บ้านสันหลวงใช้เทคโนโลยีฯ ช่วยลดต้นทุนและ zero waste ปลอดเผา

206

แปลงใหญ่ข้าวคุณภาพบ้านสันหลวงใช้เทคโนโลยีเกษตรแม่นยำช่วยลดต้นทุนและ zero waste ปลอดเผา

กรมส่งเสริมการเกษตร ดึงภาคเอกชนสนับสนุนรถดำนา รถเกี่ยวข้าว และโดรน จัดการแปลงนาสร้างเกษตรอัจฉริยะ เพื่อลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต พร้อมใช้รถอัดฟางเก็บเป็นฟางก้อนจำหน่ายสร้างรายได้ และลดการเผาตอซัง ป้องกันปัญหาหมอกควันและค่าฝุ่นPM 2.5 เกิดมาตรฐาน

ปัญหาใหญ่ของพื้นที่ภาคเหนือในปัจจุบันคือเรื่องมลพิษจากหมอกควัน และค่าฝุ่น PM 2.5 เกิดมาตรฐาน ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหามลพิษทางอากาศคือ การเผาตอซังข้าวและการเผาวัชพืชจากการทำเกษตรกรรม โดยเฉพาะการทำนาข้าว ซึ่งตามวิถีของเกษตรกรส่วนใหญ่ มักนิยมการเผาตอซังข้าวทิ้ง เพื่อง่ายต่อการนำพื้นที่ไปใช้ปลูกพืชชนิดอื่น นอกจากไม่นำของเหลือใช้จากภาคการเกษตรมาใช้ให้เกิดประโยชน์แล้ว ยังส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้วย ดังนั้นกรมส่งเสริมการเกษตร จึงเล็งเห็นถึงการแก้ไขปัญหาดังกล่าว จึงได้สนับสนุนให้เกษตรกร รวมกลุ่มเป็นแปลงใหญ่เพื่อผลิตข้าวคุณภาพ ปลอดภัย ลดการใช้สารเคมีและลดการเผา

ว่าที่ร้อยตรี ดุจเดี่ยว วงศ์ภักดิ์ เกษตรจังหวัดเชียงราย กล่าวถึงการเข้าไปสนับสนุนแปลงใหญ่ข้าวกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกข้าวคุณภาพบ้านสันหลวงว่า ต้องการให้เกษตรกรมีข้าวคุณภาพ ปลอดภัย ไร้สาร และมีเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดีไว้ต่อยอดในฤดูกาลถัดไป เพื่อไม่ให้เกิดการขาดแคลนเมล็ดพันธุ์ข้าว ดังนั้นจึงประสานกับทุกฝ่ายทั้งภาครัฐด้วยกันและภาคเอกชน เพื่อให้เข้ามาสนับสนุน เช่น สำนักงานเกษตรจังหวัดเชียงราย และสำนักงานเกษตรอำเภอแม่จัน จะเป็นองค์กรหลักในการสนับสนุนด้านองค์ความรู้เกี่ยวกับการลดต้นทุน เช่นการใช้ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยอินทรีย์ และน้ำหมักชีวภาพแทนการใช้ปุ๋ยและสารเคมี การพัฒนาคุณภาพข้าว เช่น การใช้ปุ๋ยให้ถูกที่ ถูกเวลา และถูกสัดส่วน และการใช้ชีวภัณฑ์ต่าง ๆ ในการกำจัดศัตรูข้าว ส่วนศูนย์วิจัยข้าวจังหวัดเชียงราย จะสนับสนุนเมล็ดพันธุ์ข้าวพันธุ์ดีให้ และมีภาคเอกชน เข้าช่วยเหลือด้านปัจจัยการผลิตเพื่อลดต้นทุน โดยการใช้เทคโนโลยีเกษตรแม่นยำ และเครื่องจักรการเกษตร เข้ามาช่วย

แปลงใหญ่ข้าวกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกข้าวคุณภาพบ้านสันหลวง ตำบลจันจว้า อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย เป็นอีกแปลงใหญ่ข้าว ที่ประสบผลสำเร็จในการดำเนินการผลิตข้าวคุณภาพ โดยได้รับการส่งเสริมและช่วยเหลือจากกรมส่งเสริมการเกษตร โดยสำนักงานเกษตรจังหวัดเชียงราย สำนักงานเกษตรอำเภอแม่จัน และภาคเอกชน ในการบริหารจัดการให้เกิดการลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต และการบริหารจัดการแปลง ตั้งแต่ขั้นตอนการผลิต การบำรุงรักษา การพัฒนาคุณภาพ และการเก็บเกี่ยว ไปจนถึงด้านการตลาด โดยทางกลุ่มมีการจัดตั้งเป็นแปลงใหญ่ในปี 2560 มีสมาชิก 136 คน พื้นที่เพาะปลูก 1,554 ไร่ ปัจจุบันมีนายพรมมา ชาวลี้แสน เป็นประธานแปลงใหญ่

“เกษตรแปลงใหญ่ที่นี่จะดำเนินการตามหลัก Zero Burn หรือเกษตรปลอดการเผา ซึ่งหลังการเก็บเกี่ยว ภาคเอกชนคือบริษัทสยามคูโบต้า จะสนับสนุนรถอัดฟางก้อน เพื่อนำตอซังข้าวไปใช้ประโยชน์ด้านอื่น ๆ ต่อไป โดยรวบรวมเป็นธนาคารฟางเพื่อจำหน่ายสร้างรายได้ อันเป็นการลดการเผา สามารถลดจุดฮอตสปอร์ตได้เป็นวงกว้าง เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและลดฝุ่น PM 2.5 โดยอัตโนมัติ ส่วนเริ่มฤดูการผลิต หรือช่วงทำนาใหม่ ๆทางบริษัทได้ นำเทคโนโลยีเกษตรแม่นยำมาใช้ในการผลิต เช่น นำรถดำนามาช่วยในการเพาะปลูก ใช้โดรนในการพ่นน้ำหมักชีวภาพ และช่วยดูแลแปลง พอถึงช่วงฤดูเก็บเกี่ยว ก็นำรถเกี่ยวข้าวเข้ามาช่วย ทำให้เกษตรกรแปลงใหญ่ข้าวกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกข้าวคุณภาพบ้านสันหลวง เรียนรู้ที่จะเป็นเกษตรอัจฉริยะ หรือ Smart Farmer ในอนาคต”

ส่วนด้านการตลาด เกษตรจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า มีการทำเอ็มโอยูกับภาคเอกชนในการรับซื้อผลผลิต ทำให้ไม่มีปัญหาด้านการจำหน่าย รวมทั้งพัฒนาให้บรรจุข้าวสร้างแบรนด์ของชุมชนขึ้นมา ซึ่งที่แปลงใหญ่ข้าวสันหลวง มีแบรนด์ชื่อ 108 เป็นเลขหมู่บ้านของกลุ่มเกษตรกรสมาชิกที่เข้าร่วมเป็นแปลงใหญ่ คือราษฎรหมู่ที่ 10 และหมู่ที่ 8 ปัจจุบันได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี มีการจำหน่ายตามร้านค้าและการจัดงานต่างๆ สามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรอีกทางหนึ่ง

ด้านนายพรมมา ชาวลี้แสน ประธานแปลงใหญ่ข้าวกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกข้าวคุณภาพบ้านสันหลวง กล่าวว่า ปัจจุบันมีสมาชิกจำนวน 136 คน พื้นที่นาประมาณ 1,600 ไร่ มีแนวคิดในการใช้เทคโนโลยีการเกษตรแม่นยำเข้ามาช่วยจัดการแปลงนา เนื่องจากต้องการลดต้นทุน ลดเวลา และความยุ่งยากในการดูแลนาข้าว โดยมีบริษัทสยามคูโบต้า เข้ามาช่วยเหลือ มีเจ้าหน้าที่จากสำนักงานเกษตรจังหวัดเชียงราย และสำนักงานเกษตรอำเภอแม่จัน เข้ามาให้องค์ความรู้และคอยเป็นพี่เลี้ยงให้ โดยหลังจากเข้าร่วมแปลงใหญ่ ในปี 2560-2561 สามารถลดต้นทุนรวมในการผลิตข้าวเจ้าและข้าวเหนียว ได้ประมาณ 14 % และในปี 2562-2565 ลดต้นทุนรวมในการผลิตข้าวเจ้าและข้าวเหนียว ได้ประมาณ 34 % โดยคำนวณจากพื้นที่ของกลุ่มจำนวน 1,554 ไร่

“สำหรับเมล็ดพันธุ์ ก่อนปี 2559 ใช้เมล็ดพันธุ์ จำนวน 15 กก./ไร่ เป็นเงิน 582,700 บาท ปัจจุบันใช้เพียง 7 กก./ไร่ เป็นเงิน 271,900 บาท ทำให้สามารถลดต้นทุนได้ 8 กก./ไร่ หรือคิดเป็นเงิน จำนวน 310,800 ด้านปุ๋ยเคมี ก่อนหน้านี้ใช้ไป 50 กก./ไร่ เป็นเงิน 943,000 บาท ปัจจุบัน 16 กก./ไร่ เป็นเงิน 306,000 บาท สามารถลดต้นทุนได้ 637,000 บาท ซึ่งอยู่ระหว่างลดใช้ปุ๋ยเคมีและจะหันมาใช้ปุ๋ยหมัก และปุ๋ยอินทรีย์แทน สารเคมีกำจัดศัตรูพืช ก่อนหน้านี้ใช้ไป 430 บาท/ไร่ เป็นเงิน 668,000 บาท ปัจจุบันไม่มีต้นทุน ทำให้ลดเงินไปได้ถึง 668,000 บาท และด้านเทคโนโลยี ก่อนหน้านี้จ้างแรงคนเป็นเงิน 1,200 บาท/ไร่ ปัจจุบัน จ้างรถดำนา ใช้ไป 1,200 บาท/ไร่ เช่นกัน แต่เทคโนโลยีดำนาได้เร็วกว่าคน จึงใช้เงินไป 181,000 บาท/ไร่ ลดต้นทุนไปได้ 32,000 บาท/ไร่”

ส่วนแนวคิด zero waste ปลอดเผา เกิดจากได้รับการสนับสนุนรถอัดฟางจากภาคเอกชน ทำให้ไม่เหลือฟางในนาข้าว จึงไม่มีการเผาเหมือนเมื่อก่อน เกษตรกรสามารถนำแปลงนาไปปลูกพืชชนิดอื่นได้ทันที เป็นการลดปัญหาหมอกควันได้เป็นอย่างดี และเหลือฟางอัดก้อนนำไปจำหน่ายสร้างรายได้อีกทางหนึ่ง

นายประสิทธิ์ ต๊ะต้องใจ เหรัญญิกแปลงใหญ่ข้าวกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกข้าวคุณภาพบ้านสันหลวง กล่าวว่า เมื่อก่อนเกษตรกรไม่สามารถคำนวณต้นทุนการผลิตได้ เพราะไม่ได้จดบันทึก แต่หลังเข้ากลุ่มแปลงใหญ่ มีเอกชนนำเทคโนโลยีเกษตรแม่นยำมาช่วย ทั้งการเพาะปลูก การดูแลรักษา และการเก็บเกี่ยว โดยเฉพาะการปลูกที่เปลี่ยนมาใช้รถดำนาแทน ทำให้สามารถควบคุมปริมาณต้นพันธุ์ได้ การปลูกก็เป็นแถว สามารถดูแลด้านวัชพืชได้ง่าย ทำให้ข้าวมีคุณภาพ และมีปริมาณการผลิตที่เพิ่มขึ้น ทำให้เกษตรกรมีความง่ายและสะดวกในการทำนาเพิ่มมากขึ้น ส่งต่อชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรให้ดีขึ้นตามลำดับ

ส่งเสริมการเกษตร ข่าว