“ธนาคารน้ำใต้ดิน” ภูมิปัญญาแก้ภัยแล้ง

1,075

ธนาคารน้ำใต้ดิน ภูมิปัญญาปราชญ์จังหวัดพิษณุโลก สู่การแก้ปัญหาภัยแล้งอย่างยั่งยืน

นายพลเชษฐ์ ตราโช รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงสถานการณ์ภัยแล้งและฝนทิ้งช่วงในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลก มีพื้นที่การเกษตรได้รับความเสียหาย จำนวน 23,817 ไร่  ส่วนใหญ่พบในอำเภอวัดโบสถ์ ชาติตระการ และเนินมะปราง (ข้อมูล ณ 23 เมษายน 2563 จากรายงานผลกระทบต่อภาคการเกษตรของเชื้อไวรัส COVID-19 และปัญหาภัยแล้งของสำนักงานเกษตรจังหวัดพิษณุโลก) สินค้าเกษตรที่ได้รับผลกระทบส่วนใหญ่ ได้แก่ มันสำปะหลัง และไม้ผล (ทุเรียน มะม่วง) ซึ่งสถานการณ์ภัยแล้งในปัจจุบันยังส่งผลกระทบอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงในการขาดแคลนน้ำทำการเกษตร เกษตรกรจึงควรมีการบริหารจัดการน้ำใช้ในช่วงฤดูแล้งที่มุ่งเน้นรักษาแปลงไม้ผลให้ผ่านพ้นวิกฤตการณ์ภัยแล้งปีนี้ให้ได้ โดยเร่งสร้างแหล่งน้ำเพื่อใช้สำหรับดูแลรักษาต้นพืชให้เพียงพอตลอดทั้งปี ซึ่งเป็นแนวทางการลดผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้งได้ในระยะยาวและยั่งยืน

จากการลงพื้นที่ของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 2 จังหวัดพิษณุโลก (สศท.2) เพื่อติดตามสถานการณ์ภัยแล้ง และแนวทางแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตร พบว่า ในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลก มีเกษตรกรที่นำหลักการสร้าง  “ธนาคารน้ำใต้ดิน”  หรือเรียกว่า “แก้มลิงที่มองไม่เห็น” มาประยุกต์สร้างแหล่งน้ำในไร่นาของตนเอง โดยจากการสัมภาษณ์นายทองปาน เผ่าโสภา ปราชญ์ชาวบ้าน ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงชุมชน หมู่ที่ 14 ตำบลหนองกุลา อำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก บอกเล่าว่า ตนได้นำองค์ความรู้ที่ได้จากข้อมูลข่าวสารของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ผสมผสานกับภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยใช้วิธีการสังเกตบ่อบาดาลที่ขุดเจาะไว้ ในช่วงฤดูแล้ง พบว่า เมื่อสูบน้ำไปได้ระยะหนึ่งน้ำก็จะแห้ง ไม่สามารถสูบได้อีก และช่วงฤดูฝนน้ำที่ท่วมขังบริเวณบ่อ จะแห้งเร็วกว่าบริเวณอื่นๆ ซึ่งจากการสังเกตดังกล่าวจึงได้ทดลองขุดบ่อเพิ่มอีกหนึ่งบ่อเพื่อเติมน้ำลงใต้ดิน ผลพบว่า สามารถเติมน้ำในบ่อได้จำนวนมากโดยไม่เต็ม และในขณะที่ฝนตกหนักเกิดน้ำท่วมขังบริเวณบ่อ น้ำจะไหลลงไปใต้ดินได้เร็วขึ้นทำให้พืชที่เพาะปลูกในบริเวณดังกล่าวไม่ได้รับความเสียหาย อีกทั้งมีปริมาณน้ำเพียงพอสำหรับใช้เพื่อการเกษตรในช่วงฤดูแล้ง

ด้านนายบุญลาภ โสวัณณะ ผู้อำนวยการ สศท.2 กล่าวเพิ่มเติมว่า หลักการทำธนาคารน้ำใต้ดิน ของนายทองปาน ทำได้ง่ายและใช้เงินทุนไม่มาก โดยหาจุดที่มีน้ำท่วมขัง ทำการขุดบ่อให้ได้ขนาดที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ ระดับน้ำที่ท่วมขัง สภาพชั้นดิน และชั้นหิน ขุดบ่อให้ลึกประมาณ 1-3 เมตร ให้ทะลุชั้นดินเหนียว จากนั้นให้ใส่ท่อพีวีซี ที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 2-3 นิ้ว ไว้ตรงกลางบ่อให้พ้นจากพื้นดินเพื่อเป็นท่อระบายอากาศ นำเศษวัสดุเหลือใช้ที่หาได้ในชุมชนใส่ลงไปในบ่อ เช่น กรวด หิน ขวดน้ำ ยางรถยนต์ เป็นต้น โดยมีต้นทุนค่าใช้จ่ายในการจัดสร้างแหล่งน้ำใต้ดินประมาณ 4,000 – 5,000 บาท/บ่อ ซึ่งปัจจุบันมีจำนวน 2 บ่อ สำหรับใช้ ในฟาร์มบนเนื้อที่ปลูก 16.75 ไร่ ทำการผลิตแบบอินทรีย์ แบ่งตามสัดส่วนเป็นข้าวพันธุ์หอมปทุมและพันธุ์ไรซ์เบอร์รี่ 4 ไร่ ไม้ผล 5 ไร่ พืชผัก/สมุนไพร 6 ไร่ ไม้สัก 0.5 ไร่ และสระน้ำเพื่อการเกษตร 1.25 ไร่ สามารถสร้างรายได้อย่างต่อเนื่อง และช่วยให้มีน้ำใช้เพียงพอตลอดทั้งปี

ทั้งนี้ธนาคารน้ำใต้ดินเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่จะสามารถแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำเพื่อการเกษตรได้อย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน ซึ่งปัจจุบันมีเกษตรกรหลายรายที่ให้ความสนใจ ดังนั้นหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องควรสนับสนุนองค์ความรู้ หรือเงินทุนให้แก่เกษตรกรที่มีความพร้อมเพื่อใช้สำหรับสร้างแหล่งน้ำกักเก็บน้ำฝนให้มีปริมาณเพียงพอต่อพื้นที่การเกษตรของตนเอง หากเกษตรกรหรือท่านใดที่สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ นายทองปาน เผ่าโสภา ปราชญ์ชาวบ้าน ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงชุมชน หมู่ที่ 14 ตำบลหนองกุลา อำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก โทร. 08 6206 3680

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ข่าว