พด. ชูผลสำเร็จแก้ปัญหาการชะล้างพังทลายของดินในพื้นที่เกษตรกรรม จ.ลำปาง

นายปราโมทย์ ยาใจ อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน เปิดเผยว่า การแก้ปัญหาการชะล้างพังทลายของดินในพื้นที่เกษตรกรรมเป็นเป้าหมายที่ท้าทายของกรมพัฒนาที่ดิน การชะล้างพังทลายของดินทำให้เกิดการสูญเสียดินในพื้นที่ ดินขาดความอุดมสมบูรณ์ กรมพัฒนาที่ดินจึงดำเนินการแก้ไขปัญหาผ่านโครงการป้องกันการชะล้างพังทลายของดินและฟื้นฟูพื้นที่เกษตรกรรมด้วยระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ ซึ่งได้ดำเนินโครงการ ณ ลุ่มน้ำห้วยแม่สามขา ลุ่มน้ำสาขาน้ำแม่จาง ลุ่มน้ำหลักแม่น้ำวัง จ.ลำปาง โดยเลือกพื้นที่ลุ่มน้ำที่มีพื้นที่ส่วนใหญ่มีระดับความรุนแรงของการสูญเสียดินมากกว่า 5 ตันต่อไร่ต่อปี กรมพัฒนาที่ดินได้มอบหมายให้สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 6 และสำนักวิศวกรรมเพื่อการพัฒนาที่ดิน ร่วมเข้าไปพัฒนาพื้นที่ตามแบบมาตรการอนุรักษ์ดินและน้ำทางวิธีกล สำหรับการป้องกันการชะล้างพังทลายของดิน ทั้งการจัดการพื้นที่บนแปลงเกษตรกรรม (On Site) เพื่อการจัดการน้ำไหลบ่าไม่ให้มีความรุนแรงในการพัดพามวลดินในแปลงเกษตรให้ไหลไปกับน้ำ โดยอาศัยการปรับโครงสร้างพื้นที่แปลงเกษตร ได้แก่ ขั้นบันไดดินแบบต่อเนื่อง ปรับระดับพื้นที่นา (Land Leveling) เป็นต้น และอีกส่วนหนึ่งคือการจัดการควบคุมการไหลของน้ำในลำน้ำ (Off Site) เพื่อควบคุมความเร็วการไหลไม่ให้มีความเร็วมากจนเกิดการกัดเซาะลำน้ำ (Channel Erosion) เพื่อชะลอการไหลของน้ำด้วยการปรับความลาดชันของลำน้ำเดิม พร้อมก่อสร้างฝายชะลอน้ำเป็นช่วงๆ เพื่อลดความเร็วของกระแสน้ำ และรักษาความชุ่มชื้นให้กับดิน นอกจากนี้ ได้มีการพัฒนาและฟื้นฟูพื้นที่เกษตรกรรมด้วยการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ที่ดิน โดยสร้างบ่อดักตะกอนขนาดใหญ่ทำหน้าที่ดักตะกอนและเป็นแหล่งน้ำสำรองเพื่อการเกษตรในช่วงฤดูแล้ง พร้อมระบบกระจายน้ำด้วยท่อและคลองส่งน้ำ เพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิตพืชของพื้นที่เกษตรกรรมในโครงการ นับตั้งแต่ดำเนินโครงการมาจนถึงขณะนี้ปรากฎผลสำเร็จที่ชัดเจน จากกรณีผลกระทบจากพายุไต้ฝุ่นโนรู (NORU) เมื่อปี 2565 ทำให้มีปริมาณน้ำฝนเพิ่มมากขึ้น แต่ด้วยระบบบริหารจัดการพื้นที่ลุ่มน้ำด้วยมาตรการอนุรักษ์ดินและน้ำ ที่สามารถรับมือกับปริมาณน้ำไหลบ่าได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้พื้นที่เกษตรกรรมในพื้นที่โครงการดังกล่าวได้รับความเสียหายน้อยมากเมื่อเทียบกับพื้นที่ใกล้เคียง

อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าวเพิ่มเติมว่า การดำเนินโครงการพบว่า สามารถใช้ประโยชน์ที่ดินได้คุ้มค่า มากขึ้น ลดการสูญเสียหน้าดินที่เป็นประโยชน์ต่อการผลิตภาคการเกษตร และเก็บรักษาความชุ่มชื้นให้กับดินได้เป็นอย่างดี อีกทั้งเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำในภาคการเกษตร ซึ่งทั้งหมดนี้ส่งผลให้เกษตรกรสามารถใช้ประโยชน์ที่ดินได้อย่างเหมาะสมตรงตามศักยภาพของพื้นที่ และยังช่วยเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร และเพิ่มรายได้ในครัวเรือนให้กับเกษตรกรอีกด้วย จากผลสำเร็จของโครงการนี้ จะนำไปเป็นโมเดลต้นแบบการแก้ปัญหาการ ชะล้างพังทลายของดินในพื้นที่เกษตรกรรมในอีกหลายพื้นที่ต่อไป





กรมพัฒนาที่ดิน ข่าว