สสก.5 สงขลา ขับเคลื่อนสินค้าเกษตรมูลค่าสูง

4,698

สสก.5 สงขลา ขับเคลื่อนสินค้าเกษตรมูลค่าสูง“1 จังหวัด 1 ชนิดสินค้า”

นายอนุชา ยาอีด ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา กล่าวว่า กรมส่งเสริมการเกษตร โดยสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา นำการส่งเสริมการเกษตรเชิงพื้นที่เป็นกลไกการขับเคลื่อนการดำเนินงานในระดับพื้นที่ โดยการกำหนดเป้าหมายและผลลัพธ์ที่ชัดเจนร่วมกันยึดพื้นที่เป็นตัวตั้ง (Area – based) หลักสำคัญในการดำเนินงานคือ มีการวิเคราะห์พื้นที่ – คน – สินค้า ใช้กระบวนการมีส่วนร่วม พัฒนาต่อยอดจากฐานการพัฒนาที่มีอยู่แแล้ว สร้างความเข้มแข็งของกลุ่มเกษตรกร และสนับสนุนเกษตรกรรุ่นใหม่ให้มีบทบาทในการพัฒนาการเกษตรของชุมชน โดยมีการสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินโครงการหรือกิจกรรม ตามความต้องการของกลุ่มเกษตรกรและชุมชน เพื่อให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจของชุมชน อีกทั้งเป็นการพัฒนารูปแบบและกระบวนการทำงานการส่งเสริมการเกษตรแบบบูรณาการโดยยึดพื้นที่เป็นหลัก

ปีงบประมาณ 2566 สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา ดำเนินงานการขับเคลื่อนสินค้าเกษตรมูลค่าสูง ภายใต้การส่งเสริมการเกษตรเชิงพื้นที่ภาคใต้ “1 จังหวัด 1 ชนิดสินค้า” โดยสำนักงานเกษตรจังหวัดทั้ง 14 จังหวัดภาคใต้ คัดเลือกพืชในพื้นที่ดำเนินการพัฒนาสู่สินค้าเกษตรมูลค่าสูง เพื่อยกระดับเกษตรกร บูรณาการการทำงานกับหน่วยงานในพื้นที่ และนำกระบวนการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามBCG Model มาร่วมดำเนินการด้วย จะเห็นได้ว่ามีความสอดคล้องและเชื่อมโยงกันทั้งกระบวนการขับเคลื่อน และเป้าหมายการพัฒนาที่มุ่งเน้นการสร้างรายได้แก่เกษตรกรและชุมชน และพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างสมดุลและยั่งยืน

เมื่อวันที่ 4 – 5 กันยายน 2566 ที่ผ่านมา สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา ได้จัดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการสรุปผลการดำเนินงานส่งเสริมการเกษตรภาคใต้ ประจำปี พ.ศ. 2566 และมีการจัดนิทรรศการแสดงผลสำเร็จการดำเนินงานการขับเคลื่อนสินค้าเกษตรมูลค่าสูง ภายใต้การส่งเสริมการเกษตรเชิงพื้นที่ภาคใต้ “1 จังหวัด 1 ชนิดสินค้า” โดยสำนักงานเกษตรจังหวัดทั้ง 14 จังหวัดภาคใต้ ร่วมนำเสนอผลสำเร็จของการดำเนินงานในปี 2566 ดังนี้

  1. จังหวัดตรัง : พริกไทยตรัง พริกไทยคุณภาพ ขับเคลื่อนการดำเนินงานผ่านคณะขับเคลื่อนงานด้านการเกษตรจังหวัดตรัง ซึ่งได้ขับเคลื่อนพืชอัตลักษณ์ประจำถิ่นให้เป็นสินค้ามูลค่าสูงของจังหวัดตรังและการขับเคลื่อน BCG โมเดลโดยใช้งบประมาณจากแผนงานโครงการและงบประมาณจากแผนพัฒนาจังหวัด เพื่อพัฒนาให้จังหวัดตรังเป็นแหล่งผลิตพริกไทยอินทรีย์หลักของประเทศไทย
  2. จังหวัดพัทลุง : สละ BCG MODEL สามารถลดต้นทุนการผลิตสละได้ร้อยละ 6 ผลผลิตได้รับมาตรฐาน GAP ร้อยละ 80 มูลค่าสินค้าสละเพิ่มขึ้นร้อยละ 5 พัฒนาผลิตภัณฑ์แปรรูปจากสละจำนวน 6 ชนิด การสร้างมูลค่าเพิ่มจากวัสดุเหลือใช้ร้อยละ 50
  3. จังหวัดยะลา : ทุเรียนสะเด็ดน้ำยะลา สู่มาตรฐานโลก” มุ่งเน้นการพัฒนาเกษตรกร โดยใช้กระบวนการโรงเรียนเกษตรกร เพื่อรวมกลุ่มแปลงใหญ่ทุเรียน และบริหารจัดการสวนภายใต้มาตรฐาน GAP
  4. จังหวัดสตูล : “กาแฟสตูล คุณภาพมูลค่าสูง” มุ่งพัฒนาความรู้ด้านการจัดการสวนกาแฟและการแปรรูปขั้นต้น สามารถถ่ายทอดความรู้สู่เกษตรกรข้างเคียงได้ แปลงกาแฟมีความพร้อมและสามารถขอรับรองตามมาตรฐาน GAP ส่งเสริมการรวมกลุ่มและพัฒนากลุ่มเกษตรกร กลุ่มวิสาหกิจชุมชนด้านการแปรรูป และให้ความรู้ด้านการตลาด
  5. จังหวัดสงขลา : กาแฟโรบัสต้า BCG MODEL ต้นทุนการผลิต 2,028 บาทต่อไร่ (ลดลงร้อยละ 50) ผลผลิตเฉลี่ย 120 กิโลกรัมต่อไร่ (เพิ่มขึ้นร้อยละ 28) เพิ่มพื้นที่ปลูกจาก 317 ไร่ เป็น 617 ไร่ เกษตรกรผู้ปลูกกาแฟจำนวน 336 คน เกิดการรวมกลุ่มและเครือข่ายการปลูกกาแฟ เกิดศูนย์เรียนรู้และเป็นแหล่งศึกษาดูงาน บูรณาการร่วมกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน เกิดศูนย์รวบรวมผลผลิตและเพิ่มประสิทธิภาพโดยการใช้เครื่องจักร เกิดมูลค่าเพิ่มจากผลิตภัณฑ์กาแฟเฉลี่ย 660,950 บาทต่อปี
  6. จังหวัดปัตตานี : การพัฒนาเครือข่ายธุรกิจคลัสเตอร์ผักมูลค่าสูงด้วย BCG MODEL เป้าหมายการพัฒนาคือหน่วยผลิตผักปลอดภัยผักยกแคร่จำนวน 1,431 หน่วยผลิต มีเป้ารายได้ 750 บาทต่อเดือนต่อหน่วยผลิต ดำเนินการโดยการปรับแนวทางการพัฒนาและเพิ่มศักยภาพให้แก่เกษตรกร โดยการวางแผนการจัดการด้านการผลิตการตลาดและเกิดจุดเรียนรู้ต้นแบบในพื้นที่และขยายผลสู่พื้นที่อื่น ปัจจุบันแบ่งผลการดำเนินงานจากเกณฑ์รายได้เป็น 3 ระดับคือ ระดับ A มีรายได้ไม่น้อยกว่า 750 บาท/เดือน/หน่วยการผลิต ระดับ B มีศักยภาพในการดำเนินงานให้บรรลุผลลัพธ์ต่อเดือนแต่ต้องปรับแผนการผลิต และระดับ C ไม่สามารถดำเนินการให้บรรลุผลลัพธ์ จากการดำเนินการพบว่า ไม่มีเกษตรกรที่อยู่ในกลุ่ม C เลย
  7. จังหวัดนราธิวาส : “ทุเรียนบางนรามูลค่าสูงภายใต้การส่งเสริมการเกษตรเชิงพื้นที่” พัฒนาคุณภาพทุเรียนอัตลักษณ์จังหวัดนราธิวาส ให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้นโดยเน้นการผลิตสินค้าพรีเมี่ยม และมีการแปรรูปในขั้นต้นและขั้นกลาง เพื่อสร้างแบรนด์สร้างทางเลือกให้แก่ผู้บริโภคภายใต้มาตรฐานสากล
  8. จังหวัดชุมพร : การส่งเสริมการเกษตรเชิงพื้นที่จังหวัดชุมพร สู่“ชุมพรมหานคร โรบัสต้า” จัดตั้งเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนกาแฟโรบัสต้าชุมพร เพิ่มมูลค่าสารกาแฟ พัฒนาคุณภาพสู่มาตรฐาน GAP ขยายผลโครงการยกระดับขีดความสามารถการผลิตแปรรูปและตลาดสินค้าเกษตรมีเกษตรกรสนใจปรับเปลี่ยนพื้นที่ปลูกไม่น้อยกว่า 100 ไร่ ตลอดจนการจัดตั้งบอร์ดกาแฟชุมพร
  9. จังหวัดระนอง : พัฒนาคุณภาพทุเรียน “ฝนแปด แดดสี่ทุเรียนดี มีคุณภาพด้วย BCG MODEL” จังหวัดระนอง พัฒนาคุณภาพทุเรียนอัตลักษณ์จังหวัดระนอง ภายใต้สัญลักษณ์ GI และพัฒนาคุณภาพทุเรียนแบบยั่งยืน เน้นการจัดการสวนด้วยชีววิธี
  10. จังหวัดสุราษฎร์ธานี : การขับเคลื่อนแปลงใหญ่ปาล์มน้ำมันสุราษฎร์ธานีสู่ต้นแบบเมืองปาล์มน้ำมันยั่งยืน จังหวัดสุราษฎร์ธานีสามารถยกระดับเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมันให้เป็นเกษตรกรผู้ปลูกตามน้ำมันแบบยั่งยืนผ่านมาตรฐาน RSPO
  11. จังหวัดพังงา : มังคุดทิพย์พังงาสู่สินค้าเกษตรมูลค่าสูงด้วย BCG MODEL จังหวัดพังงา ส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพมังคุดทิพย์พังงา โดยการสนับสนุนให้มีการรับรองมาตรฐาน GAP ได้มากกว่า 50 แปลงและมีการพัฒนาด้านการตลาดเพื่อรองรับฤดูการผลิต นอกจากนี้ยังมีการสร้างมูลค่าจากวัสดุเศษเหลือในการแปรรูปมังคุด เช่น ถ่านจากเปลือกมังคุด การแปรรูปผลิตภัณฑ์จากมังคุด สร้างมูลค่าเพิ่มโดยส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงเกษตร และการจัดทำแปลงต้นแบบในลักษณะแปลงใหญ่มังคุด จำนวน 7 แปลง
  12. จังหวัดกระบี่ : การขับเคลื่อนการผลิตทุเรียนทะเลหอย จังหวัดกระบี่ภายใต้การส่งเสริมการเกษตรเชิงพื้นที่ด้วย BCG MODEL ทุเรียนทะเลหอยของจังหวัดกระบี่ ได้รับการรับรองเป็นสินค้า GI กระบวนการผลิตได้รับการรับรองคุณภาพภายใต้มาตรฐาน GAP และสามารถนำผลผลิตเข้าสู่กระบวนการแปรรูปขั้นสูง เช่น ทุเรียนฟรีซดราย
  13. จังหวัดภูเก็ต : สินค้าเกษตรมูลค่าสูงสับปะรดภูเก็ตด้วย BCG MODEL พัฒนาผลผลิตสับปะรดให้มีคุณภาพและผลักดันสู่การรับรองเป็นสินค้า GI ผลผลิตได้รับการรับรองมาตรฐาน GAP และมีการจัดการวัสดุเศษเหลือจากกระบวนการผลิต มีการส่งเสริมความรู้ในการแปรรูปวัตถุดิบขั้นต้นและขั้นกลาง เช่น น้ำพริกสับปะรด สบู่สับปะรด น้ำสับปะรดคั้นสด และส่งเสริมการพัฒนาด้านการตลาด โดยการเพิ่มช่องทางการตลาด การเพิ่มจุดจำหน่ายในแหล่งท่องเที่ยว ร่วมมือกับสถาบันวิจัย เพื่อการแปรรูปขั้นสูงเชิงพาณิชย์ เช่น เวชสำอางจากสับปะรดและโลชั่นสับปะรด
  14. จังหวัดนครศรีธรรมราช : การขับเคลื่อนสินค้าเกษตรมูลค่าสูง (มังคุด)ด้วย BCG MODEL มุ่งเน้นในการพัฒนาการตลาดมังคุด โดยยกระดับกลุ่มเกษตรกรเป็นวิสาหกิจเริ่มต้น (Start up) มีการทำการตลาดเพื่อการประมูล เพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรที่ผลิตมังคุดคุณภาพ ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีในการแปรรูป การวิจัยและพัฒนา เช่นการผลิตน้ำมังคุด ไวน์มังคุด มังคุดอบแห้ง สร้างมูลค่าเพิ่มจากวัสดุเศษเหลือ เช่น การทำสารไล่แมลง ปุ๋ยหมัก

นอกจากนี้มีการวิจัยและพัฒนาเพื่อการสร้างมูลค่าเพิ่มจากการแปรรูปขั้นสูงในเชิงพาณิชย์ เช่น การผลิตเป็นเครื่องสำอาง สบู่ โลชั่น ยาสระผม การนำเปลือกมังคุดมาทำเป็นกล่องหรือภาชนะ และการส่งเสริมการทำการเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

กรมส่งเสริมการเกษตร ข่าว