาคม 2566 มีปริมาณยางที่ประมูลผ่านระบบแล้วทั้งสิ้น 25,205 ตัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 564 ล้านบาท

นายเกียรตินันท์ ยิ้นซ้อน ผู้อำนวยการ การยางแห่งประเทศไทย จังหวัดเชียงราย เผยถึงความพร้อมการนำข้อมูลของสหกรณ์ยางพาราแม่ลาว-แม่กรณ์ จำกัด เพื่อรองรับการตรวจสอบย้อนกลับ ว่า สหกรณ์ฯ ให้ความสำคัญกับการจัดเก็บข้อมูลสมาชิก เช่น เลขทะเบียนเกษตรกรฯ ที่อยู่ ที่ตั้งสวนยาง พื้นที่สวนยาง เป็นต้นรวมถึงข้อมูลผลผลิตยางที่ขายผ่านสหกรณ์ เช่น น้ำหนักยางในแต่ละล็อต ราคาขายต่อกิโลกรัม ราคารวม เป็นต้น สหกรณ์ฯ มีการจัดเก็บข้อมูลและรวบรวมผลผลิตของสมาชิกแต่ละรายเป็นระบบอย่างชัดเจน จึงเช็คได้ว่ายางแต่ละล็อตที่ขายมาจากสมาชิกรายใด เมื่อเทียบกับข้อมูลขึ้นทะเบียนเกษตรกรฯ ของ กยท. จะสามารถตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งกำเนิดของผลผลิต ตามมาตรการ EUDR ของสหภาพยุโรปได้

นายปรีชา เป็งนวล ประธานกรรมการ สหกรณ์ยางพาราแม่ลาวแม่กรณ์ เพิ่มเติมว่า การนำระบบ TRT เข้ามาใช้ นอกจากจะช่วยให้การซื้อขายไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง สามารถขายกับผู้ซื้อได้โดยตรงแล้วยังเป็นการบูรณาการข้อมูลเกษตรกรที่เป็นสมาชิกของสหกรณ์ และขึ้นทะเบียนเกษตรกรชาวสวนยางกับ กยท. โดยเป็นฐานข้อมูลเพื่อตรวจสอบถึงแหล่งที่มาของผลผลิตยาง ย้อนกลับไปจนถึงเกษตรกรเจ้าของสวนยางและแปลงที่ตั้งสวนยางได้ รองรับมาตรการตรวจสอบย้อนกลับของกลุ่มประเทศผู้ซื้อยางที่ให้ความสำคัญในเรื่องสิ่งแวดล้อม

การยางแห่งประเทศไทย ข่าว